Saturday, September 07, 2013

ความโอบอ้อมอารี... เพื่อทุกคน

ความโอบอ้อมอารี... เพื่อทุกคน

          การมีใจที่ดีและโอบอ้อมอารีต่อผู้อื่นนั้นไม่เพียงแต่ทำให้บังเกิดผลแก่ผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้ที่มีใจโอบอ้อมอารีต่างก็ได้รับสิ่งดีงามกลับมาจากการกระทำของตนด้วยไม่ว่าวันใดก็วันหนึ่ง คือความหมายของปรัชญาข้อนี้

           จริงเสมอในโลกแห่งการตอบแทน นอกจากจะเป็นผู้ให้แล้วก็ยังสามารถเป็นผู้รับได้พร้อมกัน

           เรื่องของคนสองคนที่มีความรักและเอื้ออาทรต่อคนในชาติและแผ่นดินเกิด ในวันที่ประเทศญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒ บ้านเรือนถูกระเบิดพังพินาศเทคโนโลยีต่างๆ ถูกทำลายย่อยยับ ไม่รวมถึงหัวใจของคนญี่ปุ่นต้องแตกสลายกลายเป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นพูดกันมากที่สุดในห้วงเวลาหนึ่ง

           มาซารุ อิบุกะ และ อากิโอะ โมริตะ พบกันครั้งแรกในงานประชุม การค้นคว้าอาวุธใหม่ในช่วงสงคราม ด้วยทัศนคติที่ดีของคนทั้งคู่ ภายหลังทั้งสองคนได้กลายเป็นเพื่อนสนิทกัน แม้ว่าอิบุกะจะมีอายุมากกว่าโมริตะถึง ๑๐ ปี ความห่างกันของอายุไม่ใช่เป็นเรื่องสำคัญต่อมิตรภาพของคนทั้งสอง

          ในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ มาซารุ อิบุกะ ได้กลับไปยังเมืองโตเกียวหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง ห้องเล็กๆ แคบๆ ที่ตั้งอยู่บนชั้นสามของห้างสรรพสินค้าชิโนคิยะในนิฮอมบาชิ กลายเป็นห้องทำงานของอิบุกะและทีมงานซึ่งภายหลังเขาก็ได้ อากิโอะ โมริตะ มาร่วมงานด้วย



          ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ มาซารุ อิบุกะ กับ อากิโอะ โมริตะ ร่วมกับลูกจ้างที่มุ่งมั่นทุ่มเทกลุ่มเล็กๆ ได้ช่วยกันก่อตั้ง " โตเกียว ซูชิน เค็นเคียวโจ " ( ต็อทซูโกะ ) หรือ " โตเกียว เทลเคอมมิวนิเคชั่น รีเสิร์ช อินสติติวท์  " ( Tokyo Telecommunications Research Institute )

           วัตถุประสงค์หลักก็คือ เพื่อช่วยกันสร้างชาติญี่ปุ่นขึ้นมาใหม่จากซากสงครามด้วยความรู้ทางวิศวกรรมที่พวกเขามี ซึ่งตอนนั้นเขายังไม่รู้ด้วยว่าจะเริ่มทำอะไรก่อนดี เพราะทุกอย่างที่เขาเห็นตรงหน้ามันก็คือซากปรักหักพังที่เกลื่อนกลาดทั้งนั้น

           พวกเขาเริ่มต้นด้วยการซ่อมวิทยุที่ในห้วงเวลานั้นกำลังเป็นที่ต้องการของคนญี่ปุ่นที่อยากรับรู้ข่าวสารจากโลกภายนอก หลังจากที่ต้องทุบทิ้งเกือบทั้งหมดเพื่อไม่ให้รับข้อมูลในระหว่างสงคราม

            และต่อมาทีมงานได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อย่างหม้อหุงข้าว ที่ในเวลานั้นหลายคนแอบหัวเราะเพราะไม่เชื่อว่ามันจะมีหน้าตาอย่างไร แต่มันก็ได้รับความนิยมและมีคนเอาไปเลียนแบบจนทั่วโลกนั้นรู้จักหม้อหุงข้าวไฟฟ้าเป็นอย่างดี

           ต่อมาก็เริ่มสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ คือการสร้างเครื่องบันทึกเทปแม่เหล็กที่ดีที่สุดก็สำเร็จ

           มีเรื่องเล่ากันว่า ในช่วงต้นของการทำงานชิ้นนี้เขาทั้งสองเริ่มต้นตัดกระดาษแผ่นบางยาวด้วยมือและนำไปทาแล็กเกอร์ด้วยมือของพวกเขาเองเพราะแผ่นพลาสติกเป็นของหายากในญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากที่ลองผิดลองถูกอยู่นาน เขาก็ผลิตเทปคลาสเซ็ทขึ้นเป็นเจ้าแรกในญี่ปุ่น

           และยังคงคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงออกมาอยู่เสมอ ทำให้ได้รับการยอมรับนับถือและมีชื่อเสียงขจรไกลไปในระดับนานาชาติในฐานะเป็นบริษัทข้ามชาติที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ คุณภาพดี และมีนวัตกรรมที่ล้ำหน้า

          ผลิตภัณฑ์สำคัญๆ อันเป็นผลงานของบริษัทในยุคต่างๆ ได้แก่ทรานซิสเตอร์เจ้าแรกของญี่ปุ่น โทรทัศน์สีแบบไตรนิตรอน เครื่องสเตอริโอส่วนบุคคลยี่ห้อวอร์คแมน กล้องถ่ายวิดิโอยี่ห้อแฮนดี้แคมเพลย์สเตชั่น เครื่องบันทึกยี่ห้อบลูเรย์ดิสก์ และเพลย์สเตชั่น ฯลฯ

          ใช่แล้วเรากำลังพูดถึง มาซารุ อิบุกะ และ อากิโอะ โมริตะ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง " โซนี่ " ( SONY )

          ชื่อโซนี่ของบริษัทเกิดจากการนำเอาคำสองคำก็คือ " โซนัส " และ " ซันนี่ " มาผสมกัน คำว่า " โซนัส " เป็นภาษาลาติน แปลว่าเสียงหรือเกี่ยวกับเสียง อีกคำหนึ่งคือ " ซันนี่ " แปลว่าลูกน้อย

           เหตุที่นำสองคำนี้มาใช้รวมกันนัยว่าก็เพื่อให้คำว่า " โซนี่ " มีความหมายถึงคนหนุ่มสาวกลุ่มเล็กๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและความมุ่งมั่นที่จะสรรค์สร้างสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นนวัตกรรมอย่างไร้ขีดจำกัดและก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะนี่คือภาพลักษณ์ของโซนี่ในใจผู้บริโภคในเวลาต่อมา

           ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ บริษัทได้นำชื่อ " โซนี่คอร์ปอเรชั่น " มาใช้เพื่อตอบสนองแนวความคิดเกี่ยวกับการขยายกิจการออกไปสู่โลกภายนอก ชื่อ " โซนี่ " เป็นชื่อที่อ่านออกเสียงได้ง่ายในทุกชาติทุกภาษา ทั้งยังฟังดูมีชีวิตชีวาช่วยให้เกิดความรู้เป็นอิสระ เปิดหัวใจให้พร้อมที่จะรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาสู่ชีวิต

           ปัจจุบันโซนี่คือแบรนด์ที่มีชื่อเสียงที่สุดและแข็งแกร่งที่สุดของญี่ปุ่นและของโลก จากการสำรวจของสถาบันแฮริส โซนี่คือแบรนด์อันดับหนึ่งในใจอเมริกันชนเหนือกว่า " โค้ก " และ " จีอี " เสียอีก

           โซนี่เป็นยิ่งกว่าแบรนด์ที่มีชื่อเสียง และเป็นบริษัทที่ได้รับการยกย่องจากโลกตะวันตกมากทีสุดในบรรดาธุรกิจญี่ปุ่น

          มาซารุ อิบุกะ และ อากิโอะ โมริตะ สองเพื่อนซี้เริ่มต้นการทำงานด้วยหัวใจที่โอบอ้อมอารีเพื่อจะช่วยเหลือผู้อื่นและประเทศชาติ เขาก่อตั้งบริษัทโซนี่ด้วยเงินน้อยกว่า ๖๐๐ เหรียญ มีพนักงานไม่ถึง ๒๐ คน เขาทั้งสองและทีมงานช่วยกันบุกบั่น สร้างทาง สร้างอาชีพให้กับคนทั่วโลก

           อากิโอะ โมริตะ ผู้ร่วมก่อตั้งโซนี่ ผู้เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวตะวันตกมากกว่าคนญี่ปุ่นคนไหน บางคนบอกว่าคนคุ้นชื่อของเขามากกว่าชื่อนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเสียอีก นอกจากนี้นิตยสารไทม์ยังจัดให้เขาเป็นหนึ่งในบุคคลแห่งศตวรรษ

          " ความโอบอ้อมอารีมิได้มีเพียงผู้อื่นเท่านั้น " วันนี้มันส่งผลกลับมาหาเขาทั้งสองอย่างมหาศาล และเป็นตัวอย่างของการทำธุรกิจที่เกิดผลเป็นเลิศ กลายเป็นเรื่องเล่าระดับตำนานที่พูดกันมากที่สุดของธุรกิจญี่ปุ่นจนถึงทุกวันนี้





By ปรัชญา " ซามูไร "

No comments:

Post a Comment