Friday, October 04, 2013

กรรมดี กรรมชั่ว


กรรมดี กรรมชั่ว

        เนื่องจากความหมายของคำว่า กรรม นั้นมักจะต้องเกี่ยวกับการกระทำที่มีลักษณะตรงข้าม ๒ ประการอยู่เสมอ นั่นคือ ดี กับ ชั่ว บุญ กับ บาป หรือ กุศล กับ อกุศล คำว่า ดี กับ ชั่ว โดยเฉพาะคำว่า ดี นั้น มีความหมายค่อนข้างกว้างระหว่างภาษาคนกับภาษาธรรม สิ่งที่เราพากันเข้าใจความหมายของคำว่า ดี ในภาษาคนหรือในสังคมหนึ่งอาจเป็นของที่ไม่ดี หรือ ชั่ว ในอีกสังคมหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่มุมมองของแต่ละคนหรือแต่ละสังคมที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน พฤติกรรมอย่างหนึ่งที่ถือว่าดีในสังคมหนึ่ง อาจไม่เป็นที่ยอมรับในอีกสังคมแล้วแต่ค่านิยมที่ยึดถือกันมา แต่อย่างไรก็ตาม หากเรามาพิจารณาความหมายของคำว่า ดี ชั่ว ตามกฏแห่งกรรมในทางพุทธศาสนาแล้วส่วนใหญ่มักจะใช้คำว่า กุศล และ อกุศล คำว่า กุศล โดยทั่วไป แปลว่า ฉลาด พอใจ เป็นประโยชน์ ดี ส่วน อกุศล มีความหมายในทางตรงข้าม

          ในทางพุทธศาสนา กุศล และ อกุศล คือปัจจัยปรุงแต่งสภาพและคุณภาพของจิตที่นำไปสู่พฤติกรรมและบุคลิกภาพ ดังนั้นคำว่า กุศลกรรมจึงหมายถึงการกระทำโดยเจตนาไม่ว่าจะเป็นทางกาย วาจา ใจ ที่ก่อให้เกิดกุศลจิต ๔ ประการ คือ



          ๑. อโรคยา หมายถึงความไม่มีโรค การมีสุขภาพจิตที่ดี ( ปราศจากโรคจิตโรคประสาท ) มั่นคง ปราศจากกิเลสอาสวะที่จะมารบกวน

          ๒. อนวัชชะ สภาพจิตที่สะอาด บริสุทธิ์

          ๓. จิตที่กอปรด้วยโยนิโสมนสิการ มีปัญญารู้และเข้าใจในสัจธรรม

          ๔. สุขวิบาก มีความสงบ ความพอใจ หรือจิตที่อยู่เหนือโลกธรรม ทั้งหลาย

          ลักษณะสภาพของจิตทั้ง ๔ ประการนี้คือ กุศลจิต หรือจิตที่เกิดจากการประกอบกุศลกรรมทั้งหลาย ที่เราเรียกว่า การทำบุญ หรือ การทำความดี

           ในคัมภีร์อรรถกถา มีการอธิบายหรือนิยามคำว่า กุศลกรรมว่า คือกรรมที่เกิดจากการทำความดีหรือการทำบุญที่มีลักษณะ ๕ ประการ คือ

          ๑. สภาพจิตที่มั่นคง เด็ดเดี่ยว ไม่ย่อท้อ ไม่หุนหันพันแล่น

          ๒. สภาพจิตที่สะอาด บริสุทธิ์ ปราศจากสิ่งมัวหมอง

          ๓. สภาพจิตที่สว่างและเป็นอิสระ ปราศจากสิ่งผูกมัด

          ๔. สภาพจิตที่พร้อมต่อการทำงาน

          ๕. สภาพจิตที่สงบ สันติ ปล่อยวาง

           ส่วนสภาพจิตอันเกิดจากกรรมชั่วหรืออกุศลกรรมย่อมมีลักษณะในทางตรงข้ามจากลักษณะของจิตที่กล่าวมาแล้ว

           สภาพจิตอันเกิดจากกุศลกรรมและอกุศลกรรมเหล่านี้ คือ ลักษณะของจิตที่อธิบายไว้ในเรื่องของกฎแห่งกรรม โปรดสังเกตว่าการอธิบายของผลของการทำความดี กรรมชั่ว ตามความหมายในกฎแห่งกรรม มักจะมีความสับสนในการแปลความที่ใกล้เคียงกันระหว่างจิตนิยาม กับ สังคมนิยม ดังที่หลายๆ คนพากันยึดถือและเข้าใจลักษณะของคำว่า ดี ชั่ว ในอีกแบบหนึ่งตามค่านิยมทางสังคม ดังคำพังเพยแบบขำขันที่มีผู้ยกขึ้นมากล่าวแย้งกฎแห่งกรรมอยู่บ่อยๆ ว่า " ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป " เป็นต้น





By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment