Friday, February 21, 2014

ปัจฉิมบท


ปัจฉิมบท

         ศาสนาคือผลิตผลของมนุษย์อันเนื่องมาจากความกลัว และเป็นความกลัวที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งอวิชชา ดังที่มีผู้กล่าวว่า " สัญลักษณ์ของการมีเทพเจ้า ครองใจคนมาตั้งแต่แรกที่โลกมนุษย์ " ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงพากันหาที่พึ่งพิง ในที่สุดเกิดความเชื่อในเรื่องพระเจ้าที่มนุษย์นั้นเองเป็นผู้สร้างคุณลักษณะของพระองค์ขึ้นมาเพื่อกราบไหว้บูชา จนในบางครั้งเกิดปัญหาความขัดแย้งทางความคิดขึ้นมาว่าพระเจ้าองค์ใดคือองค์ที่แท้จริง ความจริงแล้วเหล่าเทพบุตรเทพธิดาทั้งหลาย ก็คือสิ่งที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ ดังเช่น ชาวอินเดียในสมัยพุทธกาลเชื่อว่า มีพระพรหมดำรงเป็นองค์ประธานทรงมีอำนาจเหนือองค์เทวะทั้งหลาย พระองค์เป็นผู้สร้างโลกตลอดจนสร้างสรรพสิ่งในสากลพิภพ

         ตรงข้ามกับคำสอนในทางพุทธศานา ท่ามกลางความเชื่อดังกล่าว พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้มนุษย์หันกลับมาพึ่งพาตนเองโดยไม่ต้องยึดติดในพระเจ้าองค์ใด พระพุทธองค์ทรงถือว่าเหล่าเทพทั้งมวลก็เป็นเช่นเดียวกับสรรพสัตว์ทั้งหลาย จะมีความแตกต่างกันก็ด้วยภพด้วยภูมิ แต่ทั้งเทพและสรรพสัตว์ย่อมหนีไม่พ้นจากความไม่เที่ยงเป็นอนิจจัง

         ดังนั้น ผู้ที่เป็นชาวพุทธจึงควรหันมาทำความเข้าใจในหลักคำสอนทางพุทธศาสนา ซึ่งจัดเป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาปัญญาโดยการซักถามหาคำตอบด้วยความบริสุทธิ์ใจมากกว่าที่จะสอนให้เชื่อให้ศรัทธาแต่เพียงอย่างเดียว พุทธศาสนาสอนให้เรามีความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ร่วมกันเพราะพุทธศาสานถือว่า ความเมตตาที่พึงมีต่อกัน เป็นสิ่งจำเป็นทีอยู่เหนือสิ่งอื่น พุทธศาสนาเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ในการที่จะบรรลุวัตถุธรรมและคุณธรรมทางด้านจิตวิญญาณได้ด้วยบูรณการทางความคิดที่เป็นอิสระต่อความเชื่อความศรัทธาทั้งหลาย ไม่เพียงแต่พากันนับถือพุทธศาสนาด้วยการติดยึดอยู่ในนตัวบุคคล พากันหลงใหลกราบไหว้บูชาอยู่เฉพาะกับพระบางรูปองค์ตามกระแสนิยม เพราะการยึดมั่นถือมั่นเช่นนั้น มีแต่จะทำให้การดำรงชีวิตผิดและเบี่ยงเบนไปจากหลักคำสอนของพระพุทธองค์



         ดังได้กล่าวมาแล้วในอารัมภกถาของบทแรกในหนังสือเล่มนี้ว่า พุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองหรือเสื่อมโทรมลง ก็เนื่องด้วยความร่วมมือของชาวพุทธทั้งหลาย ที่จะพากันตรวจสอบว่า หลักการสอนและวิธีปฏิบัติในแหล่งสำนักต่างๆ นั้น เข้ากันได้กับพระธรรมวินัยหรือไม่ทั้งนี้ก็ด้วยการพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุผลด้วยใจเป็นกลาง โดยไม่ยึดติดหลงเชื่อไว้ก่อนว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด เพราะว่าความหลงเชื่อด้วยศรัทธามืดบอด ปราศจากการพิจารณาหาเหตุผลด้วยตนเองนั้น ทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นการปิดกั้นต่อพัฒนาการทางปัญญา

          อย่างไรก็ตาม เราชาวพุทธก็ต้องยอมรับว่า การแสดงหลักธรรมคำสอนทางศาสนา รวมทั้งการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนั้นย่อมมีความแตกต่างกันไปธรรมดาในทุกศาสนาใหญ่ๆ รวมทั้งในพุทธศาสนาที่พวกเราพากันนับถืออยู่นี้ด้วย การเทศนาแสดงธรรมโดยพระบางท่านบางองค์ที่เน้นอธิบายตามภูมิปัญญาบนฐานความเชื่อเดิมที่ท่านเคยรู้เคยเรียนมานั้น ทางที่ดีในการตัดสินว่าควรเชื่อหรือไม่เชื่อก็คือ ลองนำมาใคร่ครวญด้วยตนเองตามหลักกาลามสูตร ภายหลังจากที่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนที่แท้จริง จนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน หากเกิดความสงสัยหรือไม่แน่ใจ ก็ควรหาเวลาไปสนทนาธรรมรับฟังคำชี้แนะจากผู้ทรงศีลที่มีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัย ขอกราบนมัสการมายังท่านเหล่านั้นที่ยังเป็นเสาหลักให้กับพุทธศาสนา หากไม่มีพระคุณเจ้าเหล่านี้แล้วพุทธศาสนาคงไม่สามารถที่จะเจริญรุ่งเรืองยั่งยืนได้ดังที่แล้วมา เราชาวพุทธขอน้อมนมัสการด้วยศัรทธาอันแรงกล้า และขอสนับสนุนให้คณะสงฆ์เหล่านี้ได้ดำเนินการเผยแผ่พระธรรมวินัย เพื่อให้เหล่ามนุษย์ชาติสามารถที่จะนำชีวิตไปสู่ความสมบูรณ์ในอุดมคติตามเป้าหมายสูงสุดทางพุทธศาสนาได้ตามสมควรแห่งภูมิปัญญาของแต่ละคนต่อไป

          พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่พระอุบาลีก่อนที่ทรงดับขันธปรินิพพาน เกี่ยวกับเกณฑ์การตัดสินหลักพระธรรมวินัยที่แท้จริงไว้ดังนี้

          " ธรรมใด เมื่อนำไปประพฤติปฏิบัติแล้วเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นจากสิ่งเย้ายวนแห่งกิเลสกาม หลุดพ้นจากการยึดมั่นถือมั่น เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เพื่อความสงบ สันติ มีปัญญารู้แจ้งในสัจธรรมแห่งนิพพาน สิ่งนั้นถือว่าเป็นพุทธธรรม ไม่ว่าจะเรียกชื่อขานธรรมนั้นว่าอย่างใดก็ตาม หากเป็นไปเพื่อพรหมจรรย์ สิ่งเสริมให้เกิดปัญญา เป็นไปเพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และเมื่อนำมาประพฤติปฏิบัติแล้วก่อให้เกิดความสงบสุข สิ่งนั้นคือพุทธธรรมที่แท้จริง "

         เนื่องจากพุทธศาสนามีทัศนคติว่า ปรากฏการณ์ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่สัมผัสได้หรือไม่ก็ตาม ย่อมเกิดขึ้นเนื่องจากเหตุปัจจัยสรรพสิ่งทั้งหลายต่างดำเนินไปภายใต้กฎแห่งเหตุปัจจัยเป็นสังขตธรรมที่เกิดจากการปรุงแต่งกันขึ้นมา ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นได้เองหรือตั้งอยู่อย่างเป็นอิสระโดยลำพัง เมื่อพิจารณาตามหลักแห่งพุทธธรรมข้อนี้ย่อมสรุปได้ว่า " ภาวะสมบูรณ์ " ย่อมไม่มีอยู่จริงตามความเชื่อของศาสนาอื่นๆ ดังนั้น เราชาวพุทธจึงควรที่จะได้พินิจพิจารณาคำสอนต่างๆ ที่พุทธศาสนาได้มีการอธิบายไว้เป็นสองภาษาสองระดับ คือ การใช้ " ภาษาคน " กับ " ภาษาธรรม " ในระดับโลกิยะเพื่อจรรโลงศีลธรรมอันดีงาม ในอันที่จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติเพื่อประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า กับอีกระดับหนึ่งที่ใช้ " ภาษาธรรม " ในระดับโลกุตระ เพื่อความรู้แจ้งแห่งปัญญา

        ยกตัวอย่างเช่น การสอนในเรื่อง นรก สวรรค์ และ วัฏสงสาร หรือการเวียนว่ายตายเกิด ดังที่เราเข้าใจกันโดยทั่วไปนั้น ในระดับศีลธรรม สอนให้เชื่อว่ามีการเวียนว่ายตายเกิดติดต่อกันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดมาตั้งแต่ชาติก่อน ชาตินี้ ไปจนถึงชาติหน้า ชีวิตในชาติปัจจุบันไม่ใช่ว่าจะเกิดแต่เพียงครั้งเดียวตายแล้วก็จบสิ้นกันไป นั่นคือการแสดงธรรมใน " ภาษาคน " แต่ตาม " ภาษาธรรม " แล้ว ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวว่า สวรรค์อยู่ในอกนรกอยู่ในใจ รวมทั้งการเวียนว่ายตายเกิด ก็เป็นเพียงสภาวะของจิตที่ตกอยู่ภายใต้ความยึดมั่นถือมั่นแห่งการมีตัวตน ที่เรียกว่า อัตตวาทุปาทานดังนั้นผู้ที่อยู่เหนือแนวความคิดของการเกิดใหม่ ย่อมไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องสะสมบุญ ( อันเจือด้วยกิเลส ) ไว้สำหรับชาติหน้า แต่ควรทำกรรมดีเพื่อความดีในชาตินี้จึงจะได้ชื่อว่าไม่เป็นการหนีโลก แต่เป็นการค้ำจุนโลก ทั้งนี้เพื่อเราชาวพุทธจะได้มีโอกาสบรรลุกระแสแห่งนิพพานได้ในชีวิตนี้เอง การอธิบายหลักธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุในลักษณะดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในคำสอนทางพุทธศาสนาไปในลักษณะที่สอดคล้องเข้ากันได้กับทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ดังที่ไอน์สไตร์ เคยแสดงความเห็นไว้ในหนังสือ " ความคิด และ ความเห็น " เกี่ยวกับพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์เมื่อหลายทศวรรษมาแล้ว

          การสอนพุทธศาสนาโดยการใช้ " ภาษาคน " แม้ว่าเป็นไปเพื่อประเทืองศีลธรรม ส่งเสริมให้คนละเว้นความชั่ว กระทำความดี แต่ก็อาจเป็นอุบายหลอกให้ผู้ปฏิบัติที่ไม่ได้ใช้ปัญญา หลงทำบุญบริจาคเงินทองให้กับพระเพื่อที่จะจับจองที่บนสวรรค์ เพราะชาวบ้านถูกสอนให้เชื่อว่าพระเท่านั้นที่เป็นเนื้อนาบุญ ดังนั้นการทำบุญกับพระจึงน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการปูทางไปสู่ความสุขทั้งในชีวิตนี้และชีวิตหน้า ด้วยชาวพุทธส่วนใหญ่พากันเชื่อและศรัทธาต่อผู้ทรงศีลเหล่านั้นว่า คงจะได้นำเงินจากการทำบุญบริจาคไปใช้เพื่อการกุศลความเชื่อเหล่าเช่นนี้ เปิดโอกาสให้พระภิกษุบางรูปพร้อมกับลูกศิษย์ลูกหารวมทั้งมูลนิธิและกองทุนในพุทธศาสนามีทรัพย์สินร่ำรวยมหาศาลดังข่าวที่ปรากฎเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลในการบริหารจัดการเรืองเงินๆ ทองๆ ของมูลนิธิทางพุทธศาสนาบางแห่ง จนมีผู้เป็นห่วงต่อศรัทธาในพุทธศาสนา เขียนบทความถามว่า ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลย่าจะได้เข้าไปบริหารจัดการกับทรัพย์สินของวัดวาอารามทั่วประเทศ ก่อนที่ปัญหาเหล่านี้จะโผล่ขึ้นมาตามศูนย์ปฏิบัติธรรมต่างๆ ของพระดังๆ ที่ชาวบ้านพากันหลงใหลใฝ่ทำบุญ ? เพราะพระเช่นเดียวกับปุถุชนคนธรรมดา ยังคงมี โลภ โกรธ หลง ตราบที่ ท่านยังไม่บรรลุเข้าสู่กระแสแห่งนิพพานเป็นอริยบุคคล ยิ่งการบริหารการเงินของคณะสงฆ์ยังคงเป็นระบบปิดอยู่อย่างเช่นในปัจจุบันย่อมเป็นหนทางนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่ผิดแผกไปจากพระธรรมวินัยได้ พระพุทธองค์ทรงสอนว่า การทำบุญให้ทานที่เป็นไปเพื่อเพิ่มกิเลสตัณหาให้กับตนเองย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เท่ากับการลดละความโลภโกรธหลงลงเสียได้

         กลับมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสังสารวัฏอีกต่อไป ในบางอรรถกถาบาลีที่มีการแสดงไว้เป็น " ภาษาธรรม " เช่นในคัมภีร์พระอภิธรรม อธิบายถึงวัฏสงสารหรือกรเวียนว่ายตายเกิดว่า เป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการเกิดดับของวิญญาณหรือของจิตซึ่งมีท่านผู้รู้ เช่น สมเด็จพระสังฆราช กรมพระวชิรญาณวงศ์แห่งวัดบวรนิเวศ และท่านพุทธทาสภิกขุ ทรงมีและมีความเห็นว่าปฏิจจสมุปบาทและสังสารวัฏไม่ใช่เรื่องของการอธิบายข้ามภพข้ามชาติแบบปรัชญาพราหมณ์ ( ดังที่พระพุทธโฆษาจารย์ได้เคยอธิบายไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ) แต่คือกระแสแห่งประสบการณ์ที่เกิดขึ้นภายในกระบวนการรับรู้ทางอารมณ์ กระบวนการของปฏิจจสมุปบาทและสังสารวัฏ หมายถึงการเกิดดับอยู่ทุกชั่วขณะในภูมิต่างๆ แห่งความนึกคิดจากประสบการณ์ทางจิต ดังนั้นการอธิบายในเรื่องสังสารวัฏในลักษณะเช่นนี้ ย่อมทำให้เราเข้าใจอีกแง่มุมหนึ่งว่า แท้ที่จริงก็คือภาวะแห่งการเกิดดับของวิญญาณในประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ดังที่ได้อธิบายไว้ในบทของปรัชญาเถรวาทว่าด้วยเรื่องวิญญาณ

         พระธรรมคำสอนในพุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญา หากจะเป็นก็คงเป็นปรัชญาแห่งชีวิต ที่มีไว้เพื่อการค้นหาและทำความเข้าใจในคุณค่าแห่งสัจธรรมต่อการดำเนินชีวิตที่ถูกที่ควร มากกว่าที่จะเป็นเพียงการนำพระพุทธรูปมาเป็นเครื่องหมายในการกราบไหว้บูชาในฐานะพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์

          เพื่อความกระจ่างต่อการศึกษาหาความรู้ความเข้าใจของนักศึกษษทั่วไป และสำหรับปัญญาชนคนรุ่นใหม่ ที่สนใจในการศึกษาพุทธธรรม ผู้เขียนได้พยายามเรียบเรียงต่อละหัวข้อ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายไม่เป็นวิชาการ และพยายามมุ่งเข้าถึงประเด็นของปัญหา โดยแบ่งหนังสือออกเป็น ๖ ตอน ตอนที่หนึ่ง เป็นอารัมภบทเกี่ยวกับปัญหาทางพุทธศาสนาในมุมมองของคนทั่วไปในปัจจุบัน ตอนที่สอง เป็นภาพรวมว่าด้วยเรื่องความหมายคุณสมบัติ องค์ประกอบของศาสนาต่างๆ รวมทั้งของพุทธศาสนา และคุณลักษณะทางความคิดของชาวพุทธ ตอนที่สาม เป็นภาคทฤษฎีว่าด้วยเรื่องธรรมที่เป็นกลาง โดยเฉพาะเกี่ยวกับวงจรปฏิจจสมุปบาท ตอนที่สี่ ว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทา หรือหลักการปฏิบัติในการดำเนินชีวิตตามทางสายกลาง และที่เกี่ยวกับการบำเพ็ญสมธิภาวนาและวิปัสสนาภาวนาเพื่อฝึกจิตให้สงบ มีปัญญารู้แจ้งในกระบวนธรรมทั้งหลายภายใต้แนวทางแห่งมรรค ๘ ที่เรารู้จักในนามว่า ไตรสิกขา ตอนที่ห้า กล่าวถึงปรัชญาเถรวาทเกี่ยวกับหลักอนัตตาและแนวคิดว่าด้วยเรื่องวิญญาณ ตอนที่หก เรื่องกฏแห่งกรรม ภาวะแห่งนิพพาน และอัพยากตปัญหาว่าด้วยเรื่องนรก สวรรค์ ชาติหน้า และชีวิตหลังความตาย ต่อด้วยบทส่งท้ายที่สรุปและวิจารณ์เกี่ยวกับหลักคำสอนและหลักความเชื่อทางพุทธศาสนา

         " แก่นพุทธธรรม " เป็นสัญลักษณ์ทางคำสอนในพุทธศาสนาที่จัดว่าเป็น " อกาลิโก " ที่ผู้เขียนได้ตัดต่อว่ารวบรวมและเรียบเรียงจากพุทธวรรณกรรมที่แต่งโดยเอตทัคคะทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านพระธรรมปฎก ( ป.อ. ปยตฺโต ) ดังนั้น " แก่นพุทธธรรม " จึงเสมอเสมือนพระธรรมคำสอนที่เปล่งจากพระโอษฐ์ของพระพุทธองค์ ที่ผู้อ่านสามารถเลือกทำความเข้าใจในแต่ละเรื่องแต่ละตอนที่ปรากฎ อยู่ในบทต่างๆ ได้ด้วยเนื้อหาที่มีความสมบูรณ์ชัดเจนอยู่ในตัวของมันเอง

         เนื่องจากพุทธธรรมเป็นคำสอนที่มีผู้ให้ความเคารพนับถือและมอบความศรัทธาต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลานานกว่าสองพันปี เคยมีการเปรียบเทียบคำสอนระหว่างชาวคริสต์กับพุทธไว้ว่า คัมภีร์ไบเบิลสอนให้คนรุ่นหนุ่มสาวแสวงหาหนทางเพื่อทีจะควบคุมเปลี่ยนแปลงโลกทางด้านวัตถุ ส่วนพุทธธรรมสอนให้ผู้สูงอายุมุ่งแสวงหาปัญญา แสงวหาความสงบในโลกทางจิตวิญญาณ สอนให้มีขันติธรรม กล่าวคือมีความอดทนอดกลั้น จะจริงอย่างที่กล่าวหรือไม่ผู้อ่านสามารถติดตามได้จากเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้

        ในบทที่กล่าวถึงมัชเฌนธรรมหรือธรรมที่เป็นกลาง พุทธศาสนาปฏิเสธทั้งอุจเฉททิฏฐิ ที่เชื่อว่าตายแล้วขาดสูญ กับ สัสสติทิฏฐิความเห็นว่าอัตตาและโลกเที่ยงยั่งยืนตลอดไป แต่ปรัชญาพุทธมุ่งเน้นในทฤษฎีอนัตตาคือความไม่มีตัวตน ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากปรัชญาอินเดียอื่นๆ ที่สอนให้เชื่อในเรื่องอัตตาหรืออาตมันนอกจากทฤษฎีอนัตตาแล้ว ท่านผู้อ่านยังจะได้ศึกษาแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องวิญญาณในทางพุทธศาสนา อธิบายเปรียบเทียบกับปรัชญาเอกซิสเตนเชียลิสมของ ยัง พอล สาร์ต ซึ่งมีความเห็นในเรื่องวิญญาณค่อนข้างคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับปรัชญาพุทธที่สัมพันธ์กับกฎแห่งกรรม นอกจากนี้ยังรวมเอาพุทธธรรมภาคทฤษฎี เช่น ธรรมนิยาม ขันธ์ ๕ ไตรลักษณ์ และ อริยสัจ ๔ มาอธิบายไว้ในบทนี้ด้วย

         ในบทที่ว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติตามทางสายกลาง ซึ่งถือว่าเป็นจริยศาสตร์แนวพุทธที่มีความสัมพันธ์กับมัชเฌนธรรมเรื่องอริยสัจ ๔ เพื่อให้เรานำมาปฏิบัติหาวิธีดับทุกข์ ซึ่งพุทธศาสนาสอนว่า การดับแห่งทุกข์ไม่ใช่จะบรรลุได้ด้วยการรู้แจ้งในทางทฤษฎี แต่จะต้องลงมือปฏิบัตินำมาประพฤติให้บังเกิดผล เพราะแนวทางในการที่จะบรรลุมรรคผลแห่งนิพพานได้นั้น จะต้องดำเนินชีวิตให้เป็นไปตามทางสายกลาง ที่สอนให้หลีกเลี่ยงความสุดโต่งสองประการคือ กามสุขัลลิกานุโยค การหมกมุ่นอยู่ในกามสุข กับ อัตตกิลมถานุโยค การประกอบความลำบาก สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง

          หลักปฏิบัติทางด้านพุทธจริยศาสตร์ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทานี้ประกอบด้วยแนวทาง ๘ ประการ ที่เรารู้จักในนามว่า มรรค ๘ ที่ประกอบด้วยการปฏิบัติ ๘ อย่าง โดย ๓ อย่างแรกคือ การปฏิบัติทางด้านศีล กล่าวคือมี สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และ สัมมาอาชีวะ โดยผู้ปฏิบัติจะต้องมีความเพียบพร้อมสมบูรณ์เกี่ยวกับกายและวาจาตามแนวทางทั้งสามนี้ให้ได้เสียก่อน จึงจะสามารถก้าวไปสู่การปฏิบัติสมาธิภาวนาเพื่อพัฒนาจิตใจให้มีสุขภาพ คุณภาพ และสมรรถภาพที่ดี ก่อนที่จะปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาเพื่อพัฒนาปัญญาต่อไป

         ในอีกส่วนหนึ่งของบทนี้ เป็นการอธิบายวิธีปฏิบัติสมาธิภาวนาเพื่อพัฒนาคุณภาพทางด้านจิตวิญญาณ ภายหลังจากที่ประพฤติปฏิบัติให้กายและวาจาอยู่ใน " ศีล " ตามมรรคทั้งสามคือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะโดยสมบูรณ์แล้ว จึงจะนำเข้าสู่การปฏิบัติธรรมโดยกรทำ " สมาธิ " เพื่อยกระดับจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในความสงบ ภายใต้แนวทาง ๓ ประการ คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ จากนั้นจึงจะก้าวเข้าสู่การบำเพ็ญสมาธิวิปัสสนาเพ่งพินิจพิจารณา กาย เวทนาจิต ธรรม ภายใต้ ๒ แนวทางคือ สัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ เพื่อให้เกิด " ปัญญา " สามารถรู้แจ้งและเห็นตามความเป็นจริงแห่งสัจธรรม

          อนึ่ง เนื่องจากคำสอนในเรื่อง กฎแห่งกรรมในทางพุทธศาสนามีความสัมพันธ์กันระหว่างทฤษฎีความรู้ในปัชญาพุทธกับทางด้านศีลธรรมจริยธรรม ดังนั้นในหนังสือเล่มนี้ จึงนำเอาเรื่องกฎแห่งกรรมมาอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ค่อนข้างละเอียดพอสมควรเพราะเป็นเรื่องที่มีผู้ให้ความสนใจ และเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่เสมอในหมู่ชาวพุทธที่มักจะมีความเข้าใจสับสนนำเอาเรื่อง กรรมและผลของกรรม ( วิบาก ) ตามแนวความคิดในทางพุทธศาสนาไปปะปนกับ กรรม และ วิบาก ตามความเชื่อของปรัชญาอินเดียโบราณ ๓ ชนิด คือ

          ๑. ทฤษฎีกรรมเก่า ที่เชื่อว่า วิบากกรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นผลมาจากกรรมเก่าที่ทำไว้เมื่อชาติก่อน

          ๒. ทฤษฎีพรหมบันดาล ที่เชื่อว่า ความสุขความทุกข์ทั้งหลายที่ตนเองได้รับเกิดจากอำนาจในการดลบันดาลของพระเจ้าที่สถิตอยู่เบื้องบน

          ๓. ทฤษฎีอเหตุวาท ปรัชญาอินเดียโบราณอีกอย่างหนึ่งที่สอนว่า ความสุขความทุกข์ที่คนเราประสบ เกิดขึ้นเองตามโชคตามเคราะห์โดยไม่มี " เหตุ " มาดลบันดาล

          ปรัชญาความเชื่อแบบอินเดียโบราณทั้งสามที่สอดแทรกปะปนอยู่กับเรื่องกฎแห่งกรรมของทางพุทธศาสนาเหล่านี้ พระพุทธเจ้าทรงจัดว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ที่เราชาวพุทธควรต้องระมัดระวังในการที่จะเชื่อ และควรขจัดคัดแยกออกจากคำสอนทางด้านศีลธรรมจริยธรรมตามกฎแห่งกรรมทางพุทธศาสนา

          ความเชื่อ ความศรัทธา เป็นสิ่งที่บ่งบอกระดับภูมิปัญญาของแต่ละบุคคล การศึกษาและการทำความเข้าใจในคำสอนทางพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดความกระจ่างด้วยสัมมาทิฏฐิ คือเป้าหมายที่ผู้เรียบเรียงหนังสือ " แก่นพุทธธรรม " คาดหวังที่จะให้ท่านผู้อ่านโดยเฉพาะสำหรับนักเรียนนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ มีโอกาสทำความเข้าใจในคำสอนทางพุทธศาสนาได้ดียิ่งขึ้น โดยมีให้เลือกอ่านทั้งในภาคภาษาอังกฤษและภาคภาษาไทย ทั้งนี้เพื่อความหลุดพ้น จากอวิชชา ภยาคติ และ กิเลสตัณหาทั้งหลาย พุทธศาสนาสอนว่า การทำความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้อง คือการสร้างปัญญา อันถือว่าเป็นคุณสมบัติของผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง เพราะความรู้ที่ตั้งอยู่บนฐานของปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องปรับปรุงพัฒนาตนเองเพื่อนำพาชีวิตไปสู่ความสุขอันประณีตได้ ดังที่ โสคราตีส นักปรัชญากรีก กล่าวไว้เมื่อกว่าสองพันปีมาแล้วว่า " ชีวิตที่ปราศจากการตรวจสอบ ปรับปรุงตนเอง เป็นชีวิตที่ไร้ค่า "





By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment