Friday, January 30, 2015
ที่มาของการตอบสนอง
ที่มาของการตอบสนอง
นิทานเรื่องหนึ่งมีอยู่ว่า มีเด็กน้อยคนหนึ่งปีนขึ้นไปบนภูเขาสูงแล้วร้องตะโกนลงมากลางหุบเขาว่า " ฉันเกลียดเธอ " เพราะต้องการระบายความทุกข์ที่อัดอั้นอยู่ในใจ แต่ผลปรากฏว่ามีเสียงสะท้อนมาจากภูเขาต่างๆ รอบข้างว่า " ฉันเกลียดเธอ " ทำให้เด็กน้อยตกใจร้องไห้วิ่งกลับบ้านไปบอกแม่ แม่ของเด็กน้อยนั้นก็ลูบหัวปลอบใจ แล้วก็จูงมือเด็กน้อยกลับไปที่ภูเขาลูกเดิม แม่ของเด็กน้อยก็บอกลูกว่า ให้ลูกพูดคำว่า " ฉันรักเธอ " เด็กน้อยทำตามที่แม่บอก แล้วกยิ้มออกมาได้ทั้งที่น้ำตายังไม่ทันแห้ง เพราะเด็กน้อยได้ยินเสียงสะท้อนกลับมาจากภูเขารอบข้างว่า " ฉันรักเธอ "
เสียงสะท้อนจากหุบเขาก็คือการตอบสนองนั่นเอง เวลาที่เราตีระฆังก็ดัง เวลาที่เราตีกลองกลองก็มีเสียง หรือการที่ลูกเต่าพยายามออกจากเปลือกไข่หรือตัวเพลี้ยที่ชอบกัดกินข้าวโพดจนกลายเป็นกาฝากที่เป็นภัย นี่ก็เป็นการตอบสนองเช่นกัน แก๊สพิษที่รั่วไหลทำให้คนตายได้ก็เป็นการตอบสนองที่มีต้นเหตุ
การตอบสนองนี้เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของสรรพสิ่งในโลกและจักรวาลซึ่งทำปฏิกิริยากัน เป็นเหตุให้เราเห็นสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างออกไป เช่นพระจันทร์บางครั้งก็เต็มดวงบางครั้งก็ครึ่งเสี้ยว เป็นไปตามฤดูกาล และการที่เราเห็นดอกไม้บานแล้วโรยรา เราจะสัมผัสถึงงความไม่เที่ยงที่เป็นอนิจจังของโลก สัมผัสนี้ก็เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของการเห็น แม้กระทั่งสายสัมพันธ์ของลูกและแม่ที่ห่วงหาอาทรนั้นก็เป็นปฏิกิริยาตอบสนองเช่นกัน
การตอบสนองนี้ก็เป็นวิถีแห่งปัจจัยอย่างหนึ่ง เพราะการตอบสนองนั้นก็ยังต้องอยู่ในเกณฑ์ของเหตุปัจจัย อย่างเช่นว่า น้ำที่ขุ่นจะส่องสะท้อนให้เห็นภาพได้อย่างไร ? ถ้าไม่มีโพรงจะทำให้เกิดเสียงสะท้อนได้อย่างไร ? มนุษย์ถ้าปราศจากจิตใจอันบริสุทธิ์และอ่อนโยนจะสัมผัสและเข้าถึงสัจธรรมได้อย่างไร ? จะสัมผัสในพระเมตตาของพระโพธิสัตว์ได้อย่างไร ? " อันว่าพระโพธิสัตว์เย็นใจใสสะอาดดังจันทร จึงโคจรเป็นอิสระในห้วงนภา หากใจของเวไนยผ่องใสนา ดวงจันทราแห่งโพธิปรากฏเอย "
ในชีวิตประจำวันนั้น คำพูดเพียงคำเดียวก็สามารถทำให้ผู้อื่นยินดีปรีดาและคำพูดเพียงคำเดียวก็สามารถทำให้ผู้อื่นทุกข์ระทมได้เช่นกัน ในประวัติศาสตร์จีนมีตัวอย่างมากมายเช่นว่า หากสรรเสริญฮ่องเต้ว่า ขอจงทรงพระเจริญหมื่นๆ ปี ก็จะได้รางวัลตอบแทน แต่ถ้าต่อว่าฮ่องเต้ว่าเป็นทรราชก็อาจจะต้องเสี่ยงถูกประหารชีวิตได้ เรื่องเหล่านี้ต่างก็ล้วนแล้วมีเหตุต้นผลกรรม เป็นไปตามธรรมดาของโลกนั่นเอง
มักจะมีคนถามเสมอว่า ทำไมการบริกรรมคาถา การสวดมนต์ การอุทิศบุญโปรดวิญญาณ จึงมีผลตอบสนองที่คาดไม่ถึง ? อันว่าเมื่อมีความศรัทธาจริงใจก็จะบังเกิดความศักดิ์สิทธิ์ ก็เป็นเหตุผลเดียวกันนั่นเอง
นิทานเซนเรื่องหนึ่งเล่าว่า มีอาจารย์เซนอยู่รูปหนึ่งกำลังอธิบายถึงอานิสงฆ์ของการบริกรรมพระนามของพระอมิตาภะ ในขณะที่บรรยายนั้นก็มีคนหนึ่งมีท่าทางไม่เชื่อในสิ่งที่อาจารย์พูด จึงลุกขึ้นถามอาจารย์ว่าคำว่าอมิตาพุทธเพียงสี่พยางค์จะมีอิทธิฤทธิ์จริงอย่างนั้นหรือ ? แต่อาจารย์ไม่ตอบคำถามของคนหนุ่ม แต่กลับตะโกนด่าว่า " ไอ้เบื้อก " เมื่อคนหนุ่มได้ยินดังนั้นจึงโกรธมาก แล้ววิ่งเข้าไปตะคอกใส่อาจารย์ว่า ท่านด่าคนทำไม ? แต่อาจารย์กลับหัวเราะร่าแล้วพูดว่า คำว่า " ไอ้เบื้อก " เพียงสองพยางค์ก็ทำให้เจ้ามีพละกำลังขนาดนี้ แล้วคำว่า " อมิตาพุทธ " ตั้งสี่พยางค์จะไม่มีอิทธิฤทธิ์ได้อย่างไร ?
ซึ่งความจริงแล้ว " ขอเพียงมีใจก็จะมีผลตอบสนอง " ไม่ว่าในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำดับกระหายได้ อาหารช่วยให้คลายหิวได้ ฉะนั้นขอเพียงเราตั้งใจ ไฉนเลยจะไม่ได้รับการตอบสนอง
By เซนส่องทาง
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment