ครั้งหนึ่ง หยางจื่อ นักปรัชญามีชื่อในระยะต้นของสมัยจ้านกว๋อ ( ๔๗๕-๒๑๑ ปีก่อนคริสตกาล ) เดินทางไปรัฐซ่ง ค่ำวันหนึ่งขณะที่เขาพักแรมอยู่ในโรงเตี้ยมนั้นเขาสังเกตเห็นว่าโรงเตี้ยมมีหญิงสาวอยู่สองคน คนหนึ่งรูปโฉมสวยสำอางค์ ส่วนอีกคนหนึ่งรูปร่างขี้เหร่ แต่คนทั้งหลายในโรงเตี้ยมกลับนิยมชมชอบและแสดงท่าทีให้ความยกย่องแก่สาวที่รูปร่างขี้เหร่และมองหญิงสาวที่รูปร่างสวยงามด้วยสายตาที่ดูหมิ่นและเหยียดๆ
หยางจื่อสังเกตเห็นเช่นนั้น รู้สึกแปลกใจจึงถามคนที่ทำงานในโรงเตี้ยมว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นชายที่ทำงานในโรงเตี้ยมได้กระซิบบอกเขาว่า " สาวที่รูปร่างสวยงามนั้นคิดว่าตนเองสวย แต่ข้าพเจ้ากลับไม่รู้สึกว่าเธอสวยที่ตรงไหน ส่วนคนที่รูปร่างขี้เหร่นั้น เธอรู้ว่าตัวเองไม่สวย แต่ข้าพเจ้ากลับไม่รู้สึกว่าเธอไม่สวยตรงไหน "
หยางจื่อฟังแล้วนิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่งจึงพูดขึ้นว่า " ข้าพเจ้าเข้าใจแล้วผู้ที่ทำความดีแล้วไม่ถือว่าตนทำความดี คนชนิดนี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนย่อมเป็นที่ต้อนรับของคนทั้งหลาย "
บันทึกใน " จวงจื่อ "
มุมมองปรัชญา
เรื่องข้างต้นนี้ดูค่อนข้างจะเป็นเรื่องขบขัน แต่ก็แฝงความหมายอันลึกซึ้งไว้ในนั้น คนเราถึงจะมีความสามารถมากมายเพียงใดก็ตาม ถ้าเย่อหยิ่งทะนงตนข้ามคนอื่นๆ แล้ว ตัวเขาเองกลับจะถูกคนหยาม ส่วนคนที่มีความสามารถไม่มาก แต่ถ่อมตัวสัมพันธ์กับคนทั่วไปดี ย่อมจะได้รับความนับถือ คนที่มีความรู้ความสามารถ แต่กลัวคนอื่นจะไม่รู้ว่าเขาเป็นคนเก่ง จึงชอบอวดตัวหรือทำอะไรหน่อยก็ต้องการให้คนอื่นยกย่องนั้น โดยความเป็นจริงแล้วเขาไม่เข้าใจวิภาษวิธีในการดำรงชีวิตของคนเรา
By ปรัชญาชีวิตใน สุภาษิตจีน
No comments:
Post a Comment