Tuesday, February 26, 2013

ข้ามน้ำด้วยอ้อต้นเดียว

ข้ามน้ำด้วยอ้อต้นเดียว

         บุรพจารย์ตั้กม้อ หรือท่านพระโพธิธรรมมหาครูบา เดิมเป็นราชโอรสองค์ที่ ๓ แห่งแคว้นคันธารราษฏร์ ภายหลังท่านได้รับถ่ายทอดบาตรจีวร สังฆาฏิ ธรรมทั้งหมดของพระพุทธเจ้าจากพระสังฆราชปรัชญาตาระเถระ ( พระสังฆปรินายกองค์ที่ ๒๗ ของอินเดีย ) ซึ่งทำนายว่า หลังจากดับขันธ์ไปแล้ว ๖๗ ปี บ้านเมืองจะเกิดภัยสงครามครั้งใหญ่ ให้พระโพธิธรรมไปเผยแพร่พระธรรม ( สุญญตา ) ของพระพุทธเจ้าในประเทศจีน

          เมื่อพระโพธิธรรมอายุ ๑๒๐ พรรษา ได้ลงเรือโต้คลื่นสมุทร ๓ ปี มาถึงประเทศจีน สมัยจักรพรรดิ์เหลียงอู่ตี้ ( ประมาณ พ.ศ. ๑๐๖๗ ) วางรากฐานให้กับพระพุทธศาสนานิกายฌานในประเทศจีน ส่งผลสะเทือนต่อศิลปวัฒนธรรมและประเพณีชาวจีนอย่างใหญ่หลวง

          ปัจจุบัน เรามักพบเห็นภาพท่านพระโพธิธรรมหนวดเคราผมเผ้าพลิ้วไสวยืนลอยบนต้นอ้อเล็กๆ ข้ามแม่น้ำในบ้านเรือนชาวจีน ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นการแสดงอิทธิฤทธิ์ของท่าน อันที่จริงนี่เป็นทัศนคติที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง



           ต้นอ้อเล็กใต้เท้าท่านพระโพธิธรรมเป็นสัญลักษณ์ว่า " มนุษย์ต้องมีจิตตรวจสอบตนเอง " ถ้าทำงานโดยไม่มีการตรวจสอบทบทวน ก็เฉกเช่นเดินบนผิวน้ำ มีอันตรายที่จะจมน้ำเสียชีวิตได้ง่ายเพราะคลื่นลมซัดกระหน่ำ คนเราถ้าเอาแต่บุกหน้ามุทะลุไม่สำรวจตรวจสอบ ก็จะเกิดความผิดพลาดได้ง่าย สภาวะปกติของคนเราเมื่อมัวหมอง ก็จะสิ้นอานิสงส์ถ้าพยายามสำรวจตรวจสอบตนเอง ชำระสิ่งสกปรกในจิตใจ หมั่นระลึกถึงพระธรรมเสมอๆ ปฏิบัติต่อสรรพชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน ทำงานด้วยความซื่อตรง ย่อมได้อานิสงส์ไม่เบา ถ้านอบน้อมเคารพผู้อื่น หมั่นปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียร นั่นก็คือบุญ นั่นก็คืออนิสงส์

           ความหมายในอีกแง่หนึ่งคือ ทำดีแล้วไม่เก็บไว้ในใจ ไม่หวังผลจิตจึงว่างเปล่าบริสุทธิ์ไร้เงื่อนไข ไร้ข้อผูกมัด สอดคล้องกับภาวะจิตว่าง ไร้สิ่งกีดขวาง ตรงข้ามกับการหวังผลในโลกียภาวะ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผลบุญที่สร้างไว้ก็จะอยู่เหนือการได้สิ่งตอบแทนขึ้นไปอีก อาจบรรลุถึงสุญภาวะก็ได้จิตใจเช่นนี้สอดคล้องกับจิตใจ " ทำดีลับหลังผู้อื่น " ของลัทธิขงจื้อ บุญกุศลเช่นนี้ จึงจะเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง





By เซ็น : วิถีแห่งความสุขที่แท้

No comments:

Post a Comment