Saturday, October 19, 2013

คู่มือมนุษย์ ( ๗ )


คู่มือมนุษย์ ( ๗ )
การทำให้รู้แจ้ง ตามวิธีธรรมชาติ

          สมาธิอาจจะมีโดยทางตามธรรมชาติอย่างหนึ่งและจากการบำเพ็ญตามหลักวิชาโดยเฉพาะอีกอย่างหนึ่งข้อที่ควรสังเกตมีอยู่ว่า สมาธิที่เป็นไปตามธรรมชาติมักจะพอเหมาะพอสมควรแก่กำลังของปัญญาที่จะทำการพิจารณา ส่วนสมาธิที่เกิดตามหลักธรรมวิชามักจะเป็นสมาธิที่มากเกินไป คือ เหลือใช้ และยังเป็นเหตุให้หลงติดได้ง่ายเพราะความสุขที่เกิดจากสมาธิที่เต็มที่นั้น อาจทำให้หลงติดหรือหลงเป็นมรรค ผล นิพพานไปก็ได้

          ในพระไตรปิฎกมีเล่าถึงแต่การบรรลุมรรคผลทุกชั้นตามวิธีธรรมชาติ ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเอง หรือต่อหน้าผู้สั่งสอนคนอื่นๆ ก็มี โดยไม่ได้ไปเข้าป่า นั่งตั้งความเพียรอย่างมีพิธีรีตอง กำหนดอะไรต่างๆ ตามวิธีเทคนิค อย่างในคัมภีร์ที่แต่งใหม่ๆ ชั้นหลังเล่านั้นเลย โดยเฉพาะในกรณีแห่งการบรรลุอรหัตตผล ของภิกษุปัญจวัคคีย์ หรือชฎิล ๑,๐๐๐ รูป ด้วยการฟังอนัตตลักขณสูตร และอาทิตตปริยายสูตรด้วยแล้ว จะยิ่งเห็นว่าไม่มีการพยายามตามทางเทคนิคใดๆ เลย เป็นการเห็นแจ้งแทงตลอดตามวิธีของธรรมชาติแท้ๆ นี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเข้าใจได้ดีว่า สมาธิตามธรรมชาตินั้น ย่อมรวมอยู่ในความพยายามเพื่อจะเข้าใจแจ่มแจ้งและต้องมีอยู่ในขณะที่มีความเห็นอันแจ่มแจ้งติดแนบแน่นอยู่ในตัว อย่างไม่แยกจากกันได้ และเป็นไปเองตามธรรมชาติ

           ในทำนองเดียวกันกับอย่างที่ว่า พอเราตั้งใจคิดเลขลงไปเท่านั้นจิตมันก็เป็นสมาธิไปเอง หรือว่าพอเราจะยิงปืน จิตก็เป็นสมาธิที่จะบังคับให้แน่วแน่ขึ้นมาเองในเวลาเล็ง นี่แหละเป็นลักษณะของสมาธิเป็นไปเองตามธรรมชาติ ซึ่งตามปกติถูกมองข้ามเสีย เพราะไม่ขลัง ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่น่าอัศจรรย์ แต่คนเรารอดตัวมาได้เป็นส่วนใหญ่ ก็โดยอำนาจสมาธิตามธรรมชาตินี้เอง แม้การบรรลุมรรคผล ก็โดยอำนาจสมาธิตามธรรมชาตินี้เอง แม้การบรรลุมรรคผล เป็นพระอรหันต์ต่างๆ ก็ด้วยอาศัยสมาธิตามธรรมชาติทำนองนี้ ฉะนั้น ขออย่าได้ประมาทในเรื่องนี้ ควรประคับประคองมันให้เป็นไปด้วยดีถึงที่สุด ก็จะเป็นผลเท่ากัน เหมือนกับผู้ที่บรรลุพระอรหันต์ส่วนมากซึ่งไม่รู้จักการทำสมาธิเลย


          ความลับธรรมชาติ ที่เกี่ยวกับเรื่องลำดับแห่งความรู้สึกต่างๆ ภายในใจ จนกระทั่งเกิดการเห็นแจ่มแจ้งตามที่เป็นจริงต่อโลก หรือต่อขันธ์ห้า ลำดับแรก ได้แก่ " ปีติ " และ " ปราโมทย์ " หมายถึงความชุ่มชื่นอิ่มใจในทางธรรม การทำความดีทุกอย่างนับตั้งแต่การให้ทาน การรักษาศีล การเจริญสมาธิ เป็นต้น ล้วนเป็นสิ่งก่อให้เกิดปีติปราโมทย์ทั้งสิ้น

           ปีติปราโมทย์ทำให้เกิด " ปัสสัทธิ " แปลว่า ความระงับ ตามปกติจิตของคนเรามักตกเป็นทาสของความคิดนึกของอารมณ์เวทนา ของอะไรต่างๆ อยู่ตลอดเวลาเป็นความฟุ้งอยู่ภายใน ไม่มีความรำงับ แต่เมื่อเกิดปีติปราโมทย์ ก็ทำให้เกิดความรำงับ เมื่อมีความรำงับก็ย่อมเกิดสมาธิ

            ลักษณะอันแท้จริงของ " สมาธิ " คือลักษณะแห่งกัมมนียภาพหรือภาวะที่เหมาะสมแก่การที่จะประกอบการงานในทางจิต คือกำลังมีความผ่องใสเยือกเย็น และสงบรำงับที่สุด เรียกว่า " กมฺมนีโย " คือพร้อมที่จะรู้นี่เป็นลักษณะของสมาธิที่ต้องการเพื่อละกิเลส ไม่ใช่อยู่ในฌานสมาบัติแข็งทื่อ หรืออะไรทำนองนั้น การอยู่ในฌานพิจารณาอะไรไม่ได้ จิตที่ติดในความสุขอันเกิดจากฌานก็พิจารณาธรรมไม่ได้ จะพิจารณาธรรมได้ต้องออกจากฌานเสียก่อน

           ในที่นี้ไม่ต้องการฌาน แต่ต้องการจิตที่เป็นสมาธิอันมีคุณสมบัติเป็น " กมฺมนีโย " ครอบถ้วนพร้อมที่จะรู้แจ้งจนเกิด " ยตาภูตญาณทัสสนะ " คือความรู้ตามที่เป็นจริงต่อโลกทั้งหมด โดยอาการตามธรรมชาติ ทำนองเดียวกันกับที่มีผู้รู้แจ้งตรงที่นั่งฟังพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้แสดงธรรม หรือนำไปคิดพิจารณาในที่เหมาะสมจนรู้จะรู้ได้มากหรือน้อยก็แล้วแต่กำลังของสมาธิ อันประกอบกับบารมี และสิ่งแวดล้อม การรู้นั้น หมายถึงการเห็นสิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริง คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นว่า " ไม่มีอะไรที่น่าเป็น " ไม่ควรเข้าไปยึดถือในอะไรว่าเป็นตัวตนเป็นของตน ว่าดี ว่าชั่ว ว่าน่าเอา ไม่น่าเอา เหล่านี้เป็นต้น ถ้ายังมีความรู้สึกพอใจไม่พอใจ หรือเพียงแต่รู้สึกคิดนึกระลึกถึงเท่านั้นก็ยังเป็นการยึดถือในที่นี้

          ที่ว่า " ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น " มาจากหลักที่ว่าไม่มีอะไรน่ายึดถือ ตัวอย่างในเรื่องเอา คือการปักใจในทรัพย์สมบัติเงินทองสัตว์สิ่งของ อันเป็นที่พอใจต่างๆ การเป็นคือการถือว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นสามีภรรยา เป็นคนมั่งมีคนเข็ญใจ เป็นคนแพ้คนชนะ กระทั่งเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์ เป็นอะไรทุกๆ อย่าง กระทั่งความเป็นตัวเอง ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งของความทุกข์ เหล่านี้เรียกว่า เห็นความไม่น่าเป็น ซึ่งมีใจความสำคัญอยู่ตรงที่ว่าไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ต้องมีความทุกข์ตามแบบของความเป็นชนิดนั้นๆ เพระว่าความเป็นทุกอย่างต้องทนเป็นทนอยู่ ต้องมีการต่อสู้ให้ได้เป็น หรือเป็นอยู่ อย่างน้อยที่สุดก็คือความต่อสู้ในทางใจ ในการที่จะยึดถือเอาความเป็นอะไรๆ ของตนไว้ให้ได้

           เมื่อมีตนก็ต้องมีอะไรๆ ของตน ภายนอกตนออกไปอีกทอดหนึ่ง นับตั้งแต่ตนมีลูกของตน เมียของตนจนกระทั่งมีหน้าที่แห่งความเป็นผัว เป็นเมีย เป็นนาย เป็นบ่าว เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ของตนขึ้นมา ทั้งหมดนี้เป็นการชี้ให้เห็นความจริงในข้อที่ว่า ไม่มีความเป็นชนิดไหนที่ไม่ต้องอาศัยการดิ้นรนต่อสู้นั้นเป็นผลของอุปาทาน ที่ทำการยึดถือสิ่งต่างๆ ด้วยความไม่รู้

          คำว่า " เอา " กับคำว่า " เป็น " หมายถึงการเอาหรือการเป็นด้วยกิเลสตัณหา ด้วยอุปาทานว่าน่าเอาน่าเป็น และใจก็ไปเอาไปเป็นเข้าจริงๆ ทำให้หนักในร้อนใจต้องถูกทิ่มแทงตบตีเผาลนผูกพันครอบงำที่ใจ นับตั้งแต่แรกไปตลอดเวลา จึงควรมีสติสัมปชัญญะคุ้มครองจิตใจ ไม่ตกไปเป็นทาสของความมีความเป็นด้วยอำนาจอุปาทาน มีสติปัญญาอยู่เหนือสิ่งต่างๆ ก็จะไม่เดือดร้อนไม่ต้องตกบ่อของอวิชชาอุปาทานของตัวเอง ดังเช่นเขาทั้งหลาย ถ้าเอาและเป็นด้วยวิชาความรู้ของพระพุทธเจ้า คือรู้ว่าที่แท้จริงไม่มีอะไรที่น่าเป็น เรียกว่าเอาหรือเป็นด้วยความชนะ ไม่ใช่ด้วยการแพ้และการเป็นทาส

           ตัวอย่างผู้มีอาชีพในทางจับเสือหรืองูร้ายขาย ต้องจับให้ถูกวิธีจึงจะได้มาขาย ถ้าทำผิดตัวต้องตาย โลกหรือเบญจขันธ์ก็เป็นพิษแก่คนผู้เข้าไปยึดถือ อย่างนี้แม้การยึดถือในความดีก็จะได้รับทุกข์จากความดีนั้นเช่นเดียวกัน เว้นไว้แต่เข้าไปเกี่ยวข้องกับมันในลักษณะที่รู้ว่าธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้นเอง แล้วเข้าไปจัดทำมันในอาการที่พอเหมาะพอดี ถ้ามีความเข้าใจตามนัยที่กล่าวมานี้อย่างเพียงพอ จะทำให้สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ทั้งการประกอบอาชีพและการรักษาทรัพย์เป็นต้นด้วยสติปัญญาไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยกิเลสตัณหา อุปาทาน ดังแต่ก่อน

           พระอรหันต์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานไม่มีกิเลสตัณหาอุปาทานเลย ท่านก็ยังทำประโยชน์ได้มากกว่าพวกเราเสียอีก ท่านทำไปด้วยอำนาจของปัญญาอันบริสุทธิ์ กับเมตตาอันบริสุทธิ์ มิได้ทำด้วยอำนาจของกิเลส แม้การฉันอาหารการเจ็บไข้ ท่านก็จัดการไปในขอบเขตของปัญญา อันไม่ก่อให้เกิดความทุกข์ในการที่มีตัวตนเป็นเจ้าของ คนที่มีกิเลสย่อมทำให้ได้แก่ตัว ฉะนั้นจึงมากกว่ากัน กว้างขวางกว่ากัน สูงกว่ากัน และบริสุทธิ์กว่ากัน

          ความอยากเอาอยากเป็น เป็นความโง่อย่างยิ่งชนิดหนึ่ง เป็นความหลงผิดไม่รู้ตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร จนกระทั่งเอากงจักรมาเป็นดอกบัว ฉะนั้นขอให้เราทุกคนปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยสติปัญญาที่รู้สึกเสมอว่า ไม่มีอะไรที่น่าเอาเป็นหรือน่าหลงใหลยึดถือ กระทำไปให้พอเหมาะพอสมกับที่ว่า สิ่งเหล่านั้นมีความไม่น่าเอาไม่น่าเป็น อยู่ตามธรรมชาติ เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องให้ถูกวิธีและพอเหมาะสม ในเมื่อยังต้องเกี่ยวข้อง ฉะนั้นควรทำจิตให้สะอาด สว่าง สงบ อยู่เสมอ แล้วเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกหรือสิ่งทั้งปวงในลักษณะที่ไม่เป็นพิษเป็นโทษขึ้นมาได้
       
         ความไม่น่าเอาไม่น่าเป็นนี้ เมื่อมีการเข้าถึงความหมายที่แท้จริงได้ จักทำให้มีความกล้าหาญร่าเริง มีจิตใจอิสระต่อสิ่งทั้งปวง สามารถเข้าไปหาสิ่งต่างๆ ด้วยความรู้สึกที่ไม่ตกเป็นทาสคือไม่เข้าไปด้วยอำนาจความอยากของกิเลสตัณหา ฉะนั้นเมื่อกำลังเอาหรือเป็นอะไรอยู่ขอให้รู้สึกตัวอยู่เสมอว่า ไม่มีอะไรที่จะเอาได้เป็นได้จริงๆ ตามต้องการ ที่แท้มันเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อยู่ตลอดเวลา ถ้าเข้าไปยึดมั่นด้วยกิเลสตัณหาจักก่อให้เกิดการกระทำที่ไม่ถูกตรงตามเป็นจริง อันทำให้เกิดความทุกข์ยุ่งยากขึ้นทุกประการ

         ความอยากเอาอยากเป็นเกินขอบเขต ทำให้มีการปฏิบัติหน้าที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นทางให้ไม่อาจดำรงตนอยู่ในความดีความงามความถูกต้อง และความยุติธรรมได้มูลเหตุแห่งความหายนะของคน อยู่ที่การตกเป็นทาสของตัณหาดังกล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ การรู้จักสิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงนี้จึงเป็นใจความสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา เป็นทางให้เอาตัวรอดได้ทุกกรณี ทั้งในเรื่องประโยชน์ในโลกนี้โลกหน้าและเรื่องพ้นโลก

           ทางรอดของทุกคน อยู่ที่มีปัญญาเห็นแจ้มแจ้งในสิ่งทั้งปวงว่า ไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็น จงมอบกายถวายชีวิตเพื่อสิ่งนี้ เพราะความบริสุทธิ์หรือความรุ่งเรืองของคนเราอยู่ที่ปัญญา สิ่งที่มีอยู่ควรให้เป็นการสมมติ เพื่อเรียกชื่อ เพื่อแบ่งงาน หรือเพื่อความสะดวกในสังคมอย่าหลงใหลว่าตัวเราเป็นนั่นเป็นนี่ตามสมมตินั้น ทรัพย์สมบัติหรืออะไรๆ ล้วนเป็นสิ่งสมมติ เมื่อรู้ได้แจ่มแจ้งอย่างนี้ สิ่งต่างๆ จะลงไปอยู่เป็นทาสเรา และเราก็อยู่เหนือมัน ข้อสำคัญต้องดำรงตนอยู่ในลักษณะที่ เป็นอิสระอยู่เสมอ

          เมื่อมียถาภูตญาณทัสสนะ เห็นจริงว่าไม่มีอะไรน่าเอาน่าเป็น นิพพิทาก็เกิดขึ้นตามส่วนของการเห็น นิพพิทา แปลว่า " ความเบื่อหน่าย " ตรงกันข้ามกับคำว่า " อัสสาทะ " ซึ่งแปลว่า " ความเอร็ดอร่อย " นิพพิทาหมายถึงการเบื่อหน่ายในสิ่งที่ตนเคยเอร็ดอร่อยมา มีความเคลื่อนไหวในทางที่จะเปลื้องตนออกจากความเป็นทาส ฉะนั้นนิพพิทาจึงได้แก่ความเกลียดหรือความหน่ายต่อความที่ตนโง่หลงเข้าไปยึดถือสิ่งต่างๆ ด้วยความเข้าใจว่า น่าเอาน่าเป็น

          ครั้นมีนิพพิทา โดยอัตโนมัติตามธรรมชาติ ย่อมเกิดวิราคะ ซึ่งแปลว่า " ความจางออกหรือคายออก " เหมือนกับเชือกที่ถูกแก้ออก หรือเหมือนกับสีย้อมผ้าถูกทำให้จางออก หมายถึงคลายออกหรือจางออกจากโลก หรือจากสิ่งทั้งปวงที่เคยยึดถือ ระยะนี้เป็นระยะที่สำคัญที่สุดของการหลุดพ้น เพราะเมื่อมีการคลายออกจางออก สิ่งที่เรียกว่าความหลุดออกหรือวิมุตติจะต้องมีแน่นอน

          เมื่อหลุดออกมาได้ ไม่ต้องตกเป็นทาสอีกต่อไปก็จะมีอาการที่เรียกว่า วิสุทธิ คือ " ความบริสุทธิ์ " หมายถึงความไม่เศร้าหมอง ก่อนนี้เคยเศร้าหมองทุกวิธีทางเพราะการเข้าไปจมเป็นทาสของสิ่งทั้งหลายอยู่ เมื่อหลุดพ้นออกมาจากความเป็นทาสในรสอร่อยของโลก จึงจะอยู่ในลักษณะที่บริสุทธิ์ คือไม่เศร้าหมอง

         เมื่อมีความบริสุทธิ์ ก็มี สันติ คือ " ความสงบ " หมายถึงความสงบเย็นจากความวุ่นวายจากความรบกวนหรือจากการต่อสู่ดิ้นรนทรมานต่างๆ เป็นความสงบรำงับดับเย็นของสังขารทั้งปวงแต่มิใช่นิพพาน เมื่อสงบแล้วจึงนิพพาน

         นิพพาน แปลว่า " ไม่มีเครื่องทิ่มแทง " อีกอย่างหนึ่งแปลว่า " ดับสนิทไม่มีเหลือ " หมายความว่าดับไม่มีเชื้อเหลือสำหรับจะเกิดมาเป็นความทุกข์อีก หรือปราศจากความทิ่มแทง เผาลน ความผูกพันร้อยรัดต่างๆ ทุกอย่างทุกประการ รวมความแล้วก็คือปราศจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ ยังมีความหมายที่มุ่งใช้ต่างๆ กันอีกหลายอย่าง เช่น หมายถึงการดับความทุกข์ก็มี หมายถึง การดับของกิเลส หรือสภาพที่เป็นเครื่องดับทุกข์ ดับกิเลสสังขาร ทั้งปวงได้สิ้นเชิงก็มี นี่เป็นลักษณะของการที่ได้เห็นโลก เห็นทุกสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง จนดับกิเลส ตัณหา อุปาทานเสียได้

          เพราะฉะนั้น จึงควรพิจารณาให้เห็นคุณค่าอันยิ่งใหญ่ ของการเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงถูกต้องตามเป็นจริงที่เรียกว่า " ยถาภูตญาณทัสสนะ " แล้วควรพยายามทำให้เกิดมีขึ้นทางใดทางหนึ่งในสองทาง คือทางที่จะเดินไปเองตามธรรมชาติ โดยการประคับประคองให้ดีในการทำจิตให้มีปีติปราโมทย์ เป็นการอยู่ชอบอย่างบริสุทธิ์ทุกลมหายใจเข้าออก ทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่เสมอจนกระทั่งเกิดคุณธรรมต่างๆ ตามลำดับที่กล่าวมาแล้วนี้วิธีหนึ่ง

           ส่วนอีกวิธีหนึ่ง คือการเร่งรัดเอาด้วยกำลังบังคับตามหลักวิชาในการทำสมาธิหรือ การเจริญวิปัสสนาโดยเฉพาะ เมื่อถูกวิธีถูกกับสิ่งแวดล้อมและเหมาะกับอุปนิสัยตน ก็สามารถทำให้ก้าวหน้าไปโดยเร็ว ทุกคนต้องพยายามทำทุกโอกาสทุกขณะทุกลมหายใจเข้าออกระมัดระวังการเป็นอยู่ประจำวันให้บริสุทธิ์ผุดผ่องเกิดปีติปราโมทย์ เกิดปัสสัทธิ สมาธิ ยถาภูตญาณทัสสนะ นิพพิทา วิราคะ วิสุทธิ สันติ เป็นนิพพานอย่างชิมลองน้อยๆ เรื่อยไปตามธรรมชาติ ทุกวันทุกเดือนทุกปี ก็จะใกล้ชิดพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงได้ตั้งแต่บัดนี้ไป

           สรุปความว่า สมาธิวิปัสสนาตามธรรมชาติที่ทำให้บุคคลบรรลุมรรคผล ต้องอาศัยการพิจารณาความจริงในข้อที่ว่า " ไม่มีอะไรน่าเอาน่าเป็น " อยู่เป็นปะจำทุกวัน ผู้หวังจะได้ผลอันนี้จะต้องพยายามทำตนให้เป็นคนสะอาด มีอะไรเป็นที่พอใจตัวจนยกมือไหว้ตัวเองได้ มีปีติปราโมทย์นั่นเอง ทำให้เกิดความแจ่มใสสดชื่น มีใจสงบรำงับเป็นเหตุให้มีสมาธิตามธรรมชาติอยู่อย่างอัตโนมัติเห็นความจริงที่ว่า ไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็นอยู่เสมอ เมื่อเป็นไปอย่างแรงกล้า จิตก็หน่ายคลายกำหนัดจากสิ่งที่เคยยึดถือ ความทุกข์ก็สิ้นสุดลง ชื่อว่าเป็นผู้ถึงที่สุดแห่งการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ นับเป็นการได้ของขวัญที่ธรรมชาติสร้างไว้สำหรับทุกคนโดยแท้จริง


แนวภาคทำให้รู้แจ้งตามวิธีธรรมชาติ
แผนภูมิประกอบคำบรรยายครั้งที่ ๗

ปีติและปราโมทย์ :  ความอิ่มใจในธรรม
ปัสสัทธิ : ความรำงับ
สมาธิ : จิตสงบ
ยถาภูตญาณทัสสนะ : รู้ความจริงต่อโลก
นิพพิทา : ความเบื่อหน่าย 
วิราคะ : ความคลายออก
วิมุตติ : ความหลุดออก
วิสุทธิ : ความบริสุทธิ์ไม่เศร้าหมอง
สันติ : ความสงบเย็น
นิพพาน : ภาวะที่ปราศจากความทุกข์




By คู่มือมนุษย์ ( ฉบับย่อ )

No comments:

Post a Comment