Wednesday, November 27, 2013

กรรม กับ อนัตตา

กรรม กับ อนัตตา

          กฎแห่งกรรมในทางพุทธศาสนาไม่มีความจำเป็นตามที่มีผู้พยายามดึงเข้าหาสมมติฐานการมีอยู่ของพระเจ้า เพราะว่ากฎแห่งกรรมเป็นแนวคิดเกี่ยวกับหลักอนัตตาโดยตรง

          อัตตา หรือ พระเจ้า เกิดจากความคิดปรุงแต่งของมนุษย์ที่กลัวความตาย ความสูญสิ้น ความดับสลาย ดังนั้น เพื่อสนองความอยากอยู่อยากคงไว้จึงหาทางสร้างความคิดผิดๆ เพื่อสนองความอยากอยู่อยากคงไว้จึงหาทางสร้างความคิดผิดๆ เพื่อสนองกุศโลบายในทางศีลธรรม จนกลายเป็นการสร้างกรอบความคิดเกี่ยวกับเรื่องวิญญาณว่าเป็นของเที่ยง เป็นนิจจัง ยั่งยืนไม่มีการสูญสิ้น คงอยู่ตลอดไปนับว่าเป็นความคิดที่มีหลักฐานอ่อนและขาดเหตุขาดผล เมื่อนำมาพิจารณาตามหลักปฏิจจสมุปบาท ที่สอนว่าสรรพสิ่งทั้งหลายไม่ว่ามีชีวิตหรือไม่มีชีวิต เกิดขึ้นจากการปรุงแต่ง เป็นสังขตธรรมมีการเกิด การดับ การเปลี่ยนแปลง เป็นอนิจจังและสูญสลายได้จากเหตุปัจจัยนั้นๆ

           แทนที่จะเป็นไปตามหลักความเชื่อว่าวิญญาณเป็นอัตตาพระพุทธเจ้าทรงกลับเน้นในเรื่อง อนัตตา มาโดยตลอด ดังนั้น การอ้างว่ามีอัตตา ยึดอัตตา หรือดวงวิญญาณ ว่าเป็นสิ่งไม่ตาย คงอยู่ตลอดไปนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทางพุทธธรรม ถือว่าคำสอนเช่นนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิค้านกับความเป็นจริง เป็นบ่อเกิดแห่งกองกิเลสอันได้แก่ ความอยากเห็นแก่ตัว ความเย่อหยิ่งถือตัว ความอาฆาตพยาบาทและความอยากได้ใคร่มีทั้งหลาย พุทธศาสนามีเอกลักษณ์พิเศษแตกต่างจากความเชื่ออื่นๆ มาโดยตลอดในประวัติศาตร์ทางความคิดของมุนษยชาติ นั่นก็คือ เรื่องของอนัตตา โดยที่พระองค์ทรงปฏิเสธทฤษฎีอัตตามาตั้งแต่เริ่มต้น ( อ่านรายละเอียดในปรัชญาเปรียบเทียบระหว่างพุทธกับอุปนิษัท ว่าด้วยเรื่อง อัตตา อนัตตา ) การอธิบายโดยยึดทฤษฎีอนัตตานั้นจึงจะเป็นเหตุเป็นผลเข้ากันได้กับเรื่องกฎแห่งกรรมในทางพุทธศาสนา



           โดยทั่วไป การสอนเรื่องกฎแห่งกรรมที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่ต้น ก็เริ่มสับสนกันแล้วในเรื่องของการใช้คำว่า อัตตา กรรม แทนที่จะสอนกันว่า กฎแห่งกรรมเป็นเรื่องของกฎธรรมชาติที่เกิดจากการปรุงแต่งในทางจิตใจ เป็นสังขตธรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ ไม่เกี่ยวและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเกี่ยวกับการมีอยู่และการดลบันดาลของพระเจ้า แต่คนเราไปยอมรับเสียเองว่า การกระทำต่างๆ เกิดจากกรรมเก่าที่ติดตามมาแต่ชาติก่อน ด้วยอำนาจการดลบันดาลของพระเจ้าเบื้องบนที่ทรงให้คุณให้โทษต่อการกระทำของมนุษย์ ความเชื่อเช่นนี้จึงเข้ากันไม่ได้กับกฎแห่งกรรมตามความเชื่อในทางพุทธศาสนา ผู้มีปัญญาในการไตร่ตรองเท่านั้นจึงจะมองเห็น

           แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องของดวงวิญญาณว่าเป็น อัตตา นั้น เกิดจากความหลงผิดและขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของจิตที่ตั้งอยู่ในอวิชชาบนความเชื่อดั้งเดิมร่วมกันว่า ในสากลโลกนี้น่าจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำหน้าที่ คิด รู้สึก รับรู้ และตัดสินการกระทำต่างๆ ของมนุษย์ โดยมี " พระองค์ " ทรงเป็นผู้คิดทางความคิด เป็นผู้รู้ในอารมณ์ เป็นผู้รับรู้ในการกระทำ และเป็นผู้ตัดสินการกระทำ เป็นผู้ลงโทษ เป็นผู้ให้รางวัล สิ่งที่ทำหน้าที่ดังกล่าวนี้คือ พระเจ้า พระองค์คือผู้ยิ่งใหญ่ที่มนุษย์ยอมรับและให้ความเกรงกลัวจากอำนาจของสิ่งที่มนุษย์นั่นเองเป็นผู้สร้างขึ้น

           ในทางตรงข้าม ปรัชญาพุทธไม่สร้างและไม่เชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว พุทธศาสนาเชื่อว่า ปรากฎการณ์ต่างๆ ทั้งทางกายภาพและจิตภาพ เกิดจากกระแสการเลื่อนไหลในกระบวนการทำงานของวิญญาณ ที่มีเกิดดับตามแต่เหตุปัจจัยในการปรุงแต่งของจิตในชั่วขณะนั้น การที่จะเชื่ออย่างง่ายๆ ว่ามี " ผู้คิด " จึงไม่มีอะไรนอกจากเป็นเรื่อของความคิดที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกับสัจธรรมอื่นๆ เป็นกระแสความคิดที่เป็นผลจากผัสสะก่อให้เกิด เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งที่แท้จริงแล้ว ไม่มี " ผู็คิด " ของความคิด ไม่มี " ผู้รู้ " ในความรู้สึกอันเกิดจากผัสสะ ไม่มี " ผู้รับรู้ " จากการรับรู้ และไม่มี " ผู้ตัดสิน " ในกระบวนการวินิจฉัยสั่งการ

           สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเพียงการทำงานอันละเอียดประณีตของจิตจากชั่วขณะหนึ่งต่อไปยังอีกขณะหนึ่ง ทำให้เกิดความหลงผิดยึดมั่นถือมั่นด้วยอวิชชา ว่ามี " องค์สมบูรณ์ " ที่สถิตอยู่ชั่วกาลนาน ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า กรรม เป็นเพียงกระแสการทำงานของจิต ไม่มีความจำเป็นในการดึงเอาแนวคิดเกี่ยวกับ อัตตา หรือ อาตมัน หรือ พระเจ้ามาเป็นผู้กำหนดของผลกรรมในการกระทำของมนุษย์





By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment