คนมุทะลุ
เห็นเงาคันธนูก็คิดว่าเป็นงูเงี้ยวเขี้ยวขอ
เห็นหินใหญ่วางนอนก็คิดว่าเป็นเสือหมอบ
จิตใจมีแต่ความเหี้ยมเกรียม
คนสุขุม
เสือโหดจะกลายเป็นนกนางนวล
เสียงกบเขียดจะกลายเป็นเสียงดนตรี
สิ่งที่สัมผัสมีแต่ความจริงแท้
นิทัศน์อุทาหรณ์
ผีเงาครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีแม่น้ำอยู่สายหนึ่งเรียกว่าแม่น้ำเซี่ยสุ่ยทางใต้ของปากแม่น้ำเซี่ยสุ่ย มีชายคนหนึ่งชื่อจวนซู่เหลียงอาศัยอยู่ เขาผู้นี้เป็นคนใจร้อน เมื่อมเรื่องราวอะไรก็มักจะไม่ยอมใช้ความคิดอย่างเยือกเย็น
มีอยู่ครั้งหนึ่ง จวนซู่เหลียงกลับมาจากนอกบ้านในตอนกลางคืนท่ามกลางแสงเดือนซึ่งส่องสว่าง เห็นเงาของตนเองก็คิดว่าเป็นผีร้ายที่แอบซุ่มอยู่บนพื้น รู้สึกหวาดกลัวจนหน้าซีด รีบวิ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิต ยิ่งหนีเจ้าปีศาจร้ายตัวนั้นก็ไล่ตามมาติดๆ พอจวนซู่เหลียงกระโดดเข้าประตูบ้านไปได้ ก็เหนื่อยจนหายใจไม่ออก ตายอยู่ที่หน้าประตูนั้นเอง
คนแบบจวนซู่เหลียงนี้มีอยู่ไม่น้อยเลย ในสมัยราชวงศ์จิ้นเล่อก่วงมีเพื่ออยู่คนหนึ่ง เขาเห็นเงาของคันธนูในถ้วยเหล้า เป็นงูเล็กว่ายกระเพื่อมอยู่ถึงกับตกใจล้มป่วยจนลุกไม่ขึ้นเป็นเวลานาน
และคนบางคน เห็นหินใหญ่วางนอนอยู่กับพื้นในตอนกลางคืนก็เข้าใจว่าเป็นเสือที่มาคอยหมอบดักซุ่มกินคนอยู่ เห็นต้นไม้ ในป่าก็ทึกทักเอาว่าเป็นคนป่าเถื่อนออกมาคอยถลกหนังหัวคน
คนที่ขวัญไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเช่นนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ว่าสำหรับเขาแล้ว เต็มไปด้วยการมุ่งร้ายหมายขวัญที่จะเอาชีวิตทั้งสิ้นเมื่อเป็นเช่นนี้ เขาจะมีวันเวลาที่อยู่เย็นเป็นสุขได้อย่างไร ?
เราลองมาดูคนที่ชื่อว่าข่งจื่อกุยอีคนหนึ่ง เขาเป็นเสนาธิการของพระเจ้าฉีเกาตี้ในสมัยราชวงศ์ไต้ เขียนบทประพันธ์ได้ดีมาก ชอบดื่มสุราเก่าเก็บอยู่คนเดียว สวนหลังบ้านของเขามีสระน้ำ มีหญ้าขึ้นเต็มเวลากลางคืนเสียงกบเขียดดังมาจากสระแห่งนั้น หลายๆ คนรังเกียจว่ามันร้องหนวกหู มีแต่ขงจื่อกุยเท่านั้นที่มีความสุข เขาหัวเราะว่า " เสียงดนตรีอันแสนจะเสนาะหูเช่นนี้ ท่านไม่ได้ยินดอกหรือ ? "
จริงทีเดียว คนที่หัวใจถูกปิดกั้นนั้น ฟังเพลงที่กบเขียดบรรเลงไม่ได้ยินมีแต่คนอย่างข่งจื่อกุย ซึ่งมีจิตในอันเป็นกุศลเช่นนี้เท่านั้นจึงจะสามารถพบเห็นพลังชีวิตอันเปี่ยมไปด้วยความเริงรื่นของสรรพสิ่ง
กระทั่งคนอย่างซึหูในสมัยราชวงศ์จ้าวยุคหลัง แม้เห็นเสือร้ายที่ฆ่าคนเป็นเบือ พวกเขาก็เชื่อว่าสามารถที่จะดัดสันดานให้กลายเป็นนกนางนวลที่แสนเชื่องได้
By หงอิ้งหมิง สมัยราชวงศ์หมิง ( สายธารแห่งปัญญา )
No comments:
Post a Comment