ไม่คำนึงว่าเป็นญาติหรือศัตรู
กษัตริย์ผิงกงแห่งรัฐจิ้นตรัสถามฉีหวงหยางว่า " ที่อำเภอหนานหยางขาดนายอำเภอ ท่านเห็นควรจัดให้ใครปรับหน้าที่ ? "
ฉีหวงหยางทูลอย่างไม่ลังเลใจว่า " ควรให้เซี่ยหูไปรับหน้าที่เขาเป็นคนที่เหมาะสม "
กษัตริย์ผิงกงทรงประหลาดพระทัยตรัสถามว่า " เชี่ยหูเป็นศัตรูคู่แค้นของท่านมิใช่หรือ ? "
ฉีหวงหยางทูลว่า " พระองค์ถามว่าใครเหมาะสมจะไปดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ไม่ได้ทรงถามว่าใครเป็นศัตรูของข้าพระองค์พะย่ะค่ะ "
ด้วยเหตุนี้กษัตริย์ผิงกงแห่งรัฐจิ้นจึงจัดให้เซี่ยหูไปดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ผลก็คือเขาทำการปกครองได้ดี ราษฎรพากันชมเชย
ต่อมาไม่นาน กษัตริย์ผิงกงก็ตรัสถามฉีหวงหยางอีกว่า " เวลานี้ราชสำนักขาดตุลาการ ท่านเห็นว่าใครเหมาะสมที่จะรับตำแหน่งนี้ "
ฉีหวงหยางทูลว่า " ฉีหวู่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้พะย่ะค่ะ "
กษัตริย์ผิงกงจึงตรัสถามด้วยความประหลาดพระทัยว่า " ฉีหวู่เป็นลูกชายของท่านมิใช่หรือ ? ท่านเสนอลูกชายขึ้นรับตำแหน่งไม่กลัวคนนินทาลับหลังหรือ ? "
ฉีหวงหยางทูลตอบว่า " พระองค์ทรงถามว่าใครสมควรจะรับตำแหน่งตุลาการ มิได้ถามว่าฉีหวู่เป็นบุตรของข้าพระองค์หรือมิใช่ "
เมื่อฉีหวู่ดำรงตำแหน่งตุลาการแล้วก็ดำเนินตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำการขจัดความชั่วร้ายต่างๆ จนเป็นที่ยกย่องสรรเสริญกันทั่วไป
เมื่อขงจื้อได้ฟังเรื่องดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็กล่าวชมว่า " ดีมากฉีหวงหยางเสนอคนโดยไม่คำนึงว่าเป็นศัตรูคู่อาฆาตหรือเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของตน ช่างเป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัวจริงๆ ? "
บันทึกใน " หลี่ซื่อชุนชิว "
มุมมองปรัชญา
ในการใช้คนนั้นมีความเห็นสองอย่างที่ขัดแย้งและต่อสู้กันมาตลอด นั่นก็คือการใช้คนที่มีคุณธรรมความสามารถกับการใช้คนที่ใกล้ชิดชอบพอ สำหรับประชาชนแล้วย่อมนิยมประการแรก ไม่นิยมประการหลัง
ด้วยเหตุนี้ เรื่องการเสนอคนเข้ารับตำแหน่งโดย " ไม่คำนึงว่าเป็นมิตรหรือศัตรู " ยึดถือคุณธรรมความสามารถเป็นเกณฑ์ของฉีหวงหยาง จึงเป็นที่ยกย่องของคนทั้งหลายในประวัติศาสตร์ เพราะเขาไม่มีอคติ ไม่่ยึดถือผลบได้ผลเสียถือเอาคุณธรรมความสามารถเป็นบรรทัดฐาน ฉะนั้นเขาจึงเสนอคนที่เป็นศัตรูกับเขาได้อย่างไม่ลังเล เสนอลูกชายของเขาได้โดยไม่กลัวเกรงคำครหา ซึ่งนับได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดี
By ปรัชญาชีวิตใน สุภาษิตจีน
No comments:
Post a Comment