Sunday, January 04, 2015

สังคมอุดมการณ์




สังคมอุดมการณ์

          หลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมา มนุษยชาติเราล้วนมีความใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีงาม นักสู้ผู้กล้ามากมายที่อุทิศชีวิตทั้งชีวิต เพื่อสร้างสรรค์สังคมอุดมการณ์ เราต่างรังเกียจการกดขี่ขูดรีด รังเกียจการข่มเหงเบียดเบียนบีฑา แบ่งแยกชนชั้นวรรณะ ผู้คนส่วนน้อยเสพสุข ไร้สาระบนความทุกข์ยากของคนส่วนใหญ่ แม้แต่พระเจ้าก็ยังทนดูไม่ได้ สามพันปีที่แล้ว พระเจ้าสั่งให้โมเสสพาคนอิสราเอลฝ่าข้ามทะเลแดงหนีออกมาจากกดขี่ปกครองของอียิปต์ มุ่งหน้าไปสู่แผ่นดินคานาอันที่พระเจ้าทรงสัญญาว่า จะเป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วย น้ำนมและน้ำผึ้ง ที่ไหลนองไปทั่วแผ่นดิน แม้จะต้องเสี่ยงตายเพราะกองทัพอียิปต์ไล่ล่ามาอย่างกระชั้นชิด ถึงจะมีเพียงแค่สองมือเปล่า แต่ทุกคนก็จิตหนึ่งใจเดียวที่จะไปให้ถึงแผ่นดินคานาอัน

          ในหมู่คนที่นับถือศาสนาคริสต์ เชื่อกันว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลกทรงเป็นเจ้าของทุกสรรพสิ่ง บนโลกใบนี้ เราเป็นแต่เพียงผู้อารักขา พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้มี " ตะลันต์ " ( Talent ) ที่แตกต่างกันเพื่อให้ขับเคลื่อนสังคมให้ดำรงอยู่ได้ มีหมอ มีวิศวกร แล้วต้องมีกรรมกร ชาวนา มนุษย์ต่างกันที่การทำหน้าที่ มิใช่ชาติตระกูล ชนชั้น วรรณะ พระเจ้ามุ่งหมายให้มนุษย์ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน คนที่รู้มากกว่า แข็งแรงกว่าช่วยเหลือคนที่อ่อนแอกว่า โลกนี้จึงจะสงบสันติสุข เราทุกคนต่างดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยกำลังการผลิตของคนทั้งสังคม ลองพิจารณาจากข้าวหนึ่งจานตรงหน้าเรา ต้องมีชาวนาปลูกข้าว มีกรรมกรสร้างถนน มีผู้คนมากมายในระบบตลาด เสื้อผ้าที่เราสวมใส่ ต้องมีคนปลูกฝ้าย มีคนทอผ้า ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ นานา ผ่านมือผู้คนทั้งสังคม ทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเป็นการร่วมมือกัน อย่างสร้างสรรค์ของพระเจ้า และมวลมนุษยชาติ มนุษย์ทำหน้าที่หว่านเมล็ดข้าวลงนา แต่พระเจ้าทำให้พืชพันธ์ทั้งหลายเจริญเติบโต ทรงสร้างแร่ธาตุต่างๆ เช่น เหล็ก ทองแดง ดีบุก ให้เราขุดค้นขึ้นมาใช้ ฉะนั้นผลผลิตทั้งหลาย จึงมิใช่สิทธิของผู้หนึ่งผู้ใด ที่จะครอบครอง การถือสิทธิ์ครอบครองอย่างไม่ชอบธรรมแบบนี้ จึงเป็นการฉ้อโกงพระเจ้า เราจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าผู้ยิ่งใหญ่คนไหนในประวัติศาสตร์ ไม่เคยมีใครที่ผลักดันสังคมได้ขนาดนี้ และไม่เคยมีวงศ์ตระกูลไหนเลย ที่สามารถครอบครองสมบัติของแผ่นดินนี้ได้อย่างถาวร ชั่วลูก ชั่วหลาน ชั่วนิรันดร

          นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ของเรา พระสมณโคดม ท่านก็ทรงเล็งเห็นถึงความจริงข้อนี้ ท่านถือกำเนิดในสังคมอินเดียแต่โบราณ ที่มีการยึดมั่นกับความเชื่อ เรื่องการแบ่งชั้น วรรณะ ตามหลักศาสนาประจำชาติอย่างหนักแน่นมั่นคง เมื่อทรงตรัสรู้ธรรม และ รู้ถึงความเป็นไปของโ,กอย่างแจ่มแจ้ง จึงทรงปฏิเสธโครงสร้างของสังคมแบบนั้น และสร้างชุมชนของพระองค์ขึ้นมาใหม่ โดยมีหลักการดังนี้


          ๑. ผู้ที่จะเข้ามาร่วมชุมชนของพระองค์ ต้องเป็นผู้ที่พร้อมจะสละทรัพย์สิน สมบัติบนแผ่นดินโลก มาแสวงหาอริยทรัพย์แทนสงฆ์สาวกของพระศาสดา คือเหล่าผู้ที่ฝึกฝนตนเอง จนรู้แจ้ง เป็นพระอริยะบุคคล ส่วนภิกษุโดยทั่วไปนั้นเป็นสมมติสงฆ์ ที่ยังต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตนเอง โดยไม่ไปเสียเวลากับการแสวงหา ลาภ ยศ เงินทอง อีกต่อไป

          ๒. ภิกษุเมื่อสละ ละบ้านเรือน และทรัพย์สินทางโลกแล้วก็ดำรงชีวิตด้วยการขอทานข้าวปลา อาหาร จากชาวบ้าน เพื่อให้สละละอัตตาตัวตน และเพื่อให้ภิกษุสงฆ์ได้เรียนรู้ว่า ไม่มีใครเลยที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเองเพียงคนเดียว ฉะนั้น จึงต้องหาทางตอบแทน ทำประโยชน์ให้ชาวบ้านด้วย ถึงพร้อมทั้งการทำประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน การจำกัดของใช้ส่วนตัวของสงฆ์มีแค่ ๘ อย่างที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ก็เพื่อการไม่ครอบครอง เบียดเบียน และไม่ต้องการเป็นภาระของชาวบ้าน ที่จะต้องมาดูแลเกินความจำเป็น

         ๓. ทรัพย์สิน ข้าวของ เงินทองทั้งหลาย ที่มีผู้ถวาย ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ต้องตกเป็นของส่วนกลาง ใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวมให้มากที่สุด แล้วแบ่งปันให้ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ ไม่สะสม ไม่ครอบครอง ถึงพุทธศาสนาจะถูกบิดเบือนไปอย่างไร ร่องรอยเหล่านี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่ เช่นสังฆทาน กฐิน ก็ยังมีหลักการว่า ต้องถวายเพื่อวัดวาอารามโดยส่วนรวม จะถวายโดยเจาะจงตัวบุคคลไม่ได้

          ๔. ภิกษุถืออาวุโสจากอายุพรรษาที่ถือบวช เคารพนบไหว้กัน โดยไม่สนใจชนชั้น วรรณะ และความเป็นมาแต่หนหลัง ชุมชนของสังฆะของพระพุทธองค์ จึงเป็นสังคมอุดมการณ์แห่งแรกๆ ของโลก ที่ทำลายชนชั้น และการกดขี่ เบียดเบียน บีฑา ถึงแม้ว่าจะผ่านวันเวลามาเนิ่นนาน เนื้อหาสาระที่สำคัญนี้ ก็ยังมีให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้

          นอกจากชุมชนสังฆะของพระองค์ ที่เป็นชุมชนที่มีจุดมุ่งหมายให้ผู้คนได้เรียนรู้ พัฒนาและขัดเกลาตนเอง ยังได้มีพุทธทำนายถึงสังคมอุดมการณ์ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกห้าพันปีหลังยุคของพระองค์พร้อมพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ ที่ทรงพระนามว่า " พระศรีอารยะเมตไตรย์ " ทรงอธิบายว่า เป็นสังคมที่ผู้ร่วมในชุมชนต้องพยายามลด ละ เลิก ใช้สิ่งของต่างๆ ตามความจำเป็น นอกจากเพื่อประโยชน์ตนแล้ว ยังเพื่อประโยชน์ท่าน เพื่อการไม่เบียดเบียนและแบ่งปัน แต่ในสังคมยุคพระศรีอารยเมตไตรย์นี้ ทรงเปรียบเทียบว่า เหมือนมีต้นกัลปพฤกษ์ขึ้นอยู่สี่มุมเมือง ใครอยากได้อะไรไปอธิษฐานขอเอา คือ ทุกคนใช้ตามความต้องการ เมื่อเจริญทางด้านจิตใจแล้ว ละโลภ โกรธ หลงได้แล้วสังคมอุดมการณ์ที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้น และดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงสถาพร

          สำหรับพวกเรา ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่ใฝ่ฝันถึงสังคมอุดมการณ์ตามหลักการณ์ของลัทธิมาร์กซ์ - เลนินนั้น จะเห็นได้ว่าหลักการพื้นฐานของความใฝ่ฝันนี้ เป็นเรื่องเดียวกัน สังคมนิยม คือชุมชนสังฆะของสงฆ์และสังคมคอมมิวนิสต์คือ สังคมศรีอารยะเมตไตรย์ ส่วนวัตถุนิยมวิภาษวิธี ที่ใช้เป็นหลักในการวิเคราะห์สังคมนิยม ก็มาจากหลักหยิน - หยางของฝ่ายลัทธิเต๋า และมีพูดถึงบ้างประปรายในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เฮเกลส์นั้นว่ากันว่าสนใจพุทธศาสนา เมื่อพัฒนามาจนเป็นทฤษฎีมาร์กซิสต์ ศาสนาถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครอง ที่กล่อมเกลา มอมเมาผู้ถูกกดขี่ให้ยอมจำนน ซึ่งน่าเสียดายมากที่นักสู้ผู้กล้าทั้งหลาย พลาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้อะไรมากมาย เป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์มาก ที่คนหนึ่งที่ถือกำเนิดมาเมื่อสองพันห้าร้อยปีก่อน กลับมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล มองเห็นปัญหาของสังคมอย่างทะลุปรุโปร่ง และมองเห็นด้วยว่า สังคมที่ควรจะเป็นนั้นเป็นอย่างไร และได้ลงมือสร้างชุมชนเล็กๆ ของพระองค์ขึ้น เป็นต้นแบบให้ผู้คนทั้งหลายได้ศึกษาพระองค์มองเห็นขนาดว่า สังคมอุดมการณ์นั้นจะเป็นจริงได้เมื่อมนุษยชาติ ผ่านการเรียนรู้ร่วมกันทั้งสังคมว่า ต้องละโลภ โกรธ หลง เสียก่อนแล้วอยู่ร่วมกันอย่างช่วยเหลือเกื้อกูล สังคมจึงจะดำรงอยู่ได้ต้องผ่านวันเวลา และความทุกข์ยากมากมาย กว่าจะได้เรียนรู้ว่า ความโลภ ความทะยานอยาก และการเอารัดเอาเปรียบกัน มีแต่จะนำไปสู่ทางหายนะอย่างที่เราก็เห็นกันอยู่ว่า สังคมเลวร้ายลงทุกวัน แม้แต่ในประเทศที่ปฏิวัติสังคมนิยมแล้ว ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างชาติตามแนวทางสังคมนิยม ต้องกลับมาเอาความโลภของคนเป็นเหยื่อล่อให้ทำการผลิต การกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ ก็ยังไม่หมดไป

          ในสังคมที่นักรบผู้กล้าทั้งหลายอุทิศชีวิต ทุ่มเทเสียสละให้อย่างน่าเคารพนับถือ ขอคารวะท่านทั้งหลายเหล่านั้นที่เป็นผู้เกิดก่อนกาลเวลาและได้ลงมือทำตามความฝันของตนเอง แม้ว่าจะไม่เป็นจริงทั้งหมดก็ตาม

          เมื่อมวลชนทั้งหลายไม่พร้อมที่เดินไปบนเส้นทางของสังคมนิยม การช่วงชิงอำนาจรัฐก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าเราจริงใจต่ออุดมการณ์โดยไม่มีการแสวงหาลาภยศสรรเสริญแอบแฝง สิ่งที่ควรจะพิจารณาเป็นอย่างยิ่งว่า ในภาวการณ์เช่นนี้เราจะทำอะไรกันดีปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองก็ดูหนักหนาสาหัส กลุ่มเกษตรกร กลุ่มแรงงาน ทั้งคน ทั้งสัตว์ ป่าไม้ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ล้วนถูกกระทำย่ำยี เบียดเบียน ทำลาย ด้วยความโลภของคนเพียงหยิบมือก่อนหน้านี้เราเคยมีคำตอบว่า ต้องยึดอำนาจรัฐด้วยกระบอกปืน กวาดล้างนายทุน ขุนศึก ศักดินา แต่ตอนนี้คำตอบน่าจะชัดเจนว่าไม่ใช่หนทางอีกต่อไป ถ้าความรับรู้ และความอ่อนแอทางความคิดของผู้คนยังเป็นอย่างนี้อยู่ ขนาดพระเจ้าส่งโมเสสไปช่วยคนอิสราเอลสุดท้ายก็ต้องปิดทาง ไม่ให้เข้าถึงแผ่นดินคานาอัน เพียงแค่พ้นจากเงื้อมมือของอียิปต์ คนยิวก็สำเริงสำราญ กระทำตนผิดศีลทุกข้อ เสพสุข สนุกสนานสุดเหวี่ยง พระเจ้าประทานมานาให้่ ( มานาคืออาหาร ) ไม่ต้องทำการผลิตก็มีกิน แล้วใครจะมานั่งหลังขดหลังแข็งทำงาน แต่ความทุกข์ยากนั้นก็มีอยู่จริง เราคงทอดทิ้งดูดายไม่ได้ คงต้องช่วยเหลือกันไปตามกำลังของคนเล็กๆ อย่างเรา

          ภารกิจสุดท้ายที่คนรุ่นเราน่าจะให้ความสำคัญอย่างยิ่ง คือแสวงหาอีกครึ่งหนึ่งของชีวิตที่หายไป ลองดูว่าเราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากกายที่อยู่กับเรามาตลอดชีวิต แต่เราไม่เคยรู้ว่า นั่นคืออาจารย์ที่เลิศที่สุด เราไม่เคยรู้ว่า ปัญญาต่างจากความคิดอย่างไร จิตที่เป็นพุทธะ รู้ตื่น เบิกบาน ที่มีอยู่ในตัวเราทุกคนนั้นมีจริงหรือไม่ แล้วจะแสวงหาได้อย่างไร ในไบเบิ้ลโมเสสบันทึกไว้ว่า พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์จากพระฉายของพระองค์ และทรงสร้างให้มนุษย์เป็นพระสหาย ให้มีความสุขบนสวรรค์ที่ทรงสร้างไว้นี้ เราทุกคนจึงมีศักยภาพอย่างสูงสุด ทั้งกายและใจ พระพุทธเจ้าทรงเห็นวิถีแห่งเต๋าโบราณ ท่านถึงสอนเราว่า อย่ามัวเสียเวลาอยู่กับกิเลสหยาบๆ เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ ความสุขทางเพศ ฯลฯ มีอย่างอื่นที่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจ และยังเข้าไม่ถึง แต่มีคุณค่ามากกว่ากิเลสหยาบๆ พวกนั้น ให้เราเป็นเสมือนลูกแกะ ที่แสวงหาหนทาง ( เต๋า ) กลับไปคืนดีกับพระเจ้า วิถีแห่งเต๋านี้ก็อยู่ในใจเรานั่นแหละ เราแสวงหาออกนอกตัวมาตลอดชีวิต ทำอะไรมาเยอะแยะมากมาย การแสวงหาครั้งสำคัญนี้ ก็ไม่เกินสติปัญญาของเหล่าสหายเราแน่นอน





By วนา  วนวัน

No comments:

Post a Comment