Thursday, November 14, 2013

คู่มือมนุษย์ ( ๙ )


คู่มือมนุษย์ ( ๙ )
ลำดับแห่งการหลุดพ้นจากโลก

         เมื่อปฏิบัติวิปัสสนา จนเกิดความรู้แจ้งว่า ไม่มีอะไรน่ายึดถือ และสิ่งต่างๆ ไม่อาจครอบงำจิตได้จิตย่อมถึงสถานะอันใหม่เหนือวิสัยโลก เรียกว่า โลกุตตรภูมิ ตรงกันข้ามกับ โลกิยภูมิ คือ ภูมิของจิตอันต่ำที่สิ่งต่างๆ ครอบงำได้

         โลกิยภูมิ แบ่งออกเป็น ๓ พวก คือ :-

         ๑.กามาวจรภูมิ หมายถึงภูมิของจิตที่ยังพอใจในกามทั้งปวง

         ๒. รูปาวจรภูมิ หมายถึงภูมิของจิตที่พอใจในความสุขที่เกิดแต่สมาบัติ อันมีรูปธรรมเป็นอารมณ์ ที่ไม่เกี่ยวกับกาม

         ๓. อรูปาวจรภูมิ หมายถึงภูมิของจิตที่ยังไม่พอใจในความสุข หรือความสงบที่เกิดแต่สมาบัติอันไม่มีรูปเป็นอารมณ์

         ภูมิคู่กับภพ เพราะภูมิหมายถึงสถานะหรือระดับของจิตใจสัตว์ และภพหมายถึงโลกเป็นที่อยู่อันเหมาะสมของสัตว์ตามภูมิจิต คือกามวจรภูมิ คู่กับ กามาวจรภพ รูปาวจรภูมิ คู่กับ รูปาวจรภพ และ อรูปาวจรภูมิ คู่กับ อรูปาวจรภพ ตามปกติจิตใจมนุษย์มักตกอยู่ในลักษณะที่เป็นรูปาวจรภูมิ หรืออรูปวจรได้ เมื่อจิตตั้งอยู่ในภูมิใด โลกที่อาศัยก็จะกลายเป็นภพชื่อนั้นไปด้วยสัตว์ที่อยู่ในภูมิทั้ง ๓ ยังมีอัสมิมานะเต็มที่ ยังเต็มอยู่ด้วยความยึดถือตัวตน จิตยังประกอบด้วยตัณหาอันเป็นเหตุให้ท่องเที่ยวไปในภพต่างๆ จึงเรียกว่ายังอยู่ในวิสัยโลก จัดเป็นโลกิยภูมิ

         ส่วนโลกุตตรภูมิ หมายถึงภูมิจิตที่อยู่สูงเหนือวิสัยโลก มองเห็นโลกด้วยความเป็นของไม่มีตัวตน แบ่งออกเป็นมรรคผล ๔ ชั้น คือ ชั้นพระโสดาบัน ชั้นสกิคาทามี ชั้นพระอนาคามี และชั้นพระอรหันต์ การอยู่เหนือโลกนี้หมายถึงจิตใจ มิได้หมายถึงร่างกาย ส่วนร่างกายจะอยู่ภพไหนก็ได้ ที่สมควรกัน



         ความแตกต่างระหว่างชั้นทั้ง ๔ ของโลกุตตรภูมิอย่ที่ลำดับแห่งการละกิเลสชั้นละเอียดได้ขาด กิเลสชั้นนี้เรียกว่า " สังโยชน์ " แปลว่า ผูกพันเต็มที่อย่างพร้อมพรั่งมี ๑๐ อย่าง กิเลสเครื่องผูกพันนี้ทำให้สัตว์ทั้งหลายติดอยู่ในโลก ตกอยู่ในวิสัยโลก เป็นโลกิยภูมิ เมื่อตัดเครื่องผูกพันเหล่านั้นออกได้ จิตก็จะค่อยๆ หลุดออกจากโลกตามลำดับ จนเข้าสู่ความอยู่เหนือโลก เป็นโลกุตตรภูมิโดยสมบูรณ์ในที่สุด

         สังโยชน์ ๑๐ ประการ

          ๑. สักกายทิฏฐิ แปลว่า " ความเห็นว่ากายเป็นของตน " ได้แก่ความสำคัญผิดว่าร่างกายพร้อมทั้งจิตนี้เป็นตัวตน โดยคิดว่า " ตัวเรา " มีอยู่ สัญชาตญาณมูลฐานว่ามีตัวเรานี้ เป็นไปมากถึงกับเอาอะไรๆ เป็นตัวตนก็ได้ ตามความรู้สึกของตน ทุกคนย่อมมีความสำคัญว่าตัวตนประจำใจอยู่ทั้งนั้น เพราะเป็นมูลฐานที่ทำให้ชีวิตมีอยู่ เป็นอยู่ ผู้ต้องการข้ามพ้นจากโลก ต้องละกิเลสตัวนี้ให้ได้เป็นอันดับแรก

          ๒. วิจิกิจฉา หมายถึง " ความสงสัย " คือ ความรู้มีไม่เพียงพอเป็นสาเหตุให้สงสัยลังเลในพระพุทธเจ้า คือ ลังเลว่าจะไม่เป็นบุคคลที่ตรัสรู้ถูกต้องจริง หรือเป็นบุคคลที่หลุดพ้นจากความทุกข์จริง ลังเลในพระธรรม คือ ลังเลในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือการปฏิบัติตามคำสั่งสอนนั้น ว่าจะไม่อาจนำไปสู่ความดับทุกข์จริงหรือจะไม่จริงตามนั้น ลังเลในพระสงฆ์ คือลังเลในผู้ปฏิบัติว่าคงไม่ปฏิบัติจริง หรือไม่อาจมีบุคคลชนิดนั้นในโลกนี้ เพราะเป็นสิ่งเหลือวิสัยเป็นต้น มูลเหตุของความลังเล คือความไม่รู้ ( อวิชชา ) ก่อให้เกิดตัณหาดึงจิตไปสู่ทางต่ำจนเป็นพื้นวิสัยสันดาน ส่วนความรู้สึกฝ่ายสูงเพิ่งก่อรูปขึ้นใหม่ การทะเลาะกันระหว่างความรู้สึกฝ่ายสูงกับความรู้สึกฝ่ายต่ำ นั่นคือการลังเล ความลังเลมีอยู่ในทุกคนตั้งแต่เกิด เป็นเหตุให้ไม่แน่ใจในความดี ความงาม ความถูกต้อง ความยุติธรรม เป็นต้น ฉะนั้น ต้องพิจารณาให้เห็นโทษของความลังเล จนให้เกลียดมันมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งจะเป็นเหตุให้ละมันได้ง่ายขึ้น

          ๓. สีลัพพตปราสมาส แปลว่า " การจับฉวยศีลและวัตรผิดความมุ่งหมายที่ถูกต้อง " โดยใจความไดแก่การยึดมั่นในสิ่งที่เคยปฏิบัติมาด้วยความเข้าใจผิด ส่วนมากเกี่ยวกับลัทธิศาสนา เช่น การปฏิบัติในทางไสยศาสตร์เป็นต้น แม้เป็นเรื่องของพุทธศาสนา ถ้าปฏิบัติได้วยความมุ่งหมายจะให้เกิดความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ หรือหวังจะได้ไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ดังนี้ ก็นับว่าเป็นการกระทำนอกลู่นอกทาง จัดเป็นสีลัพพตปรามาสทั้งสิ้น เพราะข้อปฏิบัติต่างๆ ในพุทธศาสนา มีความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นการละกิเลสโดยส่วนเดียว

           เมื่อบุคคลใดละกิเลส ๓ ประการ คือ สักกายทิฏฐิวิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส ได้แล้ว ย่อมเป็นผู้อยู่เหนือโลก ตั้งอยู่ในโลกุตตรภูมิอันดับที่หนึ่ง เป็นพระอริยเจ้าอันดับแรก เรียกผู้นั้นว่าพระโสดาบัน คือ ผู้แรกถึงกระแสนิพพาน

           โลกุตตรภูมิอันดับที่ ๒ หมายถึงบุคคลผู้ละเครืองผูกพัน ๓ อย่างดังกล่าวได้ และทำโลภะ โทสะ โมหะ บางส่วนให้จางไปจนมีจิตใจสูง มีความผูกพันอาลัยอาลัยอยู่ในกามภพแต่เล็กน้อยที่สุด ซึ่งจะเวียนมาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียว เป็นเหตุให้ได้ชื่อว่า พระสกิทาคามี

          โลกุตตรภูมิอันดับที่ ๓ เรียกว่า พระอนาคามีป็นผู้ละกิเลสชั้นต้นได้อย่างพระสกิคาทามี และละสังโยชน์เพิ่มขึ้นอีก ๒ ข้อ คือข้อ ๔ กามราคะได้ทุกประการกับข้อ ๕ ปฏิฆะ

           ๔. กามราคะ หมายถึง " ความย้อมจิตอยู่ในกาม " สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ ทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทุกชั้น ทุกประเภท และทุกลักษณะ เรียกว่า " กาม " ในที่นี้ ความที่จิตยังย้อมติดอยู่ด้วยความพอใจในกามเช่นนั้น เรียกว่า กามราคะได้ทุกประการ

           ๕. ปฏิฆะ หมายถึง " ความรู้สึกโกรธหรือความขัดแค้นใจ " ได้แก่ความกระทบกระทั่งแห่ง
จิตฝ่ายที่รู้สึกไม่พอใจชั้นละเอียด เป็นความขุ่นแค้นอยู่ข้างในไม่ค่อยปรากฏออกมาภายนอก เช่น ความหงุดหงิดรำคาญเป็นต้น

           สังโยชน์ ๕ ข้อ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ และปฏิฆะ จักเป็นภาคแรกหรือภาคต่ำ ที่พระอริยะบุคคลประเภทที่ ๓ ละได้หมดเนื่องจากไม่มีกามราคะเหลืออยู่จึงทำให้ไม่ต้องเวียนมาสู่กามภพอีก เป็นเหตุให้ได้นามว่า อนาคามี แปลว่า ผู้ไม่มีการกลับมา มีแต่จะรุดหน้าสูงขึ้นไปเป็นพระอรหันต์และจักนิพพานในภพที่ไม่เกี่ยวข้องกับกาม ได้แก่ภพของรูปพรหมอันดับปลายๆ สั่งสังโยชน์ที่ยังเหลืออีก ๕ อย่างข้างปลาย พระอริยบุคคลประเภทที่ ๔ คือพระอหันต์จึงจะละได้หมด

           ๖. รูปราคะ หมายถึง " ความรักใคร่พอใจในความสุขที่เกิดมาจากรูปสมาบัติ " การที่พระอริยเจ้าชั้นต้นๆ ๓ จำพวก ไม่สามารถละความสุขความพอใจที่เกิดมาแต่รูปฌานหรือรูปสมาบัติได้ ถึงกับพอจะเรียกได้ว่าเป็นนิพพานชิมลอง จึงเป็นที่ตั้งแห่งความหลงใหลได้ง่าย เป็นเหตุให้ต้องมาละได้เด็ดขาดในพระอริยเจ้าชั้นสุดท้าย คือ พระอรหันต์

           ๗. อรูปราคะ หมายถึง " ความพอใจติดใจในความสุขที่เกิดมาแต่รูปสมาบัติ " ได้แก่การหลงใหลในความสุขที่เกิดจากการเจริญฌานอันกำหนดเอาสิ่งที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ มีความสงบเงียบขั้นอรูปฌาน ซึ่งประณีตสุขุมลุ่มลึกซึ้งกว่าความสงบที่เป็นรูปฌาน  เนื่องจากพระอรหันต์จะเป็นผู้หลงใหลในสุขเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เลย เพราะมีปกติเห็นความเป็นอนิจจา ทุกขัง อนัตตาของเวทนาทุกชนิด ฉะนั้นจึงละรูปราคะ และอรูปราคะได้อีกชั้นหนึ่ง

          ๘. มานะ ได้แก่ " ความรู้สึกสำคัญตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่ " เป็นชั้นเป็นเชิง ว่าเราเลวกว่าเขา เราเสมอเขา เราดีหรือสูงกว่าเขา ถ้ารู้สึกว่าเราเลวกว่าเขา ก็น้อยใจรู้สึกว่าตนดีกว่าก็ทะนงใจ รู้สึกว่าเสมอกัน ก็นึกไปทำนองแข่งขันหรือทำตนให้ก้าวหน้ากว่า ความรู้สึกถือตัวถือตนทำนองนี้ ย่อมมาจากอุปาทานนั่นเอง เมื่อความยึดถือตัวตนมีอยู่ ความรู้สึกในลักษณะชั้นเชิงเป็นคุณสมบัติหรือสิ่งประกอบอื่นๆ อันจะเป็นเครืองวัดกันได้ก็ย่อมมี ถ้ามีจิตใจอยู่เหนือความดีชั่วเสียแล้วความรู้สึกต่างๆ เช่นนี้จะมีอยู่ไม่ได้ การที่ยังมีความรู้สึกว่าคนดีคนชั่วหรือ คนเสมอกัน เป็นเหตุให้ดิ้นรนกระวนกระวายไม่เป็นความสงบสุขถึงที่สุด

           ๙. อุทธจจะ แปลว่า " ความกระเพื่อม ความฟุ้ง " หรือความไม่สงบอยู่ได้ ได้แก่ความรู้สึกที่กระพือขึ้นในเมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งสนใจผ่านมา คนเราย่อมมีความต้องการอยู่ประจำใจ เมื่อมีสิ่งใดผ่านมาในลักษณะที่ตรงกับตัณหาชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว ความกระพือของจิตก็ย่อมมีเป็นธรรมดา เรียกว่าเกิด " ความทึ่ง " มีได้ทั้งแง่ดีและแง่ร้าย หรือทึ่งด้วยความสงสัยลังเลก็มี เมื่อมีความแปลกประหลาดทำให้เกิดความทึ่งสงสัยขึ้น ถ้าเป็นเรื่องถูกใจก็ทำให้ดีใจจนลืมตัว ถ้าเป็นเรืองเศร้าก็ทำให้จิตทรุดโทรมแฟบเหี่ยว ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการ ความหวาดกลัว ความวิตกกังวล ความระแวงที่มีอยู่พระอริยเจ้า ๓ ประเภทข้างต้น ยังมีความทึ่งสนใจในบางวสิ่งอยู่ แต่พระอรหันต์หมดความกระหายในสิ่งทั้งปวง หมดความกลัว หมดความเกลียด หมดความวิตกกังวล หมดความระแวงสงสัยในสิ่งทั้งปวง จิตของท่านจึงเป็นอิสระมีความบริสุทธิ์หรือสงบสุขถึงที่สุด

           ๑๐. อวิชชา แปลว่า " ภาวะที่ปราศจากความรู้ " ตามธรรมดาสัตว์ทั้งหลายย่อมอยู่ด้วยการมีความรู้แต่ถ้าเป็นความรู้ผิดก็เท่ากับไม่รู้ คนที่มีอวิชชาหมายถึงผู้ที่ไม่เข้าใจต่อปัญหาที่ว่าอะไรเป็นความทุกข์ที่แท้จริง อะไรเป็นต้นเหตุที่แท้จริงให้เกิดความทุกข์ อะไรเป็นความไม่มีทุกข์ และอะไรเป็นหนทางหรือวิธีที่จะให้ได้มาซึ่งความไม่มีทุกข์นั้น ถ้าใครรู้แจ้งจริงๆ ในปัญหาเหล่านี้มาซึ่งความไม่มีทุกข์นั้น ถ้าใครรู้จริงๆ ในปัญหาเหล่านี้ เรียกว่า เป็นผู้มีอวิชชา

           อวิชชาทำให้หลงสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นความสุข จนถึงกับพอใจเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ สำคัญผิดอยู่ในเหตุของความทุกข์ ทำให้เกิดความเขลาต่างๆ ขึ้น เช่น เข้าใจว่าผีสางเทวดาเป็นเหตุให้เจ็บไข้ ดังนี้เป็นต้น สำคัญผิดในเรื่องความดับสนิทของทุกข์ คือไม่รู้ว่าการดับกิเลสตัหาเป็นการดับทุกข์ ไปหลงความสงบสุขที่เกิดจากสมาธิหรือฌานสมาบัติว่าเป็นความดับทุกข์ สำคัญผิดในเรื่องหสทางแห่งความดับทุกข์คือไม่รู้ว่าทางที่ถูกได้แก่อริยมรรคมีองค์ ๘ จึงเป็นเหตุให้ดำเนินไปตามความต้องการของตน มีความเชื่อในวัตถุปัจจัยภายนอก ว่าช่วยดับทุกข์ได้ เช่นมีการดับทุกข์โดยการจุดธูปเทียนอ้อนวอนผีสางเทวดา เป็นต้น

            อวิชชาเป็นเหมือนเครื่องหุ้มห่อโลก เป็นแสงสว่างที่บังลูกตา หมายความว่า ตามปกติทุกคนมีความรู้ แต่เป็นความรู้ผิด จึงเป็นความรู้ชนิดบังลูกตา เพราะแสงสว่างของอวิชชานี่เอง ที่ทำให้มีความหลงไปในการมารมณ์ เป็นอุดมธรรมของมนุษย์ เป็นเหตุให้ติดอยู่แต่กามารมณ์ ไม่อาจทะลุรอไปได้
          
          สังโยชน์ ๕ อย่างที่เพิ่มขึ้นคือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา เป็นสิ่งที่พระอรหันต์ตัดได้ขาด ซึ่งเป็นการตัดได้ทั้งหมด ๑๐ อย่าง และเป็นพระอริยเจ้าชั้นสูงสุด

          พระอริยเจ้าทั้ง ๔ ประเภท คือ พระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ จัดเป็นผู้อยู่ในโลกุตตรธรรมมี ๙  คือ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามีมรรค สกิทาคามีผล อนาคามีมรรค อนาคามีผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล ๔ คู่นี้ ได้ ๘ เติมนิพพานเข้าอีก ๑ จึงเป็น ๙ บุคคลในโลกุตตรภูมิ เป็นผู้มีทุกข์น้อยลงตามส่วน จนกระทั่งไม่มีทุกข์เลย ภาวะเช่นนี้เป็นผลมาจากการเจริญวิปัสสนา คือ เมื่อเห็นแจ้งตามเป็นจริง ก็ดับความอยากทั้งปวงได้ทำให้จิตอยู่เหนือวิสัยโลก เป็นโลกุตตรภูมิ สิ่งต่างๆ ไม่อาจครอบงำจิตของท่านได้อีกต่อไป

           นิพพาน หมายถึง " สภาพอย่างหนึ่งซึ่งตรงข้ามกับโลกด้วยประการทั้งปวง " ยกเลิกภาวะและวิสัยอย่างโลกๆ ทั้งหมดเสียก็จะเหลือนิพพาน อันเป็นธรรชาติที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งใดปรุงแต่งและไม่ปรุงแต่งสิ่งใด เป็นที่ดับของการปรุงแต่งทั้งปวง กล่าวด้วยผล นิพพานหมายถึงภาวะที่ปราศจากความเผาลน ปราศจากความตบตีทิ่มแทง ร้อยรัด ครอบงำ พัวพัน นิพพานไม่มีขอบเขตไม่กินเนื้อที่ ไม่เกี่ยวข้องกับกาลเวลา กล่าวอย่างอุปมาได้แก่แดนที่ดับของสังขารทั้งปวง นิพพานจึงเป็นธรรมที่เกษมจากโยคะหมายความว่า มีความปลอดโปร่ง ว่าง เงียบจากเครื่องร้อยรัดพัวพันหุ้มห่อโดยประการทั้งปวงนี่มันเป็นลักษณะของโลกุตตรธรรมข้อสุดท้าย เป็นสิ่งที่มุ่งหมายปลายทางของพุทธศาสนา

          เมื่อบุคคลใดละกิเลส ๓ ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสได้แล้ว ย่อมเป็นผู้อยู่เหนือโลก ตั้งอยู่ในโลกุตตรภูมิอันดับที่หนึ่ง เป็นพระอริยเจ้าอันดับแรก เรียกผู้นั้นว่าพระโสดาบัน

           นิพพานหมายถึงภาวะที่ปราศจากความเผาลน ปราศจากความตบตี ทิ่มแทง ร้อยรัด พัวพัน นิพพานไม่มีขอบเขตไม่กินเนื้อที่ ไม่เกี่ยวข้องกับกาลเวลา

สรุปความ

          ทั้งหมดนี้ เป็นการบรรยายตามลำดับของการปฏิบัติธรรม ตั้งแต่การชี้ให้รู้จักพุทธศาสนา จนกระทั่งบรรลุผลสุดท้ายว่า พุทธศาสนา คือวิชา หรือระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้จักสิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เนื่องจากไม่รู้ตามที่เป็นจริงจึงมีอุปาทานยึดติดตัวเราของเรา ทางดำเนินเพื่อการปล่อยวางความยึดติด ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อเจริญไตรสิกขาสมบูรณ์แล้ว ทำให้รู้จักขันธ์ ๕ ตามเป็๋นจริงว่า มิใช่ตัวเราของเราจึงปล่อยวางได้ วิธีเจริญไตรสิกขามี ๒ ประการ คือ ตามวิธีธรรมชาติ กับ ตามหลักวิชา เป็นการพ้นโลกกิยภูมิ บรรลุโลกุตตรภูมิด้วยการละสังโยชน์ ๑๐ เข้าถึงความเป็นอริยบุคคล ๔

           เรื่องผลสุดท้ายของพุทธศาสนาคือ " นิพพาน " อันเป็นที่สิ้นสุดทั้งหลาย ตั้งอยู่ในฐานะอุดมธรรมอันสูงสุด ดังพระพุทธภาษิตมีว่า " ผู้รู้คือพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ย่อมกล่าวพระนิพพานเป็น อุดมธรรม" ดังนี้ เรื่องนี้จะต้องศึกษาให้เข้าใจและเข้าถึงได้ตามสมควร จึงจะได้ชื่อว่า เป็นพุทธบริษัทจริงๆ มิฉะนั้นจะเป็นแต่ผู้เข้าใจ หาใช่เป็นผู้รู้แจ้งไม่ ฉะนั้น ทุกคนต้องพิจารณากิเลสของตัวเองให้เข้าใจ และพยายามไถ่ถอนออกเสียให้ได้ จงเกิดมีผลเป็นความสะอาด สว่าง สงบ

           ทางดำเนินเพื่อการปล่อยวางความยึดติด ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อเจิรญไตรสิกขาสมบูรณ์แล้ว ทำให้รู้จักขันธ์ ๕ ตามเป็นจริงว่า มิใช่ตัวเราของเราจึงปล่อยวางได้





By คู่มือมนุษย์ ( ฉบับย่อ )


No comments:

Post a Comment