Friday, November 08, 2013

คู่มือมนุษย์ ( ๘ )


คู่มือมนุษย์ ( ๘ )
การทำให้รู้แจ้งตามหลักวิชา

            วิธีที่จะทำความเห็นแจ้งให้เกิดขึ้นตามหลักวิชานั้น แม้ไม่อยู่ในรูปพระพุทธภาษิต เพราะเป็นสิ่งที่โบราณาจารย์จัดขึ้นในยุคหลังก็เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ปฏิบัติที่มีอุปนิสัยอ่อน ยังไม่อาจมองเห็นทุกข์ตามธรรมชาติด้วยตนเอง แต่มิได้หมายความว่า วิธีนี้จะวิเศษไปกว่าวิธีเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะตามพระไตรปิฎกมีกล่าวถึงวิธีที่เป็นไปตามธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีบางสิ่งชวนให้เห็นว่า นั่นเป็นเรื่องสำคัญสำหรับบุคคลที่มีบุญบารมีหรืออุปนิสัยสร้างมาพอสมควรแล้ว โดยเหตุนี้ท่านจึงได้วางระเบียบปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีอุปนิสัยอ่อน เพื่อให้เป็นการเร่งรัดกันอย่างรัดกุมเป็นระเบียบไปตั้งแต่ต้น

            ระเบียบปฏิบัติที่ตั้งขึ้นใหม่นี้เรียกว่า " วิปัสสนาธุระ " เพื่อให้ป็นคู่กับ " คันถธุระ " วิปัสสนาธุระเป็นการเรียนจากภายใน คืออบรมจิตโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับตำรา ส่วนคันถธุระ เป็นการเรียนตามตำราหรือคัมภีร์โดยตรง คำ ๒ คำนี้ไม่มีในพระไตรปิฎก เพิ่งปรากฏในหนังสือชั้นหลังๆ ยุคอรรถกถา

           คำว่า วิปัสสนาธุระ กินความรวบทั้งหมดทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา คือหมายถึงทั้งการทำสมาธิและการทำปัญญา ยิ่งกว่านั้นยังได้รวบเอาบทฐานของสมาธิ คือ ศีลเข้าไว้ด้วย

            หัวข้อแห่งการศึกษา เพื่อให้เข้าใจการปฏิบัติวิปัสสนา คือ

           (๑) อะไรเป็นบทฐานที่ตั้ง ที่อาศัยของวิปัสสนา

           (๒) อะไรเป็นเครื่องกำหนดสำหรับวิปัสสนา

           (๓) อะไรเป็นลักษณะเครื่องสังเกตว่าเป็นตัววิปัสสนา

           (๔) อะไรเป็นกิจหรือตัวการกระทำที่เรียกว่าวิปัสสนา

           (๕) อะไรเป็นผลสุดท้ายของวิปัสสนา



           ที่ตั้งอาศัยของวิปัสสนา คือ ศีลกับสมาธิ เพราะวิปัสสนาจะเกิดขึ้นได้ ก็ในเมื่อมีปีติปราโมทย์ ข้อนี้ศีลช่วยได้ถึงที่สุด ศีลเปรียบเหมือนแผ่นดินที่ยืนของผู้ต้องการตัดป่าคือกิเลส ส่วนกำลังเรี่ยวแรงที่จะตัดเปรียบเหมือนสมาธิ สำหรับปัญญาหรือญาณซึ่งเป็นตัววิปัสสนาก็คือของมีคมสำหรับตัดหรือการตัด เพราะความเห็นแจ้งย่อมตัดความมืดบอดคืออวิชชา โดยเหตุนี้ศีลจึงจัดเป็นที่ตั้งอาศัยของวิปัสสนา

           ตามบาลีมีกล่าวถึงความบริสุทธิ์ของการปฏิบัติ ๗ อย่าง ที่ส่งทยอยกันจนบรรลุมรรคผลในที่สุด ก็ได้ยกเอาศีลขึ้นเป็นข้อแรก เรียกว่า สีลวิสุทธิ ซึ่งส่งให้เกิดจิตตวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิและญาณทัสสนวิสุทธิ ตามลำดับ เปรียบเหมือนการเดินทางของพระราชา ซึ่งต้องใช้รถ ๗ ผลัด ผลัดแรกที่สุดได้แก่สีลวิสุทธิความหมดจดแห่งศีล ฉะนั้นศีลจึงนับเข้าในเรื่องของวิปัสสนาด้วยอย่างที่แยกกันไม่ได้

           ศีล หมายถึง " ความปกติ " ได้แก่การรักษาความปกติ ไม่ให้เกิดโทษทางกายวาจา เมื่อกายวาจาสงบเป็นปกติ ความปกติเป็นความเหมาะสมในทางจิตก็เกิดขึ้นเรียกว่า จิตตวิสุทธิ ความหมดจดทางจิตได้แก่จิตที่มีสภาพเป็น กมฺมนีโย เหมาะสมที่จะปฏิบัติงานทางจิต

          สีลวิสุทธิ กับจิตตวิสุทธิ จัดเป็นปากทางของวิปัสสนาอีก ๕ อย่างข้างปลายเป็นตัววิปัสสนา คือ ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ และญาณทัสสนวิสุทธิ

           ตัววิปัสสนาที่ ๑ ทิฏฐิวิสุทธิ คือความหมดจดแห่งทิฏฐิ หมายถึงหมดจดจากความเห็นผิด ที่เคยเห็นผิดอยู่ตามธรรมดา หรือตามการแวดล้อม นับตั้งแต่ความเชื่องมงายไร้เหตุผลในเรื่องไสยศาสตร์ จนถึงเรื่องการเข้าใจผิดในธรรมชาติเกี่ยวกับร่างกายจิตใจวิญญาณเหล่านี้เป็นต้น เกิดความคิดขึ้นใหม่ในลักษณะที่รู้จักแยกแยะสิ่งที่เรียสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ให้กระจายออกเป็นรูปนามหรือขันธ์ ๕ เป็นต้น ไม่หลงผิดตามสมมติที่เป็นสัตว์เป็นบุคคลทั้งกลุ่ม ไม่หลงเข้าใจเป็นเรื่องของเจตภูติหรือวิญญาณแต่เห็นเป็นส่วนประกอบของธรรมชาติที่ปรุงกันขึ้น และมีสภาพเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

          ตัววิปัสสนาที่ ๒ กังขาวิตรณวิสุทธิ คือความหมดจดแห่งความรู้ที่จะข้ามความสงสัย หมายถึงการเห็นแจ้งในเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งปวง ความสงสัยจำแนกออกได้หลายประการ แต่สรุปแล้วคือ ความสงสัยเกี่ยวกับตัวเรามีอยู่หรือไม่ ตัวเราได้มีแล้วหรือไม่ ตัวเรามีต่อไปหรือไม่ในลักษณะอย่างไร การที่จะข้ามความสงสัยเสียได้ต้องทราบว่าตัวเราไม่มี มีแต่ธาตุ ขันธ์ อายตนะ และเหตุปัจจัยต่างๆ เช่น อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม อาหาร เป็นต้น ซึ่งปรุงแต่งขันธ์ อายตนะเหล่านั้น เมื่อทราบดังนี้ ความสงสัยต่างๆ จะระงับไป ทำให้เพิกถอนความรู้สึกว่า " ตัวเรา " ชั้นหยาบๆ เสียได้

          ตัววิปัสสนาที่ ๓ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือความหมดจดแห่งความเห็นแจ้งชัดว่า " อะไรทาง อะไรไม่ใช่ทาง " เมื่อข้ามความสงสัยเสียได้ ก็สามารถทำให้เกิดความหมดจดแห่งความเห็นว่า อะไรเป็นทางที่จะก้าวไปอย่างถูกต้อง อะไรเป็นทางที่จะไม่ก้าวไปได้อุปสรรคที่ทำไม่ให้ก้าวไปมีอยู่หลายอย่าง เช่น เมื่อเกิด " แสงสว่าง " จะทำให้เห็นผิดว่าเป็นของวิเศษ แล้วหยุดการก้าวหน้าต่อไปเสีย เมื่อเกิด " ปีติ " ความอิ่มอกอิ่มใจก็ทำให้จิตใจถูกท่วมทับไม่อาจพิจารณาต่อไปได้ " ญาณ " คือความเห็๋นแจ้งในนามรูปบางขณะก็ทำให้ทะนงตัวฟุ้งซ่านอยู่ นี่ก็เป็นอุปสรรคของวิปัสสนา " ความรำงับ " ก็ทำให้หลงไปว่าเป็นผู้หลุดพ้นจากกิเลสแล้ว " ความเชื่อ " ที่แน่นแฟ้นขึ้น " ความพอใจในธรรม " และ " ความวางเฉย " ที่มีอาการรุนแรงขึ้น ก็ล้วนเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้หลงใหลติดตันไม่ให้ก้าวหน้าไปได้ เหล่านี้จัดเป็นอุปสรรคของวิปัสสนา เมื่อใดเกิดญาณรู้แจ้งว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องกีดขวางของวิปัสสนาชั้นที่จะทำการตัดสังโยชน์ตัดกิเลสอันละเอียดเสียได้ก็ชื่อว่ามีมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

          ตัววิปัสสนาที่ ๔ ปฏิปทาฌาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งความรู้ความเห็นในตัวทางแห่งการปฏิบัติ คือเมื่อมีญาณทัสสนะในเรื่องทางผิดทางถูกโดยสมบูรณ์แล้ว ญาณขั้นต่อไปก็ต้องดำเนินถูกทาง และก้าวไปตามลำดับ นับตั้งแต่ความเห็นจริงในสังขารทั้งปวงชัดแจ้งถึงที่สุด จนกระทั่งวางเฉยในสิ่งทั้งปวง มีจิตพร้อมที่จะบรรลุถึงการรู้อริยสัจที่เป็นชั้นวิเศษสืบไปตามคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ จำแนกลำดับญาณในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิเป็น ๙ ลำดับ เรียกว่าวิปัสสนาญาณ ๙ คือ

          วิปัสสนาญาณที่ ๑ อุทพยานุปัสสนาญาณ แปลว่า ญาณเป็นเครื่องตามกำหนดให้ความเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมสลายไป เมื่อวิปัสสนาจิตดำเนินไปถูกทางในการพิจารณาความเกิดแก่เจ็บตายของสังขารทั้งปวงถึงที่สุดแล้ว ก็เพ่งพิจารณาแน่วแน่ อยู่แต่ในภาวะแห่งความก่อขึ้น และความเสื่อมสลายไปของสังขารเหล่านั้นจนแจ่มแจ้งชัดเจนที่สุด เห็นภาวะทั้งหลายเต็มไปด้วยการเกิดดับเหมือนท้องทะเลเต็มไปแต่การเกิดและการดับของฟองน้ำที่เกิดจากลูกคลื่น ฉันใดก็ฉันนั้น

          วิปัสสนาญาณที่ ๒ ภังคานุปัสสนาญาณ แปลว่า ญาณเป็นเครื่องตามกำหนดเห็นความดับ หมายความว่าทิ้งการเพ่งดูฝ่ายเกิดในญาณเสียาเพ่งอยู่แต่ฝ่ายดับเพื่อให้เห็นความแตกสลายลึกซึ้งรุนแรงถึงที่สุดจนกระทั่งรู้สึกว่าในโลกทั้งปวงไม่มีอะไรนอกจากความพังทลายหรือความแตกดับทั่วไปหมด เหมือนกับห่าฝนตกลงมาทั่วไปทุกหนทุกแห่ง

          วิปัสสนาญาณที่ ๓ ภยตุปัฏฐานญาณ แปลว่า ความรูแจ้งในสังขารปรากฏว่า เต็มไปด้วยภาวะที่น่ากลัวเมื่อความเห็นแจ้งในความเสื่อมสลายมีมากพอ ก็จะทำให้เกิดความรูแจ้งต่อไปว่า ภพทั้งปวงเป็นสิ่งที่น่ากลัวแห่งความแตกทำลายของสังขารทั้งปวงอยู่ทุกขณะจิตจึงเกิดมีความหวาดกลัวสะดุ้งถึงที่สุดจริงๆ ขึ้นในใจของผู้เห็นแจ้ง เห็นภพทั้ง ๓ เปรียบประดุจมียาพิษ อาวุธ หรือโจรอันโหดร้ายบรรจุอยู่เต็มไปหมด

          วิปัสสนาที่ ๔ อาทีนวานุปัสสนาญาณ แปลว่า ญาณเป็นเครื่องตามกำหนดให้เห็นโทษของสังขารทั้งปวงเมื่อรู้สึกว่าภพทั้งปวงเต็มไปด้วยความน่ากลัว ก็จะเกิดความรู้แจ้งต่อไปว่า สังขารหรือภพทั้งปวงประกอบอยู่ด้วยโทษอันร้ายกาจ ไม่มีความปลอดภัยในการที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เปรียบเหมือนป่าที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้าย ย่อมไม่เป็นที่น่าอภิรมย์แก่ผู้ต้องการความเพลิดเพลินจากป่า ฉันใดก็ฉันนั้น

           วิปัสสนาญาณที่ ๖ นิพพิทานุปัสสนาญาณ แปลว่า ญาณเป็นเหตุให้เกิดความปรารถนาในการพ้นเมื่อเกิดความเบื่อหน่ายที่แท้จริง โดยอาศัยกำลังของสมาธิหรือความเห็นแจ้ง ก็เกิดความรู้สึกอยากจะพ้นทุกข์ด้วยใจจริง เป็นความอยากพ้นด้วยจิตใจทั้งหมด ซึ่งมีเท่ากับความใหญ่ของภพทั้งปวง เปรียบเหมือนความอยากพ้นของเขียดที่กำลังดิ้นอยู่ในปากงู หรือเปรียบเหมือนเนื้อที่อยากพ้นจากบ่วง

           วิปัสสนาญาณที่ ๗ ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ แปลว่า ญาณเป็นเคื่องกำหนดพิจารณาหาทางรอด เมื่อมีความอยากพ้นอย่างรุนแรง ความดิ้นรนในการหาทางรอดจะเป็นไปอย่างรุนแรง การพิจารณาในข้อนี้ หมายถึงการพยายามสอดส่องจนเห็นอุปาทานหรือกิเลสว่าเป็นเหตุผูกพันจิตให้ติดกับภพ จึงหาทางทำกิเลสให้อ่อนกำลัง เพื่อจะได้โอกาสทำลายในภายหลัง โดยการจับคองูชูขึ้นเหนือศรีษะ คลายขนดออกจากตน แกว่งเป็นวงกลมจนกระทั่งอ่อนกำลัง แล้วปล่อยมือให้หลุดกระเด็นไป และตามไปฆ่าทีหลัง การพิจารณาเห็สิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็นอยู่เสมอ เป็นการตัดอาหารของกิเลส ทำให้กิเลสถอยกำลังอยู่เป็นประจำวันวิธีนี้ต้องเพิ่มให้มาก ให้ประณีตแยบคายยิ่งขึ้น เพราะเป็นช่องทางให้ตัวเราเล็กนิดเดียว เอาชนะกิเลสซึ่งใหญ่เท่ากับภูเขาได้ ปัญญาเป็นสิ่งที่ต้องเพิ่มพูนให้มากขึ้นพร้อมๆ กับที่ทำกับหนูตัวนิดเดียวกล้าคิดฆ่าเสือโคร่ง ๒ - ๓ ตัวได้ นี้เป็นอุบายในการคิดหาทางรอด

          วิปัสสนาญาณที่ ๘ สังขารุเปกขาญาณ แปลว่า ความรู้เป็นเหตุให้วางเฉยในสังขารทั้งปวง การทำกิเลสให้อ่อนกำลังลง เป็นเหตุให้วางเฉยในสิ่งทั้งปวงได้ยิ่งขึ้นญาณนี้อาศัยการพิจารณาเห็นความว่างแห่งสังขารทั้งหลายว่า ว่างจากตัวตน ว่างจากความเป็นสัตว์เป็นบุคคลว่างจากแก่นสาร ว่างจากความสุข ว่างจากความงาม เหล่านี้เป็นต้น จนในที่สุดเกิดความวางเฉยในสิ่งทั้งปวงเปรียบเหมือนบุรุษที่วางเฉยในภรรยาที่หย่าขาดกันแล้ว

           วิปัสสนาญาณที่ ๙ สัจจานุโลมิกญาณ แปลว่า ญาณที่พร้อมถึงที่สุดแล้วที่จะรู้อริยสัจเมื่อวางเฉยในภพทั้งปวงได้ จิตก็พร้อมที่จะรู้อริยสัจ ๔ ชนิด ที่จะทำให้บรรลุอริยมรรค ชนิดที่ทำให้เป็นอริยบุคคลชั้นใดชั้นหนึ่งได้

           เมื่อวิปัสสนาญาณ ๙ นับตั้งแต่อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ถึงสัจจานุโลมิกญาณ เป็นไปอย่างสมบูรณ์เต็มที่แล้ว เรียกว่า " ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ " เป็นวิปัสสนาญาณตัวที่ ๔ หรือ วิสุทธิอันดับ ๖

           ตัววิปัสสนาที่ ๕ ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ เป็นวิสุทธิอันดับที่ ๗ ได้แก่ อริยมรรคญาณ เป็นผลหรือเป็นตัวสุดท้ายของวิปัสสนา

           ในลำดับระหว่างวิปัสสนาญาณที่ ๙ คือ สัจจานุโลมิกญาณกับญาณทัสสนวิสุทธิ มีโคตรภูญาณแทรกอยูในฐานะเป็นเครื่องคั่นระหว่างปุถุชนกับอริยบุคคล แต่โดยที่โคตรภูญาณมีขณะแว๊บเดียวแล้วก็ดับไป และยังอยู่ในฐานะที่เป็นกามาวจรกุศล จึงสงเคราะห์เข้าไว้ในฝ่ายปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ

            ตามนัยดังแสดงมานี้จะเห็นว่า

            (๑) ศีลและสมาธิ เป็นรากฐานที่ตั้งอาศัยของวิปัสสนา

            (๒) ขันธ์ห้า หรือสัขารทั้งปวง เป็นที่กำหนดสำหรับเจริญวิปัสสนา

            (๓) การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนเกิดความกลัว ความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง เป็นลักษณะแห่งตัววิปัสสนา

            (๔) การกำจัดความโง่ เป็นกิจของวิปัสสนา

            (๕) ความแจ่มแจ้งเกิดอริยมรรค เป็นผลของวิปัสสนา

           ทั้งนี้ เป็นการชี้ให้เห็นแนวทางแห่งปัญญา ที่เดินโดยลำดับแห่งความบริสุทธิ์ ๗ ลำดับ และลักษณะการดำเนินของปัญญาทีเจาะแทงโลกทั้งหลายอีก ๙ ลำดับ รวมเรียกว่า เรื่องวิปัสสนาตามหลักวิชาในรูปเทคนิค

แนวการทำให้รู้แจ้งตามหลักวิชา
แผนภูมิประกอบคำบรรยายครั้งที่ ๘

๑. สีลวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งศีล

๒. จิตตวสุทธิ : ความหมดจดแห่งจิต

(๑) ๓. ทิฏฐิวิสุทธิ :  ความหมดจดแห่งความเห็น

(๒) ๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งความรู้เป็นเครื่องข้ามความสงสัย

(๓) ๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งความรู้ความเห็นที่ว่าเป็นทางหรือมิใช่ทาง

(๔) ๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งความรู้เห็นในทางปฏิบัติ :-
            (๑) อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ : เห็นความเกิดและความดับสลาย
            (๒) ภังคานุปัสสนาญาณ : เห็นความดับสลายโดยส่วนเดียว
            (๓) ภยตุปัฏฐานญาณ : เห็นภาวะทั้งหลายเต็มไปด้วยความน่ากลัว
            (๔) อาทีนวานุปัสสนาญาณ : เห็นความเต็มไปด้วยโทษทุกข์ภัย
            (๕) นิพพิทานุปัสสนาญาณ : เห็นความเบื่อหน่ายในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
            (๖) มุญจิตุกัมตาญาณ : ความรู้ซึ้งทำให้เกิดความใคร่อย่างแรงกล้าที่จะพ้นทุกข์
            (๗) ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ : ความรู้ทางพ้นทุกข์นั้นๆ
            (๘) สังขารุเปกขาญาณ : ความรู้เป็นเครื่องปล่อยวางเฉย
            (๙) สัจจานุโลมิกญาณ : ความหมดจดแห่งความรู้

(๕) ๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งความรู้ ความเห็นที่ถูกต้อง
            (ก) อริยมรรค
            (ข) อริยผล




By คู่มือมนุษย์ ( ฉบับย่อ )

No comments:

Post a Comment