Monday, August 19, 2013

กฏแห่งกรรม

กฏแห่งกรรม

         ในรอบสหัสวรรษที่ผ่านมา พุทธศาสนิก นิกายเถรวาท ชาวไทยส่วนใหญ่ยังคงตกอยู่ภายใต้แนวความเชื่อความศรัทธาในเรื่องของ " กรรมเก่า " อย่างเหนียวแน่น ว่าการที่ตนได้รับความทุกข์ความสุขอยู่ทุกวันนี้ เป็นผลเนื่องจากกรรมที่เคยทำไว้ในชาติก่อน ความเชื่อเช่นนี้นับว่าค้านกับคำสอนในทางพุทธศาสนา ที่พระพุทธองค์ทรงย้ำอยู่เสมอว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ จะอย่างไรและเป็นเช่นไรก็ตาม จนทุกวันนี้ชาวพุทธทั้งหลายยังได้รับการสอนจากพระหลายๆ องค์เกือบทั่วประเทศเกี่ยวกับ " ปุพเพกตเหตุวาท หรือ ลัทธิกรรมเก่า " ที่ถือว่าทุกข์สุขใดก็ตามที่ตนกำลังได้รับ ล้วนเป็นเพราะกรรมเก่าที่ได้ก่อไว้ในปางก่อน การที่คนไทยชาวพุทธมีความเชื่อเช่นนี้จึงเป็นช่องทางในการเสริมสร้างความชอบธรรมให้กับผู้มีอำนาจในการที่จะคอยควบคุมไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงฐานะทางสังคมที่ไร้ความยุติธรรมกับทั้งยังเพิ่มทัศนคติให้กับชาวพุทธทั้งหลายว่า " พระเท่านั้นที่เป็นเนื้อนาบุญนำคนไปสู่สวรรค์ "

          ที่จริงแล้วกฏแห่งกรรมในความหมายทางพุทธศาสนา หมายถึงกฏที่เกี่ยวข้องกับการกระทำ ( กรรม ) และผลจากการกระทำ ( วิบาก ) ที่มีทั้งดีและชั่ว และที่เป็นกลาง กรรมหรือการกระทำ แบ่งออกเป็น กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม สาเหตุในการประกอบกรรมเนื่องมาจากความอยากหรือตัณหา วิบากผลในการทำกรรม แบ่งออกเป็นฝ่ายที่เป็นกุศล ฝ่ายอกุศลและที่เป็นกลางๆ ( อัพยากฤต ) ต้นเหตุแห่งอกุศลกรรมเกิดจากกิเลสทั้งสามคือ โลภ โกรธ หลง ส่วนเหตุแห่งกุศลกรรม เกิดจาก จาคะ เมตตา และปัญญา

          กฏแห่งกรรมเป็นผลเนื่องมาจากกระบวนการทางจิตทั้งสาม คือ ไตรวัฏ ที่กล่าวไว้ในวงจรปฏิจจสมุปบาท ได้แก่ กิเลส กรรม วิบาก 

         รายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการทางจิตในวงจรแห่งปฏิจจสมุปบาทเริ่มต้นจาก อวิชชา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงเกิดสังขารเพราะสังขารมี จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงเกิดผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมีเพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัยอุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมี ชรา มรณะ โศกเศร้า คร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และคับแค้นใจ ตามลำดับ


          พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า " ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว " แต่ผลแห่งการกระทำที่เป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมนั้นปากฏให้เห็นช้าหรือเร็วอาจขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยภายนอกอีกหลายประการ เช่น เวลา สถานที่ บุคลิกภาพ และวิธีปฏิบัติ ที่ทางพุทธศาสนา เรียกว่า กาล คติ อุปทิ และ ปโยค นี่คือคำตอบที่มักมีผู้ตั้งคำถามอยู่เสมอๆ ว่า " ทำไมคนทำดีไม่เห็นจะได้ดี แต่คนทำชั่วกลับได้ดี ? " ทั้งนี้ก็เพราะว่า ผลจากการประกอบกรรมดีอาจจะยังไม่ปรากฏ หากกระทำกรรมตามจังหวะ เวลา สถานที่ ยังไม่เหมาะสม บุคลิกภาพไม่ดีหรือการขาดความรู้ความสามารถในการประกอบกรรม ในทางตรงกันข้าม วิบาก หรือ ผลจากการทำกรรมชั่วอาจยังไม่ปรากฏ เนื่องจากเหตุปัจจัยดังกล่าวหรือมีปัจจัยอื่นเกิดเอื้ออำนวย อย่างไรก็ตามในที่สุดผลของกรรมในทางรูปธรรมหรือนามธรรมย่อมจะปรากฏให้เห็นหรือให้ผู้กระทำกรรมรู้สึก หรือได้รับอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว

         โปรดสังเกตว่า พุทธศาสนามองว่า กฏแห่งกรรม เป็นเพียงกฏธรรมชาติข้อหนึ่งในธรรมวิยามทั้ง ๕ ดังนั้นวิบากกรรมที่ให้ผลในทางดีและทางไม่ดีนั้น อาจจะยังไม่ได้เกิดจากการทำกรรมดีหรือกรรมชั่วแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ขึ้นอยู่กับธรรมนิยามอื่นซึ่งเป็นปัจจัยร่วมอันอาจมีผลกระทบต่อการทำกรรม ดังเช่นผลจากปัจจัยภายนอก ๔ ประการดังกล่าวแล้ว

          อนึ่ง วิบากกรรมในทางพุทธศาสนา มีมุมมองต่างจากปรัชญาอินเดียที่สอนให้เชื่อว่าเกิดจาก กรรมเก่า ที่เคยทำไว้เมื่อชาติก่อนหรือจากบุญบันดาล จากพรหมลิขิต หรือโดยอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าทรงดลให้ได้รับโชคเคราะห์ แต่พุทธศาสนาประเมินผลของกรรมดีกรรมชั่วจากผลของการกระทำในชีวิตนี้ และวัดผลจากการประกอบกรรมดีกรรมชั่วภายในจิตใจ มิใช่วัดกันด้วยวัตถุเสมอไปตามที่มีบางคนเข้าใจ

          เราจะเห็นได้ว่า กรรมนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกฏธรรมชาติการที่เราจะสรุปเอาง่ายๆ ว่า ชีวิตที่เราประสบอยู่นั้นเนื่องมาจากการประกอบกรรมเพียงอย่างเดียวนั้น จึงไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะว่านอกจากกฎแห่งกรรมแล้ว ยังมีเหตุปัจจัยที่เกิดจากนิยามอื่น เช่น อุตุนิยาม พีชนิยาม หรือจิตนิยาม ที่เป็นตัวกำหนดผลกรรมว่าวิบากกรรมที่เกิดอาจเนื่องมาจากหลายเหตุปัจจัย แตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง ดังที่ท่านพระธรรมปฎกใช้คำว่า " ผลอันหลากหลาย จากปัจจัยอันอเนก " การทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจในกฏแห่งกรรมได้ดียิ่งขึ้น





By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment