Saturday, May 25, 2013

การเกิดใหม่ของวิญญาณ

การเกิดใหม่ของวิญญาณ

          มีชาวพุทธจำนวนไม่น้อย รวมทั้งภิกษุชื่อดังหลายรูปที่มีความเข้าใจสับสนในทฤษฎีความเชื่อระหว่าง ดวงวิญญาณหรืออัตตาในปรัชญาอุปนิษัท กับ วิญญาณหรือจิตในทางพุทธศาสนาจากบทที่ว่าด้วยเรื่องวิญญาณที่ผ่านมา เราจะพบว่า ปัญหาหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวพุทธก็คือการนำเอาความเชื่อในเรื่องของการกลับชาติมาเกิดหรือการเกิดใหม่เพื่อใช้กรรม มาเป็นเรื่องเดียวกันกับหลักอนัตตา ต่อไปนี้เป็นการตอบคำถามที่ว่า หากไม่มีอัตตา การกลับชาติมาเกิดใหม่กับการเสวยผลของกรรมจะเป็นไปได้อย่างไร ? ศาสตราจารย์ ริส เดวิดส์ ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า

          " เรากำลังมาถึงทางตันในการอิบายเพื่อให้สอดคล้องกลมกลืนและสร้างความยุติธรรมระหว่างความเชื่อในทางจิตวิญญาณของพุทธศาสนาที่ปฏิเสธทฤษฎีอัตตา กับ การแสวงหาที่อยู่ใหม่ของดวงวิญญาณตามความเชื่อของชาวอุปนิษัท "

           อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีความเชื่อเกี่ยวกับจิตวิญญาณในทางพุทธศาสนา อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดๆ เกี่ยวกับดวงวิญญาณทีล่องลอยไปแสวงหาที่อยู่ใหม่ตามความเชื่อของชาวอุปนิษัท โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นศึกษาพุทธศาสนาใหม่ๆ ดังนั้นชาวพุทธจึงควรทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้งเสียก่อน เพราะในทางพุทธศาสนาไม่เชื่อว่ามีอัตตาหรือดวงวิญญาณถาวรใดๆ  ( transmigrating soul )  ที่จะลอยออกจากร่างคนตายไปแสวงหาร่างใหม่ เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายเป็นสังขตธรรม ไม่มีอยู่จริง ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตภาวะใดๆ ที่จะออกจากภพก่อนมาสู่ภพปัจจุบัน


           อาจจะมีคำถามต่อไปว่า หากไม่มีดวงวิญญาณแล้ว อะไรเล่าที่จะไปเกิดในอีกภพหนึ่ง ? คำตอบที่ควรได้ฟังจากชาวพุทธก็คือจิตหรือวิญญาณ ( consciousness )  ต่างหากที่ไปเกิดใหม่ ดังในมหานิทานสูตรที่อ้างพุทธพจน์ว่า " หากวิญญาณไม่ลงไปจุติในครรภ์มารดา รูปและนามก็ย่อมจะไม่เกิด " นั่นแสดงว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดก็คือ จิต และต้องไม่สับสนว่า จิต ในทางพุทธศาสนาไม่ใช่สิ่งเดียวกับดวงวิญญาณ และไม่เหมือนดวงวิญญาณในปรัชญาอุปนิษัทที่เชื่อว่า ล่องลอยแสวงหาที่อยู่ใหม่หลังความตาย ดังที่เคยมีภิกษุรูปหนึ่งเชื่อว่า จิตกับดวงวิญญาณคือสิ่งเดียวกัน ถูกพระพุทธเจ้าตำหนิว่าบิดเบือนหลักคำสอนของพระองค์ ดังนี้

           " ดูก่อน ภิกษุทั้งผู้โง่เขลา เหตุใดเธอจึงยังไม่เข้าใจในธรรมที่ตถาคตเคยแสดงย้ำอยู่เสมอว่า ไม่มีวิญญาณใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยปราศจากปัจจัย หากปราศจากสิ่งปรุงแต่งแล้ว วิญญาณย่อมหามีไม่ "

           ตามหลักทางพุทธศาสนา วิญญาณเป็นสิ่งที่เกิดดับอยูทุกชั่วขณะไม่เคยคงที่อยู่แม้แต่ชั่วอึดใจเดียว จึงทำให้เราเกิดความรู้สึกว่า วิญญาณมีการเลื่อนไหลเป็นกระแส ทั้งนี้ก็ด้วยความรวดเร็วของการเกิดดับติดต่อกันไปอย่างไม่ขาดสาย ในขณะที่วิญญาณเดิมดับลงย่อมจะเกิดวิญญาณใหม่ขึ้นมาแทนศักยภาพของวิญญาณเดิมติดต่อกันไปเป็นลูกคลื่น ในทางพุทธศาสนาถือว่า วิญญาณนั้นมีการเกิดดับอยู่ทุกชั่วขณะในชีวิตประจำวัน ดังนั้นจึงถือว่าชีวิตของสรรพสิ่งทั้งหลายนี้มีอยู่เพียงชั่วขณะสั้นๆ ในช่วงของการเกิดดับของวิญญาณเป็นกระบวนของการเกิดดับทุกชั่วขณะของวิญญาณในทุกชั่วขณะของชีวิตประจำวัน แม้ว่าจะมีหลักคำสอนทางพุทธศาสนาที่พระพุทธโฆษจารย์นำมาประยุกต์ใช้ในการอธิบายการดับสลายลงของช่องทางร่างกายตลอดจนการเกิดใหม่ของชีวิตในภพหน้าในเรื่องของกฏแห่งกรรม โดยกล่าวว่า อาศัยการดับของวิญญาณเดิมจึงก่อให้เกิดวิญญาณใหม่ติดตามมา วิญญาณในอดีตที่สิ้นสุดลงในทางพุทธศาสนาเรียกว่าจุติวิญญาณ และวิญญาณที่เกิดขึ้นใหม่มาแทนที่เรียกว่า ปฏิสนธิวิญญาณ ทันใดที่จุติวิญญาณดับก็จะมีปฏิสนธิวิญญาณเกิดตามมาเป็นเช่นนี้ติดต่อกันไป

           สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจอีกประการหนึ่งก็คือ จุติวิญญาณไม่ใช่ตัวดวงวิญญาณที่ล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่อย่างที่เราเข้าใจตามความเชื่อในปรัชญาอุปนิษัทที่ทำให้เกิดความสับสนจนทำให้ทฤษฎีวิญญาณของพุทธศาสนาเกิดความไขว้เขว เพราะโดยความจริงมันเป็นเพียงการปรุงแต่งทางความคิด ทำให้มีความรู้สึกว่า จุติวิญญาณนั่นเองคือตัวที่ก่อให้เกิดชีวิตใหม่ ซึ่งในความเป็นจริง ทั้งจุติวิญญาณและปฏิสนธิวิญญาณ แม้จะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่แตกต่างกัน ดังคำกล่าวที่ว่า " เพราะวิญญาณมีการเลื่อนไหลติดต่อกันเป็นกระแส มันจึงไม่ใช่สิ่งที่เหมือนกันและไม่ใช่สิ่งที่แตกต่างกัน "

           พึงสังเกตว่า ทั้งจุติวิญาณ และ ปฏิสนธิวิญญาณต่างก็คือภวังคติวิญญาณ ดังที่พระพุทธโฆษาจารย์อธิบายว่า วิญญาณสุดท้ายที่ดับลงในภพหนึ่งก็คือจุติวิญญาณ และวิญญาณที่เกิดในภพใหม่ก็คือปฏิสนธิวิญญาณ วิญญาณสุดท้ายที่ดับลงจะถูกติดตามมาด้วยกระแสของภวังวิญญาณ ติดต่อกันไปจนกว่าจะมีวิถีวิญญาณมาทำหน้าที่แทน จึงอาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า " หากเราเชื่อในความมีอยู่จริงของวิญญาณที่เป็นอัตตาล่องลอยหาที่เกาะเกี่ยวอยู่จากชีวิตหนึ่งไปยังอีกชีวิตหนึ่งตามผลของกรรมเก่าตามความเชือเรื่องปรัชญาอุปนิษัทแล้ว ทฤษฎีความเชื่อทางพุทธศาสนาเกี่ยวกับหลักอนัตตาคงจะต้องพังครืนลงอย่างไม่เป็นท่า และในทำนองเดียวกัน หากทฤษฎีความเชื่อในเรื่องการเกิดใหม่ของวิญญาณตามหลักพุทธศาสนาไปกันไม่ได้กับหลักของกฏแห่งกรรมที่จะได้กล่าวต่อไป การประพฤติปฏิบัติพรหมจรรย์ของพุทธบริษัทเพื่อการดับทุกข์ก็ย่อมไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง "

            เกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุ ภิกษุในแนวความคิดปฏิรูปที่ล่วงลับไปแล้วไม่เห็นด้วยกับหลั กคำสอนในเรื่องปฏิสนธิวิญญาณที่พระพุทธโฆษาจารย์อธิบายไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านพุทธทาสภิกขุยืนยันว่า ถ้าเราเชื่อตามหลักอนัตตา การที่มีท่านผู้รู้พยายามอธิบายเกี่ยวกับปฏิสนธิวิญญาณชนิดที่เป็นตัวตนย่อมเป็นไปไม่ได้หากจะเรียกว่ามีปฏิสนธิวิญญาณก็คงจะเป็นหนึ่งในวิญญาณทั้งหกที่พระพทุธเจ้าทรงอธิบายไว้ในวงจรปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง

            จากจุดยืนนี้ เราจึงต้องพบกับการสอนให้เชื่อในเรื่องการเกิดใหม่ที่มีผลมาจากการกระทำในอดีตชาติ ตามที่มีการอธิบายไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค โดยท่านพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งชาวพุทธจำนวนไม่น้อยพากันเชื่อว่า การเกิดใหม่ หรือการกลับชาติมาเกิด เป็นผลกรรมในชาติก่อน เป็นศักยภาพอันเกิดจากผลของการประกอบกรรมที่ห่อหุ้มอยู่ด้วยอนุสัยแห่งความมืดบอด ( อวิชชานุสัย ) รวมกับรากเหง้าแห่งความใคร่อยาก ( ตัณหานุสัย ) การสอนพุทธธรรมในระดับศีลธรรมเช่นนี้ทำให้เราพากันเชื่อว่า การเกิดใหม่ย่อมมีผลมาจากกรรมดีกรรมชั่วในช่วงที่ชีวิตกำลังจะดับลง กรรมที่เป็นปัจจัยปรุงแต่งต่อการเกิดใหม่นี้ เราเรียกว่า กรรมที่ก่อให้เกิดผล ส่วนท่านพุทธทาสภิกขุมีความเห็นว่า กระบวนการเกิดดับแห่งทุกข์ตามวงจรปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องของการกระทำในชาตินี้ ไม่มีส่วนเกี่ยวกับชาติก่อนชาติหน้าแต่อย่างใด ดังนั้น หลักคำสอนในเรื่องการเกิดใหม่ที่นำมาเชื่อมต่อให้เข้ากันได้กับกฏแห่งกรรมในพุทธศาสนานี้ ปัวซอง แสดงความเห็นไว้ดังนี้

            " การสอนในเรื่องกฏแห่งกรรมที่ส่อคล้อยไปตามความเชื่อเกี่ยวกับดวงวิญญาณ แท้ที่จริงแล้วก็เพื่อเหตุผลในการอธิบายด้านศีลธรรมแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ยัง คงเชื่อว่าจะต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไปอีกหลายภพหลายชาติ "




By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment