Friday, January 30, 2015

ข้ามแม่น้ำต้องคำนับสะพาน


ข้ามแม่น้ำต้องคำนับสะพาน

          ในภาษิตจีนมีอยู่ว่า " ข้ามพ้นแม่น้ำต้องรื้อสะพาน " ซึ่งความหมายว่า ในยามที่ต้องการให้ช่วยก็จะไปไหว้วานเขา แต่เมื่อเขาช่วยจนสำเร็จก็ลืมซึ่งบุญคุณ นี่คือภาษิตของความไม่สำนึกรู้คุณคน แต่ถ้าเราสามารถที่จะสร้างนิสัยที่ว่า " ข้ามแม่น้ำแล้วหันกลับคำนับสะพาน " นั่นแสดงถึงการที่เรามีความสำนึกรู้พระคุณ และตอบแทนผู้ที่มีบุญคุณต่อเรา

          ในเวลาที่เราเดินอยู่ใต้แดดร้อน แล้วหลบเข้าไปในร่มไม้เพื่อพักผ่อน เราก็ควรรำลึกในคุณของคนที่ปลูกต้นไม้ เพื่อเราได้พักพิงหลบร้อนในวันนี้ และเมื่อได้เห็นประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่งดงามรอบตัวเรา เราก็ต้องสำนึกถึงความลำบากของคนในอดีตที่สร้างไว้ให้เรา

           เรามีบรรพบุรุษหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์จึงได้ผลเก็บเกี่ยวในวันนี้ หากว่าไม่มีใครที่บุกเบิกทางไว้ เราก็ย่อมเสี่ยงต่ออันตรายในทางอันรกร้าง ถ้าหากไม่มีเกษตรกรทำไร้ไถนาแล้วเราจะเอาข้าวที่ไหนกินประทังชีวิต ในชีวิตมนุษย์ทุกๆ คน ก็ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมเพราะฉะนั้นเราจึงควรมีจิตใจสำนึกคุณและตอบแทนให้กับสังคม



          ทำไมเราจึงต้องเน้นในเรื่องความกตัญญูกตเวทิตา ? ก็เพราะว่าพ่อแม่มีบุญคุณในการให้กำเนิดและเลี้ยงดูเรามา ทำไมเราต้องบริจาคทรัพย์ช่วยเหลือสาธารณกุศล ? ก็เพราะโรงพยาบาลเคยช่วยเหลือรักษาเรา โรงเรียนเคยให้การศึกษาแก่เรา และในยามที่เกิดไฟไหม้ ก็มีพนักงานดับเพลิงที่เสียสละชีวิตเข้ามาช่วยเหลือ และมีผู้บริจาคอุปกรณ์ดับเพลิง ถ้าหากไม่รำลึกในบุญคุณของผู้ที่ช่วยชีวิตเรา แล้วเราจะมีชีวิตอย่างสงบสุขได้อย่างไร ? เพราะฉะนั้น การรำลึกคุณนั้นก็คือกิริยาของการ " ข้ามแม่น้ำแล้วหันกลับไปคำนับสะพาน "

          นิทานเรื่องหนึ่งมีอยู่ว่า มีเศรษฐีคนหนึ่งได้ฉลองการขึ้นบ้านใหม่ โดยจัดเลี้ยงแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน และเขาก็ได้เชื้อเชิญสถาปนิกและผู้ก่อสร้างบ้านหลังนี้ให้นั่งที่ประธาน ส่วนลูกหลานของเศรษฐีนั้นนั่งรองลงมา คนที่มาในงานต่างพากันงงงันในการกระทำของเศรษฐี แต่เศณฐีพูดขึ้นว่า " สถาปนิกและผู้ก่อสร้างเป็นผู้ที่สร้างบ้านหลังนี้ ฉะนั้นจึงสมควรนั่งที่ประธานใหญ่ แต่ลูกหลานคือผู้ที่ขายบ้านหลังนี้ในอนาคต จึงควรนั่งรองลงมา "

          เมื่อดื่มน้ำก็ควรรำลึถึงต้นน้ำ สำนึกคุณก็ควรตอบแทนคุณ จึงจะเป็นเหตุปัจจัยให้มีคนช่วยเหลือเรามากขึ้น โบราณของจีนมีอยู่ว่า " ผู้กล้านั้นสามารถตายแทนมิตรผู้รู้ใจได้ " บ้างก็ตั้งคำมั่นสัญญาที่จะตอบแทนคุณ เช่น " บุญคุณดั่งหยดน้ำ เอาหามหาสมุทรตอบแทน " และยังมีอีกตัวอย่างหนึ่งในสามก๊ก คือขงเบ้งได้สำนึกในคุณของเล่าปี่ จึงยอมถวายชีวิตช่วยเหลืออาเต๊า ( ลูกของเล่าปี่ ) ด้วยจิตใจอันนอบน้อม และรับใช้จวบจนกระทั่งจบชีวิตไปอย่างองอาจสง่างาม ส่วนจิ้งเหวินกงได้รำลึกถึงเจี้ยจือทุย ที่เคยเคียงบ่าเคียงไหล่ อดทนลำบากในยามยากด้ยกันนานถึงสิบเก้าปี โดยการยอมอดอาหารเพื่อรำลึกในความจงรักภักดีและความซื่อสัตย์ของเขา และอีกคนคือ อู๋จื่อจุย ได้รำลึกถึงบุญคุณของชาวประมงคนหนึ่งที่เคยช่วยชีวิตตน จึงถอยทัพไม่ไปตีเมืองเจิ้ง อีกทั้งกวีเอกหันซิ้นผู้เคยได้รับอาหารจากหญิงพื้นบ้านเพียงมื้อเดียว แต่เมื่อได้รับราชการจนเป็นใหญ่ เขาก็ตรงกลับไปบ้านเกิดเพื่อตอบแทนคุณหญิงพื้นบ้านนั้นด้วยทองคำพันตำลึง

           คนเราถ้าหากปราศจากจิตสำนึกในพระคุณ ย่อมแสดงว่าเป็นคนแล้งน้ำใจ แต่ถ้ารู้จักสำนึกคุณ ตอบแทนคุณ ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ร่ำรวยน้ำใจอันแท้จริง การรู้คุณคนนั้นทำให้ชีวิตเป็นชีวิตที่มั่งคั่ง และในยามที่จิตของเรามีความกตัญญูกตเวทิตา ถึงแม้เราต้องพบเจออุปสรรค เรื่องต่างๆ ก็จะผ่านไปด้วยดี ด้วยเหตุนี้ในยามที่เราดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นก็ควรจะรู้สำนึกคุณท่านเป็นอาจิณ ความริษยาอาฆาตแค้นก็ย่อมไม่เกิดขึ้น เรื่องที่ต้องทำให้เราทุกข์ใจก็จะไม่ปรากฏ อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างคุณธรรม และบุคลิกลักษณะอันสง่างามชีวิตจะประสบแต่ความสุขความเจริญ




By เซนส่องทาง

No comments:

Post a Comment