Saturday, August 10, 2013

สามคนเจ้าปัญญา

สามคนเจ้าปัญญา

          " ปัญญา " ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้แก่มนุษยชาติทุกคนๆ เป็นสิ่งที่คอยชี้นำทางและเป็นแรงผลักดันให้มนุษย์เดินสู่ความเจริญ ซึ่งจะเจริญรุ่งเรืองได้นั้นก็เมื่อเราทุกคนสามารถใช้ปัญญาไปในทางที่ถูกที่ควร

          สุภาษิตบทนี้ของญี่ปุ่นชี้เน้นไปที่การรวมปัญญาของคนสามคน ซึ่งจะเกิดประโยชน์และเห็นผลมากกว่าการใช้ปัญญาหรือหัวคิดของคนคนเดียว สามคน สามปัญญาทำให้มีดารคิดรอบด้าน ทุกมุมมอง ทั้งรุก ทั้งรับ และแก้ปัญหา ถ้าลองเปรียบกับสำนวนไทยก็คงคล้ายๆ กับคำว่า " คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย " อะไรทำนองนั้น แต่ของญี่ปุ่นในบทนี้เป็นสามคน

          ซึ่งความหมายก็คล้ายๆ กัน ที่บอกว่าการทำอะไรคนเดียวโดยไม่มีคู่คิดหรือคนปรึกษา งานที่ทำนั้นอาจะพลาดหรือเสียหายใหญ่หลวงได้ มีเรื่องตัวอย่างมาเล่าให้ฟังเปรียบเทียบเพื่อความเข้าใจ คราวนี้เป็นเรื่องขององค์การหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่นภูมิใจมากๆ ที่ชื่อ " โตโยต้า " ผู้ยิ่งใหญ่ในโลกรถยนต์ที่หลายค่ายยังวิ่งตามความสำเร็จอยู่ในขณะนี้

          ก่อนจะผงาดขึ้นเป็นค่ายรถยนต์ระดับโลกที่มีสายการผลิตยานยนต์ในระดับผู้นำ ใครจะเชื่อว่าจุดกำเนิดของโตโยต้า ( TOYOTA ) ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อกว่า ๗๐ ปีที่ผ่านมา จากบริษัทเล็กๆ แห่งหนึ่งในฐานะโรงงานผลิตเครื่องทอผ้าของ ๓ หนุ่มพี่น้องแห่งตระกูล " โตโยดะ " 



           สามพี่น้องในตระกูลโตโยดะ ก็คือ ซาคิชิ ไฮคิชิ และซาซูกิ ซึ่งร่วมแรงร่วมใจกันจนกลายเป็นครอบครัวโตโยดะที่หลายคนรู้จักกันดีในเวลานั้น โดยเฉพาะวงการทอผ้าของญี่ปุ่น

           " ซาคิชิ " ถูกยกย่องให้เป็นราชาแห่งนักประดิษฐ์ และเป็นบิดาผู้ให้กำเนิดกลุ่มโตโยดะ เขามีความเชี่ยวชาญในเรื่องเครื่องทอผ้าที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ชาวญี่ปุ่นนั้นนิยมมากในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขาเป็นผู้ก่อตั้ง " โตโยดะการทอและปั่น " และเปลี่ยนชื่อเป็น " บริษัท เครื่องทอผ้า อัตโนมัติ โตโยดะ " ในเวลาต่อมา

           ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ เขาตัดสินใจขายลิขสิทธิ์เครื่องทอผ้าให้ชาวอังกฤษเป็นเงิน ๑ แสนปอนด์ และยกเงินให้กับ " คิชิโร่ " บุตรชายแสนขยันและมีวิสัยทัศน์ของเขา ซึ่งงานของเขาที่ทำอยู่ก็เป็นแผนกหนึ่งของบริษัทของครอบครัว

           จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ก็สามารถเปิดตัวรถยนต์คันแรกออกมาได้ บริษัทรถยนต์เติบโตไปอย่างต่อเนื่องและเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก " โตโยดะ " เป็น " โตโยต้า " เพราะคำว่า " โตโยดะ " ในภาษาญี่ปุ่นต้องเขียนด้วยตัวอักษรที่มีทั้งหมด ๑๐ ขีด แต่คำว่า " โตโยต้า " นั้นใช้ ๘ ขีด ซึ่งดีกว่าตามคำแนะนำของหมอดู

          โดยเชื่อกันว่าเลข ๘ เป็นเลขนำโชคสำหรับครอบครัวโตโยดะ จากความสำเร็จที่ปรากฏของแบรนด์โตโยต้าในปัจจุบัน เห็นจะไม่มีใครกล้าเถียงได้ในความเชื่อของข้อนี้

           " โตโยต้า " นั้นกลายเป็นชื่อที่ถูกใช้มาจนถึงยุคปัจจุบัน ปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๐ โตโยต้าก็บรรลุถึงเป้าหมายในการผลิตเพราะสามารถผลิตรถยนต์ได้ถึง ๕๐๐ คันต่อเดือน ทว่าความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สองของญี่ปุ่นก็เกือบจะทำลายล้างความสำเร็จที่เคยมีมาอย่างสิ้นเชิง เพราะวงการอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามนั้นไม่เพียงแต่จะต้องนับหนึ่งใหม่ ว่ากันว่าอยู่ในขั้นติดลบ ๑๐ เสียด้วยซ้ำ

           หลังจากนั้นคิชิโร่ โตโยดะก็ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ เป็นการตัดสินใจที่ต้องระดมความคิดของครอบครัวโตโยดะทั้งหมด อย่าลืมว่าการทำงานเริ่มต้นของครอบครัวนี้เป็นระบบครอบครัว คล้ายกับคนจีนที่เรียกว่า " กงสี " ทุกเสียงในครอบครัวเป็นเสียงที่แข็งแกร่ง พร้อมยืนหยัดร่วมเป็นร่วมตาย ประเภทที่ว่าเรือไม่พายแต่เอาเท้าราน้ำอย่างบางธุรกิจในเมืองไทยนั้นไม่มีทาง

           และผลสรุปก็คือ แทนที่จะผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่แข่งกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกาอย่าง " เจนเนอรัล มอเตอร์ " และผู้ผลิตรายอื่นๆ ที่ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงจะต้องใช้ทุนรอนจำนวนมาก

          เขาตัดสินใจหันมาผลิตรถยนต์ขนาดกลางหรือที่เรียกกันในศัพท์รถยนต์ว่า " คอมแพค " การตัดสินใจครั้งนั้นบังเกิดผลอย่างฉับพลันทันใด ในตลาดญี่ปุ่น รถยนต์ขนาดกลางหรือคอมแพคนี้กลายเป็นที่นิยมอย่างฉับพลันทันใด ในตลาดญี่ปุ่น รถยนต์ขนาดกลางหรือคอมแพคนี้กลายเป็นที่นิยมของ คนญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว นับว่าเป็นการตัดสินครั้งใหญ่ที่ถูกต้องและถูกเวลาเป็นอย่างมาก

           ในปีพ.ศ. ๒๕๐๙ บรรดาผู้สืบทอดกิจการจากโตโยต้าก็ตัดสินใจส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐอเมริกา

           นอกจากรถรุ่น TOYOTA CROWN จะเป็นรถยนต์ที่สร้างชื่อให้กับโตโยต้ามากที่สุดและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก รุ่น TOYOTA COROLLA ก็เป็นอีกรุ่นยอดนิยมที่ถูกผลิตขึ้นด้วยยอดการผลิตในปีแรกสูงถึง ๑๒,๐๐๐ คัน และเพิ่มขึ้นเป็น ๑๖๐,๐๐๐ คันในปีถัดมา

           TOYOTA COROLLA กลายเป็นรถยนต์ยอดนิยมของผู้คนทั่วโลกโดยในแต่ละท้องถิ่นจะออกเสียงเรียกแตกต่างกันไป แต่ญี่ปุ่นออกเสียงว่า " คาโรร่า " หรือ " ออโรร่า " รากศัพท์ที่แท้จริงมาจากภาษาละติน หมายถึง มงกุฎ ดอกไม้ที่มีเกียรติ

           เช่นเดียวกับ CORONA ที่หมายถึง มงกุฎแห่งดวงอาทิตย์ ซึ่งรถยนต์ในยุคแรกมักเกี่ยวข้องกับ " มงกุฎ " เพื่อแสดงความมีเกียรติ ขณะที่ TOYOTA CROWN คือผลผลิตแห่งความภาคภูมิใจของโตโยต้าอย่างแท้จริง

           ความสำเร็จของ TOYOTA CROWN ในประเทศญี่ปุ่น ทำให้โตโยต้าตัดสินใจขยายตลาดออกสู่สหรัฐอเมริกา โดยก่อตั้ง " โตโยต้า มอเตอร์ เซลส์ " ขึ้นในสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งในขณะนั้นรถยนต์ยี่ห้อ " โฟล์คสวาเกน ( Volkswagen ) " ของเยอรมันกำลังขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในสหรัฐอเมริกา

           ในช่วงทศวรรษที่ ๘๐ - ๙๐ อุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มจับจ้องมองไปที่ความเคลื่อนไหวของโตโยต้า เพราะชื่อเสียงในเรื่องคุณภาพของรถยนต์ที่มีความคงทนมากกว่ารถยนต์ที่มาจากสายการผลิตของค่ายรถยนต์อเมริกัน และมีคุณภาพด้านการออกแบบที่ประณีต รวดเร็ว แต่คงไว้ซึ่งต้นทุนการผลิตที่สามารถแข่งขันกับตลาดได้ จนก้าวขึ้นเทียบชั้นและกลายเป็นคู่แข่งรายสำคัญของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกไปโดยปริยาย

            การรุกเข้าสู่ตลาดรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา กระทั่งขยายตัวได้อย่างวรวดเร็วนั้นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้โตโยต้าถูกจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นรุ่น CAMRY หรือ LEXUS ที่ถูกจัดให้เป็นรถยอดนิยมที่มียอดขายสูงสุดในอเมริกา ซึ่งโตโยต้าใช้ระยะเวลาเพียง ๑๐ ปี ในการก้าวกระโดดขึ้นสู่การเป็นผู้นำในตลาดรถหรู หลังส่งรุ่น LEXUS  ออกสู่ตลาดโลกในปีพ.ศ. ๒๕๓๒

          ในปัจจุบัน คัตสึอากิ วาตานาเบ้  ซีอีโอคนปัจจุบันพูดถึงนโยบายผลักดันโตโยต้าอย่างน่าสนใจว่า โตโยต้าต้องการคืนกำไรสู่สังคม และโชคดีที่โตโยต้าเป็นรถที่มีคนใช้จำนวนมากทั่วโลก ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ยอดขายทั่วโลกสูงถึง ๗.๕๒ ล้านคัน ยอดขายนี้เป็นเพราะลูกค้าให้การสนับสนุน อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรดีลเลอร์ และซับพลายเออร์ เขากล่าวว่า

           " ผมพยายามทบทวนพันธสัญญาที่มีเพื่อสนองความคาดหวังของลูกค้าส่วนใหญ่ ผม รองประธานและพนักงานทั้งหมดของโตโยต้าคอร์ปอเรชั่น ต้องถามคำถามว่า โตโยต้ามีส่วนร่วมกับสังคมอย่างแท้จริงหรือไม่ เราทำสิ่งที่ควรทำหรือยัง เป้าหมายของเราคือร่วมส่งเสริมสังคมให้ดียิ่งขึ้น

          ในมุมมองของความท้าทายของเรา ผมต้องเพิ่มมุมมองในการพิทักษ์โลก เช่น ปัญหาด้านการรักษาสภาพแวดล้อม แหล่งทรัพยากรของโลก การใช้พลังงานและการป้องกันอุบัติเหตุจากการจราจร ผมต้องย้ำคอนเซ็ปต์นี้ให้ทุกคนที่โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น รับทราบและร่วมกันทำ

           ประการแรกการมีส่วนร่วมกับสังคมผ่านตัวผลิตภัณฑ์ที่เราผลิตซึ่งก็คือ รถยนต์ มีคนประมาณ ๒๐ % ทั่วโลกใช้รถยนต์เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผมตั้งเป้าหมายการนำผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดในโลกให้แก่ลูกค้าด้วยราคาสมเหตุสมผล เพื่อที่ลูกค้าจะได้รับความสะดวกและความพอใจจากรถยนต์ "

          คงจะจริงอย่างซีอีโอของโตโยต้าคนปัจจุบันพูดถึง โดยเฉพาะปรัชญาสำคัญของ " สามคนรวมกันเป็นเจ้าแห่งปัญญา " ในสมัยปัจจุบันนั้นอาจจะสามารถแตกขยายความคิดออกไปได้อีก

           ซึ่งความหมายใหม่อาจจะไม่ใช่เป็นเพียงการนำปัญญาของคนสามคนมาร่วมกันเหมือนดังแต่ก่อน แต่อาจหมายถึงเป็นแนวทางและสุดยอดวิสัยทัศน์ของซีอีโอในการดำเนินทำธุรกิจการค้าสมัยใหม่ที่ต้องมีสามส่วนประกอบกัน ก็คือ ผลกำไร สังคมและสิ่งแวดล้อม จะอันไหนก่อนหน้าหลังขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า " จริยธรรม " เป็นผู้กำกับทั้งสิ้่น

           แต่อย่างไรก็ดี ในโลกใบนี้ไม่เคยมีใครเพียงคนเดียวที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้โดยไม่มีการช่วยเหลือจากคนอื่น มนุษย์ที่อยู่เดียวดายก็คือมนุษย์ที่ตายไปแล้วเท่านั้น





By ปรัชญา ซามูไร

No comments:

Post a Comment