Thursday, May 02, 2013

คู่มือมนุษย์ ( ๑ )

ท่านชอบพุทธศาสนาในเหลี่ยมไหน

          ทุกศาสนามีมูลเหตุมาจากความกลัว นับตั้งแต่กลัวภัยธรรมชาติ จนถึงกลัว เกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือ กลัวกิเลส วิธีปฏิบัติเพื่อให้รอดพ้นจากความกลัวนั้นๆ เรียกว่า " ศาสนา " เช่นมีการบูชาบวงสรวงอ้อนวอนเป็นต้น

          พุทธศาสนา มีมูลมาจากกลัวความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือ กลัวกิเลส อันเป็นต้นทุกข์หรือเหตุให้เกิดทุกข์ วิธีปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ คือ การพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริงด้วยตนเองว่า " อะไรเป็นอะไร " เมื่อเห็นจริงก็ปฏิบัติถูกต่อสิ่งทั้งปวง การปฏิบัติถกนั่นเองเป็นทางดับทุกข์ การบูชา บวงสรวง อ้อนวอน การรดน้ำมนต์ ตลอดจนการนับถือเทวดา หรือดวงดาวมิใช่ทางดับทุกข์ ตามหลักแห่งพุทธศาสนา

          พุทธศาสนาดูได้หลายเหลี่ยม เช่นเดียวกับศาสนาอื่นๆ ตามแต่สติปัญญาความรู็ความเข้าใจของผู้ดู คัมภีร์ของศาสนาต่างๆ หรือพระไตปิฎกของพุทธศาสนาจึงมีการเเพิ่มเติมเข้าไปอีกมาก ตามความเห็นของคนชั้นหลัง จนเกินขอบเขต โดยเฉพาะในพระพุทธศาสนา ได้มีการหลงถือเอาพิธีต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ เช่น พิธีเซ่นวิญญาณของพระพุทธเจ้าเป็นต้นว่าเป็นพุทธศาสนา พิธีบางอย่างได้ห่อหุ้มความหมายเดิมให้สาบสูญไป เช่น พิธี " บวชนาค " ได้มีการทำขวัญนาค มีกรเฉลิมฉลองกันใหญ่โตบวชไม่กี่วัน สึกออกมายังเหมือนเดิม การบวชสมัยพระพุทธเจ้า ผู้ได้รับอนุญาติจากบิดามารดาแล้วปลีกตัวออกจากเรือนไปหาพระ การบวชเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ทางบ้านไม่มีหน้าที่ทำอะไรเลย พิธีที่เพิ่มขึ้นเหล่านั้นไม่ได้ทำให้ผู้บวชดีขึ้น บางคนสึกไปแล้วกลับเลวกว่าเก่าก็มี จึงเป็นการให้หมดเปลืองทรัพย์ และแรงงานไปเปล่าๆ


          เรื่อง " กฐิน " ก็เช่นกัน ความมุ่งหมายเดิมมีว่าให้พระทุกรูปทำจีวรใช้เอง ให้พร้อมเพรียงกัน ทำด้วยมือตนให้หมดความถือตัว โดยให้ลดตัวเองมาเป็นกุลีเท่ากันหมด แต่เดี๋ยวนี้กฐินกลายเป็นเรื่องมีไว้สำหรับประกอบพิธีหรูหราหาเงิน เอิกเกริกเฮฮาสนุกสนานพักผ่อนหย่อนใจโดยไม่ได้รับผลสมความมุ่งหมายอันแท้จริง

          ลักษณะดังกล่าวมานี้ เรียกว่าเป็น " เนื้องอก " ของพุทธศาสนา ซึ่งมีมากมายหลายร้อยอย่าง จัดเป็นเนื้อร้ายชนิดหนึ่งที่งอกออกมาปิดบังเนื้อดีหรือแก่นแท้ของพุทธศาสนาให้ค่อยๆ เลือนหายไป นิกายต่างๆ ก็เกิดขึ้นหลายสิบ ที่กลายเป็นพุทธศาสนาอย่างนิกายอันตระซึ่งเนื่องกับกามารมณ์ไปก็มี จำเป็นที่จะต้องแยกพุทธศาสนาเดิมแท้ไว้ให้ได้เสมอ ไม่หลงยึดถือเอาพิธีรีตองต่างๆ ที่เป็นเปลือกหุ้มภายนอก จนมีการปฏิบัติผิดจากความมุ่งหมายที่ถูกต้อง ควรยึดเอากายวาจาบริสุทธิ์ให้เป็นที่ตั้งของจิตบริสุทธิ์ เพื่อให้เกิดปัญญารู้ว่า " อะไรเป็นอะไร " ที่ถูกต้องแล้วประพฤติปฏิบัติไปตามนั้น ดังนี้เรียกว่าปฏิบัติถูกตามหลักพุทธศาสนา

          พุทธศาสนาตัวแท้ ก็ยังมีหลายแง่หลายมุมที่ทำให้เกิดการจับฉวยไม่ถูกความมุ่งหมายเดิม เช่น ถ้ามองดูด้วยสายตาของนักศีลธรรมก็จะเห็นว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งศีลธรรม เพราะมีการกล่าวถึงบุญบาป ดีชั่ว ความซื่อตรง ความกตัญญูกตเวที ความสามัคคี ความเป็นผู็เปิดเผยตนเอง เหล่านี้เป็นต้น คนส่วนมากมองเห็นพุทธศาสนาในฐานะเป็นศีลธรรมเท่านั้น

           พุทธศาสนาชั้นสูงกล่าวถึงสัจธรรมที่ลึกซึ้งเร้นลับ ได้แก่ ความรู้เรื่องความว่างเปล่าของสิ่งทั้งปวง ( สุญญตา ) เรื่องความไม่เที่ยง ( อนิจจัง )  เรื่องความทุกข์ ( ทุกขัง ) เรืองความไม่ใช่ตัวตน ( อนัตตา ) หรือเรื่องที่เปิดเผยถึงความจริงว่า ทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับสนิทของความทุกข์เป็นอย่างไร และวิธีปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เป็นอย่างไร อันเป็นความจริงที่เด็ดขาดเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ( อริยสัจ ) ซึ่งทุกคนควรรู้พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นสัจธรรมนี้ แต่ยากที่คนธรรมดาจะมองเห็๋น

          พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา หรือระเบียบการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ความหลุดพ้น ( วิมุตติ ) ปัญญาที่รู้เห็นความหลุดพ้น ( วิมุตติญาณทัสสนะ ) พุทธศาสนาในส่วนนี้ หมายถึงทางที่เอาตัวรอดโดยตรง

          พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นจิตวิทยาชั้นสูง ดังที่รวบรวมไว้ในคัมภีร์อภิธรรมปิฎก บรรยายถึงลักษณะของจิตไว้อย่างกว้างขวางน่าอัศจรรย์ที่สุด แยบคายหรือลึกลับกว่าความรู้ทางด้านจิตวิทยาของโลกปัจจุบันฃ

          พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นปรัชญาและวิทยาศาสตร์คือส่วนที่เห็นแจ้งชัดได้ด้วยการพิสูจน์แต่ทดลองมิได้กับส่วนที่เห็นแจ้งด้วยตาเนื้อหรือตาใน และพิสูจน์ทดลองได้ ความรู้เรื่องสุญญตาเป็นปรัชญาสำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุธรรม แต่เป็นวิทยาศาสตร์สำหรับผู้บรรลุธรรมหลักพุทธศาสนาบางประเภทเป็นวิทยาศาสตร์โดยส่วนเดียว เพราะอาจพิสูจน์ให้เห็นแจ้งชัดได้ด้วยสติปัญญาเช่นเรื่องอริยสัจเป็นต้น

          พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นหลักวัฒนธรรม มีคำสอนหลายข้อที่ตรงกับหลักวัฒนธรรมทั้งทางกายและทางจิตตรงกับหลักศาสนาสากล ที่เป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธโดยเฉพาะ ซึ่งดีกว่าสูงกว่าวัฒนธรรมสากลอย่างมากมายก็ยังมี

           โดยเหตุเหล่านี้ จึงกล่าวว่าพุทธศาสนามีหลายเหลี่ยมมองในฐานะที่เป็นตรรกวิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์ที่โยกโคลงที่สุดปรากฏว่ามีมากเหมือนกัน เช่นในคัมภีร์กถาโบราณเป็นต้น

            เหลี่ยมที่ต้องสนใจมากที่สุด คือเหลี่ยมที่เป็นศาสนา ซึงหมายถึงวิธีปฏิบัติเพื่อให้รู้ความจริงว่า สิ่งทั้งปวงเป็นอะไร จนถอนความยึดถือหลงใหลต่างๆ ออกมาเสียจากสิ่งทั้งปวงได้ เป็นการเข้าถึงตัวแท้ของพระพุทธศาสนา มีผลดีกว่าการไปสนใจในเหลี่ยมอื่น

            พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศิลปะ หมายถึงศิลปะแห่งการครองชีวิต โดยสามารถใช้วิธีปฏิบัติทางพุทธศาสนามาชุบย้อมการกระทำตนให้เป็นที่น่าดูน่าชมน่าเลื่อมใสบูชา เป็นที่จับอกจับใจแก่คนทั้งหลาย วิธีปฏิบัตินั้นคือ อาศัยศีลบริสุทธิ์เป็นเครื่องมือทำให้งดงามในเบื้องต้น อาศัยสมาธิทำให้งดงามในท่ามกลาง อาศัยปัญญาทำให้งดงามในเบื้องปลาย ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยความงาม ๓ ประการนี้ ย่อมบันเทิงในทางธรรม พุทธศาสนาจึงมองในฐานะเป็นโรงมหรสพทางวิญญาณได้อีกประการหนึ่ง

           ธรรมะในพุทธศาสนาเป็นอหารใจอย่างดี วิญญาณซึ่งเป็นอิสระหรือบริสุทธิ์ ต้องการความบันเทิงที่เป็นอาหารทางธรรมะนับตั้งแต่ความยินดีปรีดาที่รู้สึกว่าตนได้ทำอะไรอย่างถูกต้องเป็นที่น่าพอใจของผู้รู้ทั้งหลายมีความสงบระงับในจิตใจชนิดที่กิเลสเรียกร้องอะไรไม่ได้ มีความเห็นแจ่มแจ้งรู้เท่าทันสิ่งทั้งปวงว่า " อะไรเป็นอะไร " ไม่ทะเยอทะยานในสิ่งใด มีอาการเหมือนกับนิ่งลงได้ ไม่ต้องวิ่งไปวิ่งมาเหมือนคนทั้งหลาย ชนิดที่ท่านเปรียบไว้ว่า " กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ " กลางคืนคิิดวุ่นวายจะให้ได้สิ่งปรารถนา ครั้นพอรุ่งขึ้น ก็วิ่งว่อนไปตามความต้องการของควันที่อัดไว้แต่เมื่อคืน นี่เป็นลักษณะที่จิตใจมิได้รับความสงบ ไม่ได้รับอาหารทางธรรม แต่เป็นการกระหายไปตามอำนาจของกิเลสตัณหาโดยส่วนเดียว

           เมื่อพุทธศาสนามีลักษณะหลายเหลี่ยมหลายมุมดังนี้ เราควรมองให้เห็นพุทธศาสนาตัวแท้ เนื่องจากพุทธศาสนามีมูลมาจากความกลัวต่อการบีบคั้นของความเกิดแก่เจ็บตาย หรือกิเลสตัวแท้ของพุทธศาสนาจึงต้องเป็นการปฏิบัติด้วยกายวาจาใจชนิดที่จะทำลายกิเลสให้ร่อยหรอหรือสิ้นไปในที่สุด เกิดความสว่างไสวสามารถทำอะไรถูกต้องด้วยตนเอง ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนอวสาน การปฏิบัติเพื่อผลอันนี้ ไม่จำเป็นต้องเนื่องด้วยตำรา ไม่ต้องอาศัยพิธีรตองหรือสิ่งภายนอกแต่อย่างใดเลย เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียง " เนื้องอก " ของพุทธศาสนาเท่นั้น





By คู่มือมนุษย์ ( ฉบับย่อ )

No comments:

Post a Comment