Saturday, May 04, 2013

สิ่งที่ถูกรู้กับโลกที่เรารับรู้

สิ่งที่ถูกรู้กับโลกที่เรารับรู้

          เราจะเห็นว่า ปรัชญาพุทธเถรวาทถือว่า วิญญาณก็คือการรับรู้ในวัตถุ หรือวัตถุเป็นสิ่งที่วิญญาณรับรู้ได้ หากปราศจากวัตถุหรือสิ่งที่ถูกรู้ วิญญาณย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้นวัตถุจึงเป็นปัจจัยที่จำเป็นที่ก่อให้เกิดวิญญาณ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงอธิบายไว้ว่า

           " จักขุวิญญาณย่อมเกิดขึ้นจากตาและวัตถุที่มองเห็นได้จากความตั้งใจ ( ในการมองเห็น )... โสตวิญญาณย่อมเกิดจากความตั้งใจฟังอันเนื่องมาจากหู เสียง และช่องทางในการรับเสียง เช่นเดียวกับมโนวิญญาณย่อมเกิดขึ้นได้จากภวังคจิตธรรมารมณ์ และความตั้งใจ "

           แสดงว่า วิญญาณย่อมไม่เกิดขึ้นหากไม่มีวัตถุในฐานะที่เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ความคิดเช่นนี้จึงไม่จัดว่า ปรัชญาพุทธเป็นประเภทจิตนิยมแต่เป็นสัจนิยมที่ยึดความจริงจากรูปหรือวัตถุว่าเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่ความเชื่อที่ได้จากความนึกคิดที่เลื่อนลอยไร้เหตุผล ที่เชื่อว่าสิ่งที่ถูกรู้ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับการรับรู้ เพราะว่าวัตถุหรือสิ่งที่ถูกรับรู้นั้นเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เลื่อนไหลต่อเนื่องกันเป็นภพ เป็นอนิจจัง ไม่เทียง ไม่จีรัง ดังนั้น รูป ตามความหมายของพุทธศาสนาจึงไม่ใช่สิ่งที่กินเนื้อที่ แต่เป็นเพียงสิ่งที่สามารถแปรเปลี่ยนอยู่ทั่วทุกชั่วขณะเกิดดับได้อยู่ตลอดเวลา เป็นสภาพที่มีอยู่ชั่วคราว ( ขณิกะ ) เป็นความถาวรสัมพัทธ์ตามความหมายที่มองในแง่มุมการทำงานของจิตดังนั้นพุทธศาสนาจึงจัดให้วิญญาณเป็นฝ่ายนาม เป็นนามของสิ่งที่ถูกรู้ ตามความหมายทางโลกิยะธรรมของโลกแห่งการรับรู้นั่นเอง



           ตามความเชื่อของทางพุทธศาสนา โลกที่เรารับรู้เกิดจากรอยประทับระหว่างประสาทสัมผัสกับวัตถุ โดยเนื้อแท้ของมันจึงเป็นเพียง " นาม " ที่เกิดดับอยู่ทุกชั่วขณะ แต่ถูกบิดเบือนทำให้เห็นว่าเป็นของเที่ยง เนื่องจากการปรุงแต่งของจิตที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกิเลส คือ โลภ โกรธ หลง และเพราะจิตเป็นตัวปรุงแต่งเช่นนี้ โลกิยธรรมที่เรารับรู้ปรากฏขึ้นเป็นหลายมุมมอง ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า การที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะอิทธิพลแห่งกิเลสทั้งสามเป็นตัวการ ทำให้เกิดความคิดปรุงแต่งเขวห่างออกไปจากความเป็นจริง ซึ่งกิเลสดังกล่าวนี้ทางพุทธศาสนาเรียกว่า ปัจญธรรม ๓ ได้แก่ ตัณหา ความทะยานอยาก มานะ ความถือตัวว่าใหญ่สำคัญกว่าคนอื่นและ ทิฏฐิ ความใจแคบ เห็นว่าความคิดของตนถูกของผู้อื่นผิด ดังที่ท่านพระธรรมปิฎก ใช้คำว่า " อยาก ใหญ่ ใจแคบ " พระพุทธเจ้าตรัสว่า

          " ปุถุชนย่อมพอใจในนานาทัศนะแห่งโลกที่ตนรับรู้ ส่วนตถาคตทั้งหลายย่อมพอใจในสภาวะแห่งนิพพานอันปราศจากซึ่งปปัญจธรรม ดังนี้

          ที่กล่าวเช่นนี้ก็เนื่องจากจิตแห่งพระอรหันต์ทั้งหลายย่อมจำกัดการรับรู้อยู่เฉพาะในสิ่งที่รับรู้ มิได้ปรุงแต่งความหมายไปตามการรับรู้ " เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน รู้สึกเท่าที่รับความรู้สึกรู้เท่าที่รับรู้ "

           ทั้งนี้เพราะโลกในความเป็นจริงเป็นสุญญตา ตรงข้ามกับพระอรหันต์ ปุถุชนทั้งหลายย่อมมองเห็นปรากฏการณ์ของโลกวิปลาส อันเนื่องมาจากความยึดมั่นถือมั่นจนทำให้การรับรู้ ความคิดเห็น และทัศนคติถูกบิดเบือนไปจากความเป็นจริง

           ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจให้กระจ่างเสียก่อนในข้อความที่แล้วมาว่า จิตหรือวิญญาณเป็นตัวปรุงแต่งโลกที่เรารับรู้ โดยแท้จริงแล้วพุทธศาสนามิได้หมายความว่าจิตเป็นผู้สร้างโลกอันเป็นวัตถุ แต่หมายถึงเป็นการปรุงแต่งให้เกิดโลกิยธรรมแห่งการรับรู้ที่มนุษย์สมมติขึ้นมาเพื่อใช้ในการสื่อความหมาย ( สมมติสัจจะ ) ทั้งๆ ที่โดยธรรมชาติแห่งสรรพสิ่งทั้งหลาย ก่อนที่จะมีความคิดปรุงแต่งว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้นั้น โดยแท้จริงไม่มีอะไรเลย ทุกอย่างเป็นปรมัตถสัจจะ ด้วยเหตุนี้ หากพึงสังเกตในการแสดงธรรมของพระพุทธองค์นั้นจะมีลักษณะดังที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระอภิธรรมเป็น ๒ แบบ กล่าวคือ แสดงในแบบ สมมติสัจจะ ด้วยการใช้ " ภาษาคน เป็นเครื่องมือในการสื่อความหมายเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจและรู้เท่าทันในสมมติ กับการกล่าวในแบบปรมัตถสัจจะ หรือ " ภาษาธรรม " อันเป็นความจริงแท้แห่งคุณลักษณะเหล่านั้น นี่คือลีลาการแสดงธรรมของพระพุทธองค์ที่ทรงเลือกใช้ทั้ง โลกิยธรรม และ โลกุตรธรรม สำหรับแต่ละบุคคลที่มีปัญญาเข้าใจในธรรมแตกต่างกันนั่นเอง




By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment