Thursday, May 16, 2013

คู่มือมนุษย์ ( ๓ )

ลักษณะสามัญของสิ่งทั้งปวง ( ไตรลักษณ์ )

          สิ่งทั้งปวงประกอบอยู่ด้วยลักษณะ ๓ ประการ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

          อนิจจัง แปลว่า ไม่เที่ยง หมายความว่า สิ่งทั้งปวงมีลักษณะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่คงที่ตายตัว

          ทุกขัง แปลว่า ทุกข์ หมายความว่า สิ่งทั้งปวงมีลักษณะเป็นทุกข์ ดูแล้วน่าสังเวชใจ ก่อให้เกิดความทุกข์ใจแก่ผู้เห็นแจ้งในสิ่งนั้นๆ

          อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน หมายความว่าทุกสิ่งไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวตน ไม่มีลักษณะอันใดที่จะทำให้ถือได้ว่าเป็นของเรา

          ลักษณะ ๓ ประการนี้ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมากกว่าคำสอนอื่นๆ บรรดาคำสอนทั้งหลายอื่น มารวมยอดอยู่ที่การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งสิ้นหลักอนิจจัง ทุกขัง มีสอนอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า ผิดกันแต่ยังไม่ได้ขยายความให้ละเอียดลึกซึ้งที่สุด มีสอนแต่ในพุทธศาสนา ข้อนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่รู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของตน

          เมื่อมีการปฏิบัติตามหลักไตรลักษณ์นี้จนเห็นแจ้งแล้ว จะทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นอย่างหนึ่ง คือ " ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีอะไรที่น่าเป็น " หมายความว่า การมองเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างถูกต้อง คือการมองเห็นความมี ความเป็น อย่างใดอย่างหนึ่งว่า เป็นความหลอกลวง เป็นมายา ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น ทั้งหมดทั้งสิ้น การมองเห็นนี้ไม่ใช่เป็นการเห็นด้วยความรู้สึกในใจแท้จริงจนเกิดความสลด สังเวช เบื่อหน่าย จึงจะเรียกว่า " เห็นธรรม " ผู้ที่ท่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือพิจารณาอยู่ทั้งวันทั้งคืน แต่ถ้าไม่เกิดความรู้สึกถอยหลังต่อสิ่งทั้งปวง ก็เรียกว่ายังไม่เห็นแจ้ง เป็นอันว่า การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่แท้จริง คือ ต้องเห็นจนเกิดความรู้สึกว่า " ไม่มีอะไรที่น่าเอา น่าเป็น "


           พุทธศาสนามีคำรวบยอดอยู่คำหนึ่ง คือ " สุญญตา " แปลว่า ความว่าง คือว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน ว่างจากสาระที่จะเข้าไปยึดถือว่า ตัวของเราเมื่อรู้แจ้งว่าทุกสิ่งว่างจากตัวตนแล้ว ก็เรียกว่ารู้พุทธศาสนาถึงที่สุด

           คำว่า " ว่างจากตัวตน " เป็นคำที่รวบรวมเอาความหมายของคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไว้ทั้งหมด คือเมื่อมันไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่มีส่วนไหนที่ยั่งยืนถาวร ก็เรียกว่าว่างได้ เมื่อเต็มไปด้วยลักษณะที่ดูแล้วน่าสังเวชใจ ก็แปลว่าว่างจากส่วนที่ควรจะเข้าไปยึดถือเอา เมื่อพิจารณาดูไม่เห็นมีลักษณะไหนที่ควรจะเข้าไปยึดถือเอา เมื่อพิจารณาดูไม่เห็นมีลักษณะไหนที่จะคงทนเป็นตัวตนของมันเองได้ ดังนี้ก็เรียกว่าว่างจากตัวตน ถ้ามองเห็นความว่างของสิ่งทั้งปวงดังนี้แล้ว จะเกิดความรู้สึก " ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น " ในสิ่งต่างๆ ขึ้นมาทันที ความรู้สึกชนิดนี้มีอำนาจเพียงพอที่จะคุ้มครองคนเรา ไม่ให้ตกเป็นทาสของกิเลสหรืออารมณ์ทุกชนิด ทำให้จิตเป็นอิสระอยู่เสมอ การพิจารณาให้เห็นว่า สิ่งทั้งปวงว่างจากสาระที่ควรเข้าไปยึดถือนั้น เป็นตัวแท้ของพระพุทธศาสนาเป็นหัวใจของการปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา

          ที่ว่า " ไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็น " นี้ มิได้หมายความว่า คนเราจะอยู่ได้โดยไม่มีอะไรเป็นอะไรเสียเลย แต่หมายความว่า อย่าเอาหรือเป็นด้วยจิตใจที่หลงยึดถือจะทำให้เกิดทุกข์ พุทธศาสนาสอนในทางที่จะไม่เอาไม่เป็น ก็เพราะการเอาการเป็นนั้น เป็นเต่เรื่องสมมติที่เป็นไปด้วยอำนาจอวิชชา เมื่อพูดถึงความจริงขั้นปรมัตถ์ คนเราจะเอาจะเป็นอะไรไม่ได้เลย เพราะทั้งคนที่จะเอาและสิ่งที่จะถูกเอานั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนของใครด้วยกันทั้งนั้น การเอาการเป็นเกิดมาจากความอยาก ( ตัณหา ) ที่ติดมาโดยสัญชาตญาณตั้งแต่อยู่ในท้อง พอเกิดมาก็รู้จักอยาก และรู้จักทำตามความอยาก จนสำเร็จผลอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา แล้วส่งทยอยให้เกิดความอยากอย่างอื่นต่อไปอีก วนเป็นวงกลมของกิเลส กรรม วิบาก ซึ่งเรียกว่าวัฏฏสงสารอยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ต้องทนทุกข์ทรมานไม่รู้จักจบสิ้น ศีลธรรมหรือจริยธรรม ไม่อาจแก้ทุกข์นี้ได้ ต้องอาศัยตัวแท้ขอพุทธศาสนา อันเป็นหลักธรรมชั้นสูง สำหรับแก้ไขเรื่องนี้โดยเฉพาะ

          ความอยากมี ๓ อย่าง คือ กามตัณหา อยากในสิ่งที่ตนรักใคร่พอใจ ภวตัณหา อยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตามที่ตนอยากเป็น วิภวตัณหา อยากไม่ให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตามที่ตนอยากไม่ให้เป็น มีความอยากที่ไหนมีความร้อนใจที่นั่น เมื่อต้องทำตามความอยาก ย่อมมีความทุกข์เกิดขึ้น ได้ผลมาแล้วก็ไม่หยุดอยาก ยังอยากต่อไป คนทำชั่วเพราะอยากทำชั่ว คนทำดีก็เพราะอยากทำดี ลำพังแต่ความดีอย่างเดียวไม่พอ เพราะยังไม่เป็นอิสระ ยังต้องเป็นทาสของความอยาก ยังต้องเป็นทุกข์ ต้องทำสิ่งที่เหนือกว่าการทำดี คือทำจิตให้หลุดพ้นจากการเป็นทาสของความอยาก เอาชนะความอยากทั้ง ๓ ให้ได้ จึงจะพ้นจากความทุกข์

          วิธีตัดรากเหง้าของความอยาก คือ พิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตนจนมองเห็นว่า ไม่มีอะไรที่น่าอยากเอา น่าอยากเป็นเพราะทุกสิ่งที่อยากล้วนแต่นำความทุกข์ นำภาระอันหนักมาให้ทั้งสิ้น เมื่อเราได้อะไรมา ก็จำต้องจัดการกับสิ่งนั้นๆ ให้มันคงอยู่กับเรา ให้เป็นไปตามใจเรา หรือให้ประโยชน์แก่เรา แต่ตามปกติสิ่งนั้นๆ เป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คือไม่รับรู้ต่อความประสงค์ของบุคคลใด มีแต่จะเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง การพยายามของคนเรา จึงเป็นการต้านกฏแห่งความเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดความยากลำบาก เป็นการทรมานในการที่จะเป็นอยู่ หรือกระทำสิ่งทั้งหลายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

           อุบายที่จะทำให้รู้ว่า " สิ่งทั้งปวงไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น " ได้แก่ การพิจารณาให้ลึกซึ้งจนพบความจริงว่าการเอาเป็นของผู้ที่มีกิเลสตัณหา ย่อมเอาเป็นด้วยความอยาก ส่วนการเอาการเป็นของผู้ที่ไม่มีกิเลสตัณหาย่อมเอาเป็นด้วยปัญญาที่ทำให้ไม่เกิดความทุกข์ พระอรหันต์หรือพระพุทธเจ้าก็ยังมีการทำการเป็นอยู่ ท่านทำงานมากกว่าผู้ที่มีกิเลสเสียอีก แต่การกระทำของท่านไม่ก่อให้เกิดความทุกข์ เพราะท่านทำไปด้วยอำนาจของปัญญาคู่กับเมตตา เพื่อช่วยสัตว์โลกโดยไม่หวังผลตอบแทนแต่ประการใดเลย

          ผู้หวังพ้นทุกข์ ควรฝึกฝนตนในการที่จะทำ หรือจะ " เอา " แต่ด้วยอำนาจของสติปัญญา ไม่ทำไปด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา นับตั้งแต่การศึกษาเล่าเรียนการประกอบอาชีพเป็นต้นไป ต้องให้มีปัญญาควบคุมอยู่เสมอ  จะทำให้ไม่ร้อนใจทั้งก่อนทำ กำลังทำ และทำเสร็จแล้ว หลักสำคัญต้องให้รู้สึกเสมอว่า " สิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น " เมื่อรู้สึกได้ดังนี้ จะทำให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายด้วยปัญญาไม่ตกหลุมของตัณหา ไม่ก่อให้เกิดทุกข์ตั้งแต่ต้นจนปลาย ไม่หลงยึดถือเป็นตัวตน หรือของตน ในฐานะเป็นสิ่งที่น่าเอาหรือน่าเป็น คงทำไปด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ปล่อยให้เป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี หรือตามกฏหมาย

          เกี่ยวกับ " การเป็น " ก็เหมือนกัน ต้องไม่ยึดถือในการได้เป็นนั่นเป็นนี่ เพราะการเป็นทุกชนิด ล้วนแต่นำมาซึ่งความทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งนั้น อุบายง่ายๆ ก็คือพิจารณาให้เห็นว่า ไม่มีอะไรที่น่าเป็น หรือไม่มีการเป็นอะไรที่น่าสนุกเลย นับตั้งแต่การเป็นบุตรธิดา เป็นบิดามารดา เป็นสามีภรรยา ตลอดจนกระทั่งเป็นเทวดา เป็นพรหม ถ้ามีความรู้ชนิดที่เรียกว่า รู้อะไรเป็นอะไรอย่างแท้จริงแล้ว จะเห็นว่าทุกอย่างล้วนไม่น่าสนุก เพราะเป็นการทนทำ ทนเอา ทนเป็น ทนอยู่โดยไม่รู้สึกตัวฉะนั้นจึงควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น ในลักษณะที่จะทำเป็นทุกข์น้อยที่สุด หรือไม่ให้เป็นทุกข์เลย

           แนวทางพุทธศาสนามีอยู่อย่างนี้ จะทำได้หรือไม่ก็ตาม จะปรารถนาหรือไม่ก็ตาม แนวทางการพ้นทุกข์มีอยู่อย่างนี้ ถ้าวันนี้ไม่ปรารถนา วันหน้าต้องปรารถนาเพราะว่าเมื่อละชั่วหมดแล้ว และทำความดีก็ทำเต็มเปี่ยมแล้ว ความรู้สึกทีว่าจิตยังหม่นหมองด้วยตัณหาชั้นประณีตยังมีอยู่ จะผลักดันให้มีความพยายามอยู่เหนือตัณหา จนไม่มีความอยากโดยสิ้นเชิง เป็นการพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงในที่สุด

           ผู้หวังพ้นทุกข์ ควรฝึกตนในการที่จะทำ หรือ จะ " เอา " แต่ด้วยอำนาจของสติปัญญา ไม่ทำไปด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา




By คู่มือมนุษย์ ( ฉบับย่อ ) 


       

No comments:

Post a Comment