Sunday, September 29, 2013

คู่มือมนุษย์ ( ๖ )

คู่มือมนุษย์ ( ๖ )
คนเรายึดถืออะไร ( เบญจขันธ์ )

          ที่ตั้งแห่งความยึดถือของอุปาทานคือโลก คำว่า " โลก " ในทางธรรมหมายถึง สิ่งทุกสิ่งที่มีอยู่ นับตั้งแต่พรหมจนถึงเปรตอสุรกาย พุทธศาสนาสอนวิธีดูโลกไว้หลายชั้น เช่นให้ดูด้วยการจำแนกโลกออกเป็นฝ่ายวัตถุเรียกว่า " รูปธรรม " กับฝ่ายจิตใจ เรียกว่า " นามธรรม " ส่วนที่เป็นนามธรรมยังแยกออกได้เป็น ๔ ส่วน รวมนามธรรม ๔ ส่วน กับรูปธรรม ๑ ส่วน รวมกันได้เป็น ๕ ส่วน เรียกว่า " เบญจขันธ์หรือขันธ์ห้า " แปลว่า ส่วนที่ประกอบกันขึ้นเป็นโลก คือเป็นสัตว์หรือเป็นคน การดูโลกหมายถึงดูคนโดยเฉพาะ

          นามธรรม ๔ ส่วน จำแนกออกได้ดังนี้

          ส่วนที่ ๑ เรียกว่า " เวทนา " หมายถึงความรู้สึก ๓ ประการ คือ สุข ทุกข์ และ ไม่สุขไม่ทุกข์ อันมีประจำอยู่ในคนเป็นปกติจึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ประกอบขึ้นเป็นคน

          ส่วนที่ ๒ เรียกว่า " สัญญา " แปลว่า รู้พร้อมเป็นความรู้สึกตัวเหมือนกำลังตื่นอยู่คือไม่หลับ ไม่สลบ ไม่ตาย หรือที่เรียกว่าสติสมปฤดี แต่โดยทั่วๆ ไปมักอธิบายกันว่า เป็นความจำเป็นได้หมายรู้ก็ถูกเหมือนกันเพราะหมายความว่ายังไม่เมา ไม่สลบ ไม่หลับ ไม่ตาย ดังกล่าวมาแล้ว

          ส่วนที่ ๓ เรียกว่า " สังขาร " มีหลายความหมาย สังขารที่เป็นส่วนหนึ่งของนามธรรมนี้แปลว่า " ปรุง " ได้แก่กิริยาแห่งการคิดหรือความคิด คำว่าสังขารในที่อื่นหมายถึงบุญกุศลที่ปรุงแต่งคนให้เกิดก็มี หมายถึงร่างกายหรือโครงร่างที่มีใจครองก็มี แต่มีความหมายตรงกันอยู่ว่า เป็นเครื่องปรุงแต่ง

          ส่วนที่ ๔ เรียกว่า " วิญญาณ " หมายถึงตัวจิตที่ทำหน้าที่รู้สึกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

          โลกในพุทธศาสนา ท่านจำแนกกันอย่างนี้ ผู้ต้องการเข้าใจโลกสมควรสนใจเรื่องขันธ์ห้าให้มากตามสมควร

           ขันธ์ห้า เป็นการยึดเกาะของอุปาทานสี่



          การยึดรูปล้วนๆ ว่าเป็นตัวตน เป็นอุปาทานชั้นต่ำที่สุด เช่นเด็กเล็กที่เซไปโดนประตูเจ็บ ต้องตีประตูเสียทีหนึ่ง จึงหายโกรธและหายเจ็บ สำหรับคนโตๆ ถ้ามีอุปาทานในร่างกาย เมื่อเกิดความไม่พอใจย่อมถึงกับทุบตีร่างกายตัวเองได้ การยึดดังนี้จะเรียกว่าเป็นการยึดรวมกลุ่มทั้ง ๕ ส่วน ว่าเป็นตัวตนก็ได้

          การยึดเวทนา ความรู้ที่เรียกว่าเวทนา มีทางที่จะถูกยึดป็นตัวตนได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ สุขเวทนา มีคนยึดถือกันมาก เนื่องจากอำนาจของอวิชชาหรืออุปาทานบังสิ่งอื่นเสียทำให้มองเห็นแต่ความอร่อยความถูกใจว่าเป็นความสุขแล้วยึดถือเป็นตัวตน

          สิ่งใดที่ตรงกับความต้องการ ก็รวบรวมเข้ามากอดรัดไว้ด้วยอุปาทาน ถ้าไม่ตรงกับความต้องการ ก็เกลียดชัง ผลักดันออกไปด้วยอุปาทานอีกเช่นกัน เป็นอันว่ารักก็รักด้วยอุปาทาน เกลียดก็เกลียดด้วยอุปาทาน ความรู้สึกชอบกับความรู้สึกชัง ตามความหมายทางธรรมถือว่าเป็นทุกข์เท่ากัน การได้กับการเสีย การดีใจกับการเสียใจเหล่านี้เป็นการทำให้จิตเหน็ดเหนื่อยเท่ากัน ทำให้เกิดความวนเวียนในความทุกข์เท่ากัน ทั้งหมดนั้นเรียกว่ายึดถือเวทนาเป็นตัวตน เมื่ีอพิจารณาเห็นการยึดถือเวทนาเป็นตัวตนจนเข้าใจถูกต้อง ก็จะเป็นหนทางทำจิตให้เป็นอิสระจากเวทนา ทางปฏิบัติเพื่อบรรลุพระอรหันต์ที่สอนให้พิจารณาเรื่องเวทนาโดยเฉพาะก็มีอยู่มาก และผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะกำหนดเวทนาเป็นวัตถุสำหรับการพิจารณาก็มีมาก

          สุขเวทนาเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือได้ง่ายกว่าสิ่งใดๆ หมด เพราะมันเป็นความมุ่งหมายของสิ่งที่ทุกคนพากเพียรทำ ถ้าไม่ทำเพราะอำนาจของสุขเวทนา คงจะไม่มีการลงทุนเรียนลงทุนทำการงาน จึงเห็นได้ว่าเรื่องเวทนาไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ถ้าสามารถควบคุมมันได้จะทำให้จิตใจสูงสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ดีกว่าธรรมดาแม้ความยุ่งยากต่างๆ ของสังคม เช่นการกระทบกระทั่งกันระหว่างประเทศ ระหว่างครึ่งโลก ตลอดจนการกระทำสงครามกันก็ล้วนมีมูลมาจากสุขเวทนานี้ทั้งสิ้น ฉะนั้น การรู้จักเวทนา ก็คือการรู้จักมูลเหตุอันสำคัญที่ทำให้คนเราตกเป็นทาสของกิเลสหรือความทุกข์

          เทวดาก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของสุขเวทนาอย่างเดียวกับมนุษย์ แตกต่างกันแต่เป็นเรื่องที่ดีกว่า ประณีตกว่า ได้อย่างอกอย่างใจกว่าเท่านั้น เพราะอยู่ในขอบเขตของความอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อสูงไปถึงพรหมก็ยังติดอยู่ในความอร่อยความสุขใจของฌานหรือสมาธิ แม้จะไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ก็ยังจัดเป็นเวทนา สำหรับสัตว์ที่ต่ำกว่ามนุษย์ย่อมตกอยู่ใต้อำนาจของเวทนาอย่างไม่เป็นระเบียบ ยิ่งกว่ามนุษย์ลงไปอีกมาก ฉะนั้นการรู้เรื่องเวทนาว่าไม่เป็นตัวตนของเราเลย ไม่ควรยึดถือ จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์จริงๆ

          การยึดสัญญา หรือสมปฤดี สัญญาก็มีทางที่จะยึดว่าเป็นตัวตนของเราได้ง่ายเหมือนกัน การที่เชื่อว่าเวลาหลับ มีเจตภูตหรืออะไรก็สุดแท้ออกไปจากตัวทำให้ร่างกายเป็นเหมือนท่อนไม้ จึงเป็นเหตุให้ยึดถือสัญญาหรือสมปฤดีว่าเป็นตัวตนได้มากขึ้น พุทธศาสนาไม่ยอมรับว่าสัญญาเป็นตัวตน เพราะสัญญาเป็นเพียงสติสมปฤดี หรือความรู้สึกจำได้หมายรู้ ที่สืบเนื่องมาจากการปรุงแต่งตามธรรมชาติในคนคนหนึ่งเท่านั้นถ้าระเบียบแห่งการปรุงแต่งเสียไป สัญญาก็เป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ทันทีจึงไม่เรียกว่าตัวตน

          การยึดสังขาร ได้แก่การยึดความคิดหรือผู้คิดว่าเป็นตัวตน ดังคำของนักปรัชญายุคปัจุบันคนหนึ่งมีว่า " ข้าพเจ้าคิด ข้าพเจ้าจึงมีอยู่ " พุทธศาสนาปฏิเสธความคิดหรือตัวจิตที่คิดว่าไม่ใช่ตัวตน เพราะกิริยาที่คิดนั้นเป็นผลของการปรุง คือของหลายๆ อย่างมาปรุงเข้ากัน เป็นการปรุงของธาตุหลายอย่างรวมทั้งวัตถุและนามธาตุแล้วความคิดจึงเกิดขึ้น ข้อนี้จึงทำให้เห็นชัดว่าสังขารหรือความคิด ไม่ใช่ตัวตน

          การยึดวิญญาณ มีคนบางพวกถือว่าอาการที่เกิดความรู้แจ้งในรูปเป็นต้น ตามวิถีของสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณในพุทธศาสนาว่าเป็นเจตภูต เป็นตัววิญญาณของตน แล่นจากใจมารับอารมณ์ทางตาเป็นต้นแล้วยึดถือเอาเป็นตัวตน แต่ตามหลักพุทธศาสนาถือว่าธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้นเอง ก็จะมีการเห็นเกิดขึ้นสำเร็จเป็นการเห็นด้วยตา เรียกว่า จักษุวิญญาณ เป็นต้น ตามชื่อของประสาทที่ตั้งแห่งการกระทบโดยไม่ต้องมีตัวตนที่ไหนอีก

          เมื่อได้แยกดูทีละส่วนๆ ทั้ง ๕ ส่วน จนเห็นว่าไม่มีส่วนไหนที่เป็นตัวตนดังนี้แล้ว ก็จะถอนความเข้าใจผิดว่า เป็นตัวตนในสิ่งทั้งปวงเสียได้ การรู้จักส่วนทั้ง ๕ ส่วนนี้ คือการรู้จักโลกทั้งหมดว่าไม่ใช่ตัวตนของใครการรู้จักหมายถึงการรู้แจ้งชนิดที่อาจถอนความยึดถือว่าเป็นตัวตนเสียได้ คือไม่เกิดความรักหรือความชังในสิ่งทั้งหลาย เพียงแต่การคิดเอาตามเหตุผลหาถอนตัวตนได้ไม่ โดยเหตุนี้ จึงต้องศึกษาพิจารณาตามหลักสิกขาสามประการ จึงจะถอนการยึดถือเป็นตัวตนในสิ่งทั้งปวงได้ ฉะนั้น หน้าที่สำคัญพึงปฏิบัติในเรื่องเบญจขันธ์อยู่ที่การทำความรู้แจ้งตามเป็นจริงที่เกิดขึ้น เมื่อรู้แจ้งก็จะเห็นเองว่า ไม่มีส่วนไหนที่เป็นตัวตนที่หลงใหลยึดถือ แล้วอุปาทานการยึดถือก็แตกสลายลงเอง ตัณหาทุกชนิดไม่มาทางเกิด ความทุกข์ก็ไม่มี

          การที่ตามปกติเรามองส่วน ๕ ส่วนนี้ไม่ออกตามที่เป็นจริง เพราะได้รับการสั่งสอนอบรมให้เข้าใจว่า ทุกสิ่งเป็นตัวตนมาแต่แรกเกิด ทำให้อัตตวาทุปาทาน คือการยึดถือว่าตัวตนอันเป็นสัญชาตญาณดั้งเดิม พอกหน้ายิ่งขึ้นทุกวัน เมื่อยึดถือว่าตัวตน ก็เกิดการเห็นแก่ตัว แล้วมีการประกอบกิจเพื่อประโยชน์ของตัวเป็นการเพิ่มความยึดถือตัวตนหนักขึ้น ถ้าเกิดความฉลาดจนมองเห็นว่านี่เป็นเพียงของหลอกๆ ก็จะหมดความยึดถือว่า เป็น นาย ก. นาย ข. เป็นขุน หลวง พระ พระยา เป็นสัตว์ เป็นมนุษย์หรือเป็นเทวดา โดยเห็นว่าเป็นเรื่องที่คนเขาสมมติขึ้นพูดกันในสังคมเท่านั้น ถ้าเข้าใจเรื่องสมมติอย่างนี้ ก็นับว่าเป็นการเพิกถอนสิ่งหลอกลวงของสังคมได้ชั้นหนึ่ง

          เมื่อเราพิจารณาดูร่างกายทั้งหมดของนาย ก. จะพบว่าเป็นที่รวมของ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ การเห็นอย่างนี้เรียกว่า เห็นอย่างบัญญัติ เป็นการฉลาดขึ้นมาหน่อยคือไม่หลงในสมมติ ถ้าจะแยกบัญญัติให้ละเอียดออกไปอีกก็ได้ เช่น รูปกายแยกเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ หรือจะแยกเป็นธาตุคาร์บอน อ๊อกซิเจน ไฮโดรเจน หรืออะไรก็ได้ อย่างนี้เรียกว่าเห็นลึกเข้าไปอีกชั้นหนึ่งกลายเป็นเห็นว่า คนไม่มี มีอยู่แต่ธาตุ ร่างกายเป็นรูปธาตุ ส่วนที่เป็นจิตก็เป็นนามธาตุ เมื่อเป็นดังนี้ความรู้สึกว่าคนหรืออะไรที่เป็นสิ่งสมมติก็หายไปเพราะอำนาจของการเข้าถึงบัญญัติ

          เมื่อดูในแง่ปรมัตถ์ ที่ลึกลงไปอีก จะปรากฎว่าแม้ธาตุต่างๆ ดังกล่าวนั้นล้วนมีลักษณ์แห่ง " ความว่าง " เรียกว่า " สุญญตา " แปลว่า ความเป็นของว่าง หมายถึงความว่างจากตัวตน ความว่างชนิดนี้มีอยู่ในทุกสิ่ง ผู้ใดเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ในลัษณะที่เป็นของว่าง ดังนี้แล้ว ความยึดถือหรืออุปาทานย่อมไม่มีทางที่จะเกิดได้ที่เกิดแล้วก็ไม่มีทางที่จะเหลืออยู่ได้ มันจะสูญหายละลายไปหมด ปราศจากอุปาทานโดยสิ้นเชิง ไม่มีสัตว์ ไม่มีคน ไม่มีธาตุ ไม่มีขันธ์ ไม่มีอายตนะ ไม่มีอะไรทั้งหมด นี่แหละเป็นความว่างจากการยึดถือตัวตนจนสิ้นเชิง จนกระทั่งความทุกข์ไม่มีที่เกิดและเกิดไม่ได้ สิ่งต่างๆ จะอยู่ในลักษณะที่อำนวยความผาสุกให้ เป็นผู้มีจิตใจอยู่เหนือสิ่งทั้งปวงไปจนตลอดชีวิต นี้แลเป็นผลของการรู้แจ้งแทงตลอดในเรื่องเบญจขันธ์





By คู่มือมนุษย์ ( ฉบับย่อ )

No comments:

Post a Comment