คนโบราณกล่าวว่า
" ทิ้งทรัพย์สมบัติเหลือคณา กลับถือกะลาไปขอทาน "
... และว่า
" คนจนรวยแล้วอย่าอวด เตาไฟบ้านใครไม่มีควัน "
คำต้นเตือนอย่ามองข้ามสิ่งที่ตนมี
คำหลังเตือนอย่าโอ้อวดสิ่งที่ตนมี
ควรที่ผู้รู้พึงระวัง
นิทัศน์อุทาหรณ์
คุณชายบ้านลู่กับขอทานวันหนึ่ง ภายในบ้านทางประตูตะวันออกของเมืองเติงานในมณฑลซานตง ดวงตะวันกำลังทอแสงแรงกล้าอยู่บนท้องฟ้า ชาวบ้านหลายครอบครัวสวมเสื้อบางกางเกงขาสั้น นั่งตากลมกันอยู่ที่ใต้ร่มไม้
ทันใดนั้น ก็ได้ยินเสียงเอะอะอึกทึกขึ้นข้างนอก ทุกคนจึงรีบวิ่งออกไปดูยังนอกถนน อ้าว ! นั่นคุณชายของบ้านเศรษฐีลู่ครอบครัวใหญ่ในเมืองนี่ ทำไมจึงมาหัดเป็นขอทาน สวมเสื้อปอขาดๆ ถือชามกะละมังเที่ยวขอข้าวชาวบ้านกิน ?
คนทั้งหลายจึงพากันวิพากษ์วิจารณ์กันว่า
" คุณชายบ้านลู่คนนี้เป็นคนเกียจคร้านเอาแต่กินแล้วก็นอน ไม่ยอมทำอะไรเลย กลัวว่าวันข้างหน้าจะอดตาย ก็เลยออกมาหัดเป็นขอทานหาความรู้ไว้ก่อน "
ในโลกนี้ก็มีคนโง่เขลาเบาปัญญา ที่เหยียบย่ำตัวเองแบบนี้อยู่ไม่น้อย ละทิ้งทรัพย์สมบัตินับไม่ถ้วนของตนโดยไม่นำออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ กลับมาเรียนเรื่องที่น่าอับอายขายหน้าเช่นนี้ !
เรื่องแปลกประหลาดมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง แต่ที่นี่ดูเหมือนจะมีมากกว่าที่อื่น ทางตะวันออกของเมืองเกิดมีคุณชายลู่ที่เหยียบย่ำตนเองทางใต้ของเมืองก็เกิดมีเรื่องพิศดารขึ้นมาเหมือนกัน
เรื่องของเรื่องก็คือ อาโก่วจื่อขอทานอยู่ทางใต้ของเมือง คืนวันหนึ่งเดินผ่านไปทางป่าช้าแห่งหนึ่ง มีถุงผ้าปอหล่นมาจากต้นไม้ถุงใบนี้หนักมากเมื่อเปิดออกดู เป็นทองคำเหลืองอร่ามอยู่เต็มถุงอาโก่วจื่อกลายเป็นเศรษฐีไปในชั่วเวลาเพียงคืนเดียว
หลังจากคืนวันนั้นมา อาโก่วจื่อก็วางท่าทางใหญ่โต ยัดทองจำนวนมากอยู่ในถุงยาว บ้างก็พาดไว้บนไหล่ บ้างก็คาดไว้ที่เอว โอ้อวดไปทุกแห่งหน ลืมความเป็นขอทานในอดีตของตนไปสิ้น
คนทางใต้ดูท่าทางยโสของอาโก่วจื่อแล้ว ก็ให้รู้สึกขัดนัยน์ตาเป็นอย่างยิ่ง จึงแต่งกลอนขึ้นด่าอาโก่วจื่อมีใจความว่า
ขอทานโชคช่วยเกิดรวยในชั่วคืน
พลันหลงลืมว่าตนเป็นใครมาก่อน
แบกทองไว้บนบ่า
ผูกท้องไว้ที่เอว
วิ่งจากทิศใต้จรดทิศตะวันออกถึงทิศเหนือ
วางท่ายโสโอหังโอ้อวดไปตลอดทาง
เจ้าขอทาน เจ้าขอทานเอ๋ย
คนโฉดเขลาเบาปัญญาอย่าได้ฝันเฟื่อง
เตาบ้านใครคนใหนที่ไม่มีควัน ?
แกมีทอง ใครบ้างที่ไม่มี ?
เขามีความรู้ แต่แกสิไม่มี !
คุณชายบ้านลู่กับขอทานอาโก่วจื่อ คนหนึ่งไม่รู้ว่าตนเองมี แต่อีกคนหนึ่งไม่รู้ว่าตนไม่มี คนหนึ่งดูหมิ่นตนเองต่ำเกินไป แต่อีกคนหนึ่งก็ตีค่าตัวเองสูงเกินไป
ควรจะรู้ความสำคัญของ " ความฉลาดในการรู้จักตนเอง " อย่าได้ตีค่าตนเองต่ำอย่างไม่ลืมหูลืมตา และก็ไม่ควรจะโอ้อวดเย่อหยิ่งทะนงคน เป็นคนประพฤติปฏิบัติดังนี้ ผู้ศึกษาเล่าเรียนยิ่งจะต้องเข้าใจตนเองเช่นนี้ อย่าได้ละทิ้งความรู้ที่ดี ไปเรียนเอาสิ่งที่ไม่ดีมา และก็ยิ่งไม่ควรพึงพอใจในความรู้แค่หางอึ่งของตน ไม่พยายามแสวงหาความก้าวหน้าอีกต่อไปอย่างไร้หัวคิด
By หงอิ้งหมิง สมัยราชวงศ์หมิง ( สายธารแห่งปัญญา )
No comments:
Post a Comment