ความจำเป็น คือต้นสายแห่งการค้นพบ
สุภาษิตของญี่ปุ่นคำนี้ ถือว่าเป็นปรัชญาที่ช่วยในการต่อสู้ของคนญี่ปุ่นให้พบกับความสำเร็จเป็นยอดคนอย่างแท้จริง ซึ่งช่วยให้ชาวญี่ปุ่นก้าวหน้ามากในวงการอุตสาหกรรมต่างๆ
เป็นความจริงที่ว่าในประเทศญี่ปุ่นบริษัทใหญ่จะมีผู้บริหารมาจากช่างฝีมือ วิศวกร หรือนักเทคโนโลยี ซึ่งแตกต่างจากอังกฤษและอเมริกาที่ผู้บริหารมักมาจากนักบัญชีและนักการเงิน
ความจำเป็นคือต้นสายแห่งการค้นพบ นั้นคือการแปลให้สละสลวยตามภาษาไทย ถ้าแปลแบบตรงตัวจะได้ประมาณว่า " ความจำเป็นนั้นเป็นแม่ของการค้นพบ " ในความหมายนั้นหมายถึง ความจำเป็นที่บีบคั้นทำให้เกิดการค้นพบหรือการค้นพบใหม่ๆ นั้นเกิดจากการที่รู้สึกว่า สิ่งที่มีอยู่เดิมที่เป็นต้นกำเนิดของสิ่งต่างๆ นั้นยังสมบูรณ์ไม่เพียงพอหรือมีวิธีการใช้ยุ่งยากมาก จึงต้องพยายามคิดหาวิธีการใหม่ๆ ทำให้เกิดการค้นพบมากขึ้นและดีมากขึ้นมากกว่าเดิม
และเรื่องราวต่อไปนี้เป็นเรื่องที่พอจะยืนยันในเรื่องของคนคนหนึ่งที่ได้พยายามที่จะค้นพบค้นหาในสิ่งที่เขาเห็นว่ายังไม่ดีพอ และเขามีหน้าที่ที่จะทำให้มันวิเศษกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ คนคนนี้ชื่อว่า
โซอิจิโร่ ฮอนดะ ชื่อนี้คุ้นๆ หูไหมครับ ลองมาดู " ความจำเป็นคือต้นสายแห่งการค้นพบ " ของเขากันว่าเป็นอย่างไร
โซอิจิโร่ ฮอนดะ เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๙ หรือร้อยกว่าปีมาแล้ว เขาเป็นลูกชายคนแรกของครอบครัว คุณพ่อของเขาสืบเชื้อสายมาจากชาวนา และได้เปิดร้านตีเหล็กเล็กๆ และรับซ่อมจักรยานด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักจะซื้อจักรยานเก่าๆ มาซ่อมและขายให้ลูกค้าทั่วไป ซึ่งในสมัยนั้นคนญี่ปุ่นกำลังนิยมขี่จักรยานกันมากเพราะประหยัด
ส่วนคุณแม่ของฮอนดะก็ช่วยงานที่บ้านและเป็นแม่บ้าน ครอบครัวของเขายากจนมาก เขาจึงต้องมาช่วยครอบครัวทำงานทุกอย่างมาตั้งแต่เด็ก และเขาก็เริ่มคลั่งไคล้ในเรื่องเครื่องยนต์กลไกมาตั้งแต่นั้น
ที่สำคัญผู้ที่จุดประกายให้กับฮอนดะก็คือปู่ของเขาที่ให้เขาขี่หลังไปดูเครื่องยนต์ทำงานที่โรงสีแห่งหนึ่ง เขามองเครื่องยนต์ที่กำลังทำงานสีข้าวด้วยความทึ่งและหลงรักมันตั้งแต่แรกเห็น
เมื่อเขาโตขึ้นก็เป็นเด็กคนแรกของหมู่บ้านที่ขี่จักรยานที่หมุนด้วยไม้ไผ่อันเป็นผลงานชิ้นแรกของเขา ในขณะนั้นเขาเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ ๒ เท่านั้นเอง
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เมื่อเขาอาย ๑๕ ปีก็ได้เดินทางมาที่เมืองโตเกียว เข้าทำงานในร้านซ่อมรถยนต์ชื่อ Art Shokai แต่หน้าที่แรกของเขาในร้านซ่อมรถยนต์แห่งนี้คือต้องเลี้ยงลูกเจ้าของอู่แทนที่จะเป็นช่างฝึกหัดทั่วไป
เขาทนทำงานเลี้ยงเด็กอ่อนอยู่หนึ่งเดือนก็ได้รับหน้าที่ใหม่ให้ไปช่วยงานซ่อมเครื่องยนต์โดยเป็นลูกมือช่าง และต่อจากนั้นมาเขาได้รับการฝึกฝนทางเครื่องยนต์อย่างเต็มที่ เจ้าของอู่ซ่อมรถนั้นเป็นคนที่ชื่นชอบการแข่งรถ จึงได้ถ่ายทอดมาสู่ฮอนดะซึ่งเป็นช่างหนุ่มในร้าน และในเวลาต่อมาในเรื่องนี้ก็คือกิจกรรมหลักของค่ายฮอนด้าที่รู้จักกันดีทั่วโลก
ฮอนดะใช้เวลาว่างที่มีอยู่ในตอนกลางคืนสร้างรถแข่งคันแรกขึ้นมา รถคันนี้เกิดจากการที่เขาได้แก้และพัฒนาข้อบกพร่องจากรถแข่งคนอื่นๆ ที่เขาเฝ้าติดตามมาตลอดเวลา
เขาเชื่อว่า " รถสมบูรณ์แบบนั้นยังไม่มีในเวลานั้น " และเชื่อว่าเขาสามารถทำให้มันเกิดขึ้นได้ !
เขาลองใช้เครื่องยนต์เครื่องบินยี่ห้อเคอร์ติสไรท์ ซึ่งใช้ในวงการทหาร เครื่องยนต์ วี ๘ ขนาด ๘ ลิตร ให้กำลังสูงสุดเกือบ ๑๐๐ แรงม้า มีความเร็ว ๑,๔๐๐ รอบต่อนาที นอกจากเครื่องยนต์แล้วเขาทำทุกอย่างด้วยตนเอง รวมทั้งส่วนประกอบต่างๆ และซี่ล้อไม้ เมื่อเข้าแข่งก็ได้รับชัยชนะหลายครั้ง หลังจากทำงานกับร้านซ่อมรถยนต์นี้ได้ ๖ ปี เจ้าของก็เห็นแววจึงสนับสนุนให้เขาเปิดบริษัทเป็นของตนเองโดยอนุญาตให้ใช้ชื่่อบริษัทได้
นอกจากทุ่มเทให้กับงานประจำแล้ว ฮอนดะยังใช้เวลาว่างในการพัฒนารถแข่งตลอดเวลา ในการแข่งขันครั้งสำคัญคือ ออเจแปน สปีด แรลลี่ ที่ชานเมืองโตเกียวในเดือนกรกฏาคม ปี พ.ศ. ๒๔๗๙
ฮอนดะได้พัฒนาจนสามารถทำความเร็วได้ถึงชั่วโมงละ ๑๒๐ ไมล์ เกือบจะถึงเส้นชัยอยู่รอมร่ออยู่แล้ว แต่ก็ได้เกิดอุบัติเหตุขึ้นก่อน เขาบาดเจ็บสาหัสพร้อมกับน้องชายที่นั่งมาคู่กัน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับชัยชนะในครั้งนั้น แต่เขาได้รับรางวัลจากการทำสถิติความเร็ว
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เขาตั้งบริษัทใหม่ ชื่อ " โทไก เซกิ เฮฟวี่ อินดัสตรี " ( Tokai Seiki Heavy Industry ) เพื่อผลิตวงแหวนลูกสูบ แต่เขาไม่สามารถผลิตได้ดีถึงมาตรฐานทำให้กิจการย่ำแย่จนต้องจำนำทรัพย์สิน แต่เขาก็ยังไม่ยอมแพ้และในที่สุดเขาก็ตัดสินใจเข้าไปเรียนรู้ทฤษฎีในโรงเรียนมัธยมเทคโนโลยีฮามะมัตซึ ซึ่งเป็นโรงเรียนภาคค่ำ จนปรับปรุงวงแหวนลูกสูบให้ได้มาตรฐานได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาคิดว่าการศึกษาในโรงเรียนนั้นปราศจากคุณค่าใดๆ ทั้งสิ้น
เพราะมีความเชื่อว่า ทฤษฎีต่างๆ ที่เรียนกันอยู่นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่มนุษย์ประดิษฐ์มันขึ้นมาก่อนหน้าแล้วทั้งสิ้น !!!
ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ สงครามโลกครั้งที่ ๒ ในทวีปเอเชียได้ขยายพื้นที่จากจีนที่เป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ย่านแปซิฟิก กิจการของฮอนดะได้เจริญเติบโตขึ้นตามลำดับโดยส่งแหวนลูกสูบส่วนหนึ่งให้ " บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ " ซึ่งมีหุ้นในบริษัทเขาถึง ๔๐% นอกจากนั้นเขายังผลิตชิ้้นส่วนและเครื่องจักรต่างๆ ให้กองทัพเรือและบริษัทอื่นๆ อีกด้วย
ช่วงนี้เขาได้ผลิตเครื่องจักรทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ซึ่งการผลิตใช้เวลาเพียง ๓๐ นาทีเท่านั้น เขาจึงได้รับการชมเชยจากวงการทหารและหนังสือพิมพ์พากันยกย่องเขาว่าเป็น " วีรบุรุษอุตสาหกรรม "
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองใกล้ยุติโรงงานของฮอนดะซึ่งอยู่ใกล้สนามบินถูกระเบิด ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เกิดแผ่นดินไหว โรงงงานของเขาพังพินาศเกือบหมด พร้อมกับสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบ โดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม
เขาตกลงขายหุ้น บริษัท โทไก เซกิ ให้โตโยต้า มอเตอร์ทั้งหมด ได้เงินจำนวนหนึ่งมา เขาจึงคิดจะใช้ชีวิตสบายๆ สักพักหนึ่งก่อนว่าจะวางแผนที่ทำงานใหม่
ย้อนกลับไปในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ กำลังใกล้จะถึงจุดจบ ญี่ปุ่นนั้นขาดแคลนน้ำมันอย่างหนัก ทางผู้นำทางทหารได้พยายามที่จะหาอะไรต่ออะไรมาทดแทน และสิ่งหนึ่งก็คือการเอาน้ำมันสนมาใช้กับเครื่องบิน ในขณะนั้นถึงกับมีการเกณฑ์นักศึกษาเป็นพันๆ ไปขุดรากสนแต่ก็ไม่ได้ผลอะไร
เมื่อสงครามโลกสงบโดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายปราชัย มีการแบ่งปันน้ำมันกันโดยฮอนดะได้ลงทุนทำป่าสนและผลิตน้ำมันสนออกขาย แต่เขาเชี่ยวชาญเรื่องเครื่องยนต์มากกว่าจึงไม่ประสบความสำเร็จ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เขาได้ตั้งบริษัทสถาบันวิจัยทางวิชาการฮอนดะ
เป็นโครงการที่เขาเอาเครื่องยนต์เล็กๆ ที่กองทัพญี่ปุ่นเคยใช้มาแล้วมาติดกับจักรยาน เครื่องยนต์เหล่านั้นราคาถูกเมื่อเอามาติดกับรถสองล้อแล้วจึงขายได้ราคามากขึ้น เมื่อเครื่องยนต์หาซื้อไม่ได้แล้ว ฮอนดะจึงเริ่มผลิตขึ้นเอง
ปรัชญาในเรื่อง " ความจำเป็นคือต้นสายธารแห่งการค้นพบ " ได้บังเกิดผลกับเขาแล้ว
เพาะรถจักรยานติดเครื่องยนต์เล็กๆ นี้เองที่กลายเป็นของยอดนิยมเพราะช่วงนั้นญี่ปุ่นขาดแคลนอาหารอย่างหนัก ผู้คนในเมืองใหญ่ๆ ต้องเดินทางไปซื้ออาหารและพืชพันธุ์ในย่านเกษตรนอกตัวเมือง การใช้บริการรถไฟเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มากมาย
ดังนั้นจักรยานติดเครื่องยนต์จึงเป็นที่ต้องการอย่างมาก บรรดาพ่อค้ารถวิ่งพุ่งมาที่โรงงานของเขา ซึ่งเขาสามารถขายทั้งรถพร้อมกับน้ำมันสนได้อีกด้วย ดังนั้นเขาจึงเห็นลู่ทางที่จะผลิตจักรยานยนต์ขึ้นมา
แต่เขาถนัดกับเครื่องยนต์กลไกมากกว่า เรื่องการตลาดนั้นเขาจะต้องหาคู่ขามาร่วมมือด้วย เขาได้พบกับฟูจิซาว่าเป็นครั้งแรก และที่นั่นเองทั้งสองก็จับมือร่วมธุรกิจด้วยกัน เมื่อเขาเจอกันครั้งแรกฮอนดะได้บอกกับฟูจิซาว่าว่า ที่เขาเดินทางมาโตเกียวก็เพื่อหาเงินทุนดำเนินกิจการในโรงงานสร้างจักรยานยนต์ของเขา ฟูจิซาว่าก็ตอบไปสั้นๆ ว่า
" ผมไม่มีเงินนตอนนี้ แต่ผมจะหาเงินจำนวนที่คุณต้องการมาดำเนินงานได้ "
หลังจากที่สนทนากันเพียงไม่กี่ประโยคแต่มีเป้าหมายเดียวกัน ทั้งสองก็ตกลงใจร่วมงานกัน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ซึ่งไม่มีใครคิดว่าจะยิ่งใหญ่ในภายหลัง
ในเวลาต่อมา โลกทั้งโลกก็รู้จักคนที่ชื่อ โซอิจิโร่ ฮอนดะ และ ฟูจิซาว่า ในฐานะผู้ก่อตั้ง " ฮอนดะ มอเตอร์ " บริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์และผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก
สิ่งที่โซอิจิโร่ ฮอนดะ ทำมาตลอดชีวิตและทำให้ชีวิตของเขาประสบความสำเร็จก็คือ การค้นหาสิ่งที่ดีมากกว่าสิ่งที่มีอยู่แล้ว และเขาก็มุ่งมานะทำงานจนสำเร็จ !!!
เพราะจากรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์คันแรกเมื่อหลายสิบปีก่อนวันนี้บริษัทฮอนดะเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์และผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลกรายหนึ่งที่มีมูลค่าการตลาดนับเป็นแสนๆ ล้านดอลลาร์ในแต่ละปี
โซอิจิโร่ ฮอนดะ เสียชีวิตด้วยวัย ๘๔ ปี เมื่อวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๔ แต่เขาก็ได้รับการจารึกชื่อในทำเนียบปูชนียบุคคลยานยนต์โลก ( Auto Motive Hall of Fame ) ซึ่งนับเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้
โซอิจิโร่ ฮอนดะ เป็นอีกหนึ่งในหลายๆ ตัวอย่างที่ดีของคนญี่ปุ่นที่พยายามคิดค้นนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ออกมาจนเป็นเจ้าพ่อทางอุตสาหกรรมในวันนี้
By ปรัชญา ซามูไร
No comments:
Post a Comment