Tuesday, February 04, 2014

อัพยากตปัญหาเกี่ยวกับการเกิดใหม่


อัพยากตปัญหาเกี่ยวกับการเกิดใหม่

          ปัญหาเกี่ยวกับ ชาติก่อน ชาติหน้า การกลับชาติมาเกิดยังเป็นคำถามเจ้าปัญหาที่มักจะได้ยินได้ฟังจากพุทธศาสนิกชนไม่น้อยที่ต้องการคำตอบตามสิ่งที่ตนยึดตนเชื่อว่า " ตายแล้วจะได้กลับมาเกิดใหม่หรือไม่ "

          คำถามเช่นนี้ หากจะมีใครทูลถามพระพุทธเจ้า คงจะไม่ได้รับคำตอบว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่ เพราะพระพุทธเจ้าองค์ทรงให้ความสำคัญเฉพาะคำถามที่นำไปสู่ความรู้แจ้งในสัจธรรม คำถามดังกล่าวจึงนับว่าไร้สาระ เป็น อัพยากตปัญหา ในมุมมองทางพุทธศาสนาที่ไม่สอดคล้องกับทฤษฎีแห่งปัจจัยที่อธิบายไว้ในวงจรปฏิจจสมุปบาท

          ท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งล่วงลับดับขันธ์ไปแล้วอธิบายไว้ว่าพระพุทธเจ้าทรงเลือกตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้จากการพิจารณาระดับความรู้ความเข้าใจในพุทธธรรมของผู้ต้องการคำตอบแต่ละคนแต่โดยความจริงแล้ว พระพุทธเจ้าไม่เคยตอบคำถามนี้โดยตรง ว่าชาติก่อน ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ แต่พระองค์จะทรงปล่อยให้เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับความเชื่อของผู้ถามเอง หากความเชื่อนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ในการที่จะละความชั่วเร่งประกอบความดีในชีวิตปัจจุบัน



         เมื่อพิจารณาในระดับโลกียธรรม ความเชื่อในเรื่องชาตินี้ ชาติหน้า ก็น่าจะมีประโยชน์และมีผลต่อตนเองและต่อสังคมส่วนรวมหากผู้ซึ่งเชื่อเร่งประกอบกรรมดีเผื่อจะได้ไม่ต้องไปใช้หนี้กรรมในชาติหน้าส่วนผู้ที่เชื่อว่าชาติหน้าไม่มี ความเชื่อที่ว่ามีเพียงชาตินี้ชาติเดียวก็อาจเป็นผลนำไปสู่การดำเนินชีวิตตามแบบสุขนิยม หลงผิดในอัตตา เห็นแก่ประโยชน์ตน และเบียดเบียนผู้อื่น อันเป็นการนำไปสู่ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมได้

         ท่านพระธรรมปิฎก เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ท่านกล่าวว่าความเชื่อว่าชาติหน้ามีจริง อาจช่วยให้มองเห็นกฎแห่งอนิจจังลักษณะทำให้มนุษย์ลดละความโลภ มองเห็นว่ามนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเป็นเพื่อนร่วมสังสารวัฏ มองเห็นสรรพสิ่งทั้งหลายล้วนอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อันจะก่อให้เกิดความรักความเมตตาในสังคม

         แต่หากพิจารณาในระดับโลกุตรธรรมหรือปรมัตถสัจจะ พุทธศาสนาปฏิเสธในเรื่องอัตตา สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนแต่แปรเปลี่ยนและเลื่อนไหลไปตามสายธารอันไม่มีที่สิ้นสุดแห่งอิทัปปัจยตาหรือปฏิจจสมุปบาท ทั้งนี้รวมทั้งจิตและความคิดของมนุษย์ ผู้ที่เชื่อว่าชาตินี้ชาติหน้ามีจริงก็ย่อมจะมีอัปทานยึดมั่นถือมั่นอยู่ในอัตตาย่อมอยู่ด้วยความโลภ อยู่ด้วยการเบียดเบียนข่มเหงรังแกผู้อื่น ส่วนผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ ปราศจาก "ตัวกู ของกู " ก็จะดำเนินชีวิตไปตามแนวทางที่ถูกที่ควร

         ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวย้ำว่า ความเชื่อเกี่ยวกับชาตินี้ชาติหน้าหรือการอวตารกลับชาติมาเกิด นับเป็นความเชื่อดั้งเดิมตามคำสอนของปรัชญาพระเวท ซึ่งมีมาก่อนกำเนิดพุทธศาสนา เป็นความเชื่อที่พระพุทธเจ้าทรงพยายามปรับแนวคำสอนที่จะพยายามรื้อความคิดความเชื่อดั้งเดิมให้คนหันมาเชื่อในเรื่องของอนัตตาแทน

          " ทรงเล็งเห็นว่า ก็เพราะมนุษย์นั้นมีความแตกต่างกัน พระองค์จึงทรงเลือกสอนตามระดับสติปัญญาของแต่ละคนแต่ละหมู่เหล่า ที่มีความสามารถเข้าใจในพุทธธรรมเกี่ยวกับเรื่องอนัตตาได้ไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้น การปล่อยให้คนบางคนเชื่อในเรื่องของการกลับชาติมาเกิด ก็อาจเป็นวิธีการสอนที่น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าที่จะทำให้เกิดโทษ นั่นคือ ความเห็นของท่านพุทธทาสภิกขุเกี่ยวกับวิธีการสอนของพระพุทธองค์ในเรื่องนี้

          อย่างไรก็ตาม คำถามเหล่านี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในหมู่ชาวพุทธที่ยังยึดมั่นอยู่กับอัตตาเกี่ยวกับการเกิดใหม่ของวญญาณอันเนื่องมาจากผลของการทำกรรมว่า หากวิญญาณในความหมายนี้ไปเกิดใหม่หลังความตาย วิญญาณของปุถุชนทั่วไปก็คงไปเกิดอยู่ตลอดไป ปัญหาที่ต้องถามต่อก็คือ แล้ววิญญาณเหล่านั้นจะไปสถิตอยู่ ณ ที่ใด และคำสอนเกี่ยวกับทฤษฎีอนัตตาจะมิพังทลายลงหรืออย่างไร หรือว่าพุทธศาสนาสอนเรื่องการเกิดใหม่ซึ่งค้านกับเรื่องของทฤษฎีวิญญาณที่เคยกล่าวไว้เพียงเพื่อจะประณีประนอมให้เข้ากันได้กับเรื่องกฎแห่งกรรม เพื่อประโยชน์ต่อการสอนศีลธรรมให้คนกระทำความดี ?

          หากเป็นเช่นนั้น แนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องวิญญาณในทางพุทธศาสนาย่อมไม่มีความแตกต่างจากความเชื่อที่เป็นสัสสตทิฏฐิในปรัชญาอุปนิษัท และถ้าสมมติฐานตั้งไว้นี้เป็นจริงคำอธิบายในลักษณะเช่นนี้จะเข้ากันได้กับปรัชญาพุทธที่ถือว่าเป็นมัชเฌนธรรมหรือ ? เป็นไปได้หรือไม่ที่อรรถกถาจารย์บางท่านนำเอาคำสอนทางพุทธศาสนาเกี่ยวกับเกิดใหม่มาอธิบายเพิ่มเติมภายหลัง เพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อเดิมในเรื่องอัตตาของปรัชญาอุปนิษัท เพื่อประโยชน์ในการสอนทางด้านศีลธรรมดังได้กล่าวมาแล้ว

          นี่คือคำถามของชาวพุทธที่เริ่มศึกษาพุทธธรรมต้องการฟังและรอคำตอบจากท่านผู้รู้ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวมีความสัมพันธ์กันระหว่างความเชื่อเกี่ยวกับทฤษฎีอนัตตากับทฤษฎีของวิญญาณ ดังนั้นเราควรมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดความคิดความเชื่อระหว่างของทางพุทธศาสนากับปรัชญาอุปนิษัทเสียก่อน คือ

          ปรัชญาพุทธสอนให้เชื่อว่า วิญญาณ ( Consciousness ) ก็เช่นเดียวกับสรรพสิ่งต่างๆ กล่าวคือ เป็นอนัตตา ไม่ใช่วิญญาณ ( Self  ) ที่เป็นอัตตาประเภทมีตัวตนที่จะล่องลอยไปหาที่เกิดในร่างใหม่ภายหลังความตายเหมือนกับที่สอนไว้ตามความเชื่อเดิมของคัมภีร์พระเวทในสมัยก่อนพุทธกาล หรือวิญญาณ ( Soul  ) ในศาสนาเทวนิยมในทางพุทธศาสนา วิญญาณเกิดเป็นภพเป็นชาติในลักษณะของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับลง อย่างรวดเร็วอยู่ทุกชั่วขณะ พิจารณาโดยธรรมแล้ว วิญญาณเกิดโดยการพึ่งพิงกันแห่งเหตุปัจจัยติดต่อกันเป็นกระแส เมื่อวิญญาณก่อนดับลง เจตสิกหรือสิ่งที่บรรจุอยู่ภายในเช่นพลังแห่งกรรมที่เคยก่อไว้ก็จะถูกส่งต่อไปยังวิญญาณปัจจุบัน วิญญาณเก่าและวิญญาณใหม่ไม่ใช่วิญญาณเดียวกัน แต่ก็ไม่แตกต่างกัน เหตุปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เป็นผลทำให้เกิดหน่วยของวิญญาณที่เลื่อนไหลติดต่อกันไปเป็นกระแสอย่างไม่ขาดสาย เมื่อคนเราตกอยู่ในภาวะภวังค์ เช่นกำลังนอนหลับสนิทปราศจากการฝัน วิญญาณจะลดระดับการทำงานลงสู่จิตใต้สำนึกที่เรียกว่า ภวังควิญญาณเป็นวิญญาณที่ตกอยู่ในสภาวะที่กำลังสะสมผลแห่งกรรมในการเกิดใหม่ภายหลังวิญญาณเก่าดับลง หมุนเวียนติดต่อกันอยู่ในวังวนแห่งวัฏสงสาร จนกว่าจิตจะเข้าสู่ภาวะแห่งนิพพาน จึงจะไม่มีการเกิดดับต่อไปภายหลังที่วิญญาณหลุดพ้นเป็นอิสระพ้นจากอาสวกิเลสตัณหาทั้งหลาย

          พุทธศาสนาสอนว่า วิญญาณของปุถุชน โดยธรรมชาติดั้งเดิมไม่มีความเป็นอิสระ เพราะผูกยึดอยู่กับเจตจำนงแห่งตัณหา อวิชชา วิญญาณจะเป็นอิสระได้ก็ด้วยการดับตัณหาเพื่อทำจิตให้หลุดพ้นจนหมดสิ้นไม่เหลือกซากเสียก่อน วิญญาณจึงจะบรรลุภาวะแห่งนิพพาน ดังเช่นพระอรหันต์เมื่อดับขันธ์ลง ร่างย่อมแตกสลาย สัญญา เวทนา และวิญญาณหยุดการเกิดดับ ดังนั้น นิพพานในทางพุทธศาสนาจึงหมายถึงภาวะที่ดับลงแห่งสังสารวัฏ

         ในการใช้คำว่า ตาย และ เกิด ในที่นี้น่าจะหมายถึงการเกิดดับของวิญญาณในทางอภิธรรม ไม่ใช่เป็นการสื่อความหมายตามที่เราเข้าใจกันในทางโลก อย่างไรก็ตาม ก็มีการใช้คำที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันอยู่เสมอโดยทั่วไป ทำให้คำสอนเกี่ยวกับเรื่องกรรมและการเกิดใหม่นี้ตกอยู่ในทางตันต่อการอธิบายตามหลักอนัตตา

         เนื่องจากปรัชญาพุทธยึดทางสายกลาง หลีกเลี่ยงความเชื่อที่เป็นสัสสตทิฏฐิของปรัชญาอุปนิษัทว่าตายแล้วเกิด และปฏิเสธทฤษฎีอุจเฉททิฏฐิของท่านอชิตเกสกัมพลที่อ้างว่าตายแล้วสูญ แต่การที่มีการสอนให้เชื่อในหลักแห่งกรรมที่ส่อแสดงเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจในลักษณะของการเวียนว่ายตายเกิดแบบมีชาตินี้ชาติหน้า ทำให้มีปัญหาและสร้างความสงสัยโดยเฉพาะในผู้ที่เริ่มศึกษาและมีความเข้าใจในเรื่องนี้ว่า หลักคำสอนดังกล่าวจะมิเป็นการขัดแย้งกันหรือ ? หลักอนัตตาที่ปฏิเสธความมีตัวตนกับกฎแห่งกรรมที่ดูเหมือนจะสอนให้เชื่อในเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิดจะไปกันได้อย่างไร ? เป็นไปได้หรือไม่ที่จะสอนเรื่องนี้โดยไม่ต้องอิงอาศัยความเชื่อในเรื่องของอัตตา ? หรือว่าพุทธศาสนานำเอาเรื่องกฎแห่งกรรมมาสอนในด้านศีลธรรมเพื่อให้คนเราเร่งทำความดี ?

         ก่อนที่เราจะได้ทำความเข้าใจในปัญหาเหล่านี้ ลองมาฟังความเห็นของสองนักปรัชญาตะวันตก เช่น เอมมานูเอล คานต์ นักปรัชญาชาวเยอรมัน ทีมีความเห็นเกี่ยวกับปัญหาการเกิดใหม่และปัญหาชีวิตหลังความตายไว้ดังนี้

        " อันเนื่องมาจากอุปาทานของคนเราที่ยังยึดมั่นอยู่ในเรื่องชีวิตหลังความตายว่าเป็นนิรันดร์ ทำให้เกิดความสงสัยว่าดวงวิญญาณจะมีการเกิดใหม่หรือไม่นั้น ข้าพเจ้ายังไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ นอกจากสันนิษฐานว่า การสอนในเรื่องชีวิตอมตะนั้น ก็เพื่อประโยชน์ในทางศีลธรรม "

         เช่นเดียวกันกับ ยัง พอล สาร์ต นักปรัชญาเอกซิสเตนเชียลิสมชาวฝรั่งเศส ที่ไม่เชื่อในความมีอัตตา และไม่เชื่อว่ามีการเกิดใหม่ภายหลังความตาย เขากล่าวว่า 

          " ชีวิตคนเรานั้นตายแล้วก็ขาดสูญ ดังนั้นการเกิดใหม่ของวิญญาณหลังความตายจึงเป็นไปไม่ได้ แต่ละชีวิตของคนเราเสร็จสมบูรณ์ด้วยตัวของมันเอง มันเป็นชีวิตที่เกิดมาโดยเฉพาะ ไม่มีการเริ่มใหม่อีก เกิดครั้งเดียว ตายครั้งเดียว "

         การที่สาร์ตกล่าวเช่นนั้น ก็เพราะว่า เขาไม่สามารถหาเหตุผลใดๆ มาอ้างว่า ชีวิตเมื่อตายลงจะมีการเกิดใหม่อีก การที่กล่าวว่ายังหาความกระจ่างไม่ได้ ดังนั้นทางพุทธศาสนา มุมมองของสาร์ตในเรื่องการเกิดใหม่จัดว่าเป็นอุจเฉททิฏฐิ ส่วนพระพุทธโฆษาจารย์ อธิบายเรื่องนี้ว่า

         " ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดดับอยู่ทุกชั่วขณะในชีวิตประจำวัน การเกิดดับดังกล่าวนี้อาจจะนำไปใช้อธิบายการเกิดดับของทางร่างกายในชีวิตนี้กับชีวิตหน้า เช่นเดียวกับที่การเกิดของวิญญาณปัจจุบันอันเป็นผลติดตามมาจากการดับของวิญญาณในอดีต "

          อย่างไรก็ตาม การอธิบายเช่นนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจน โดยเฉพาะในผู้ที่ศึกษาพุทธธรรมใหม่ๆ หรือแม้แต่พระหรือชาวพุทธส่วนใหญ่ก็ตาม จนกว่าจะได้มีศึกษาผลงานของท่านพระธรรมปิฎกที่อธิบายปัญหาดังกล่าวนี้ไว้ในหนังสือกฎแห่งกรรม ดังจะขอนำเอาเพียงบางส่วนมาอธิบายเพื่อให่พุทธศาสนิกชนได้ทำความเข้าใจกันต่อไป ดังนี้




By แก่นพุทธธรรม  

No comments:

Post a Comment