ประวัติศาสตร์ไทยโดยย่อ
คำว่า " ไทย " หมายถึง อิสระ ดังนั้นไทยแลนด์จึงหมายถึง " ดินแดนแห่งอิสรภาพ " ก่อนนี้ประเทศไทยมีชื่ออันเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกว่า " สยาม " ครั้นต่อมา เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ จึงได้มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการให้เปลี่ยนชื่อเป็น " ประเทศไทย " หรือ " Thailand " และนับแต่นั้นมาชื่อนี้ก็เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก
เมื่อตอนเป็นเด็ก ตำราเรียนที่โรงเรียนกล่าวว่าบรรพบุรุษของเรามีรกรากอยู่ทางภาคใต้ของจีน ซึ่งกำเนิดมาประมาณ ๔,๕๐๐ ปีมาแล้ว เนื่องจากถูกจีนรุกราน จึงอพยพลงมาทางใต้ผ่านพม่า เรื่อยลงมาถึงแหลมอินโดจีน และแล้ว " ไทยน้อย " ก็เริ่มก่อตั้งเมืองหลวงขึ้นที่สุโขทัย
ในขณะนี้ได้เกิดมีแนวความคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องถิ่นกำเนิดของไทยที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่การขุดค้นพบเครื่องมือและสิ่งประดิษฐ์หลายชิ้นที่บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานีในภาคอีสาน ทฤษฎีเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของไทยจึงเปลี่ยนไป ดูเหมือนว่าคนไทยอาจจะตั้งหลักแหล่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยนี้เอง และต่อมาก็กระจายไปทั่วทุกภาคของเอเชีย และแม้แต่บางส่วนของจีนเสียด้วยซ้ำไป
การโต้เถียงเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของคนไทยนี้ดูเหมือนว่าไม่มีท่าทีที่จะหาข้อสรุปที่แน่ชัดได้เพราะว่ามีหลายทฤษฎีที่เสนอเข้ามามากมาย และบางทฤษฎีก็กล่าวเลยไปถึงว่า เดิมทีเดียวคนไทยมีถิ่นกำเนิดจากชาวออสโทรนีเซีย มากกว่าที่จะเป็นชาวมองโกล แต่ไม่ว่าจะมีข้อโต้แย้งกันอย่างใดก็แล้วแต่ พอถึงศตวรรษที่ ๑๓ คนไทยก็ได้ตั้งหลักปักฐานในผืนแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรียบร้อยแล้ว โดยมีกรุงสุโขทัยเป็นอาณาจักรแห่งแรก ยุคสุโขทัยจัดเป็นช่วงระยะเวลาแห่งการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรมอันใหญ่หลวง ภายใต้การปกครองของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้ซึ่งปกครองระหว่างปี พ.ศ. ๑๘๑๘ ถึงปี พ.ศ.๑๘๕๘ อาณาจักรสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองมากในยุคนี้ ถึงกับมีคำกล่าวว่า " ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว " เนื่องจากอาณาจักรมีความเจริญรุ่งเรืองมาก จึงถือว่าเป็น " ยุคทอง " ในประวัติศาสตร์ชาติไทย
จนกระทั่งปี พ.ศ. ๑๘๙๓ ราชวงศ์ใหม่ นำโดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ( พระเจ้าอู่ทอง ) ได้ทรงโปรดให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่อยุทธยา และแล้วในปี พ.ศ. ๑๙๒๑ ในรัชสมัยของพระบรมราชาที่ ๑ กรุงสุโขทัยก็ถูกลดอำนาจลงเหลือเพียงแค่เป็นเมืองที่ต้องขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุทธยา อาณาจักรกรุงศรีอยุทธยารอดพ้นการสงครามกับพม่าหลายครั้ง ก่อนที่จะถูกพม่าตีแตกในปี พ.ศ. ๒๓๑๐
หลังจากความพ่ายแพ้ในครั้งนี้แล้ว คนไทยภายใต้การนำของพระเจ้าตากสินก็ถอยร่นลงใต้และโปรดสั่งสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่กรุงธนบุรี เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคต ในปี พ.ศ.๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงขึ้นเสด็จครองราชย์ต่อมา และทรงย้ายราชธานีข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งอยู่ในที่ตั้งปัจจุบัน โดยให้ชื่อว่า " กรุงเทพมหานครฯ " เพราะว่ากรุงธนบุรีเสี่ยงต่อการถูกพม่าโจมตีได้ง่าย พระองค์ทรงก่อตั้งราชวงศ์จักรี ซึ่งปกครองประเทศมาจนถึงปัจจุบันนี้
By Essays on Thailands
ว้าว
ReplyDelete