Saturday, September 28, 2013

กฎแห่งกรรมกับกฎศีลธรรม

กฎแห่งกรรมกับกฎศีลธรรม

         กฎแห่งกรรมไม่มีความสัมพันธ์กับกฎศีลธรรมหรือความยุติธรรมทางศีลธรรมในศาสนาเทวนิยม แม้ว่าจะมีผู้รู้บางท่านพยายามที่จะอ้างกฎทั้งสองมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน จนทำให้เกิดความสับสนในการยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมต่อหลักการในการนำมาอธิบายกฎแห่งกรรมในทางพุทธศาสนา

          สำหรับกฎแห่งศีลธรรมนั้นเป็นทฤษฎีว่าด้วยความยุติธรรมบนฐานความเชื่อของการมีอยู่ของพระผู้เป็นใหญ่ในจักรวาลหรือพระเจ้าผู้สร้างโลก ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ความยุติธรรม พระองค์คือผู้พิจารณาตัดสินการกระทำและผลของการกระทำต่างๆ ของมนุษย์ ทรงเป็นผู้ประทานรางวัลให้กับผู้ทำดีและตัดสินลงโทษผู้ทำชั่วตามควรแก่กรณี ซึ่งคำว่า ความยุติธรรมทางศีลธรรมที่พระเจ้ากำหนดนี้ โดยความเป็นจริงที่เคยปรากฎในประวัติศาสตร์ทางศาสนาที่ผ่านมา ก็เคยมีผู้ที่ได้รับความ " ยุติธรรม " ในนามของความยุติธรรมนี้มาแล้วเป็นจำนวนมิใช่น้อย



          ตรงกันข้ามกับกฎแห่งกรรม ซึ่งในทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นกฎธรรมชาติว่าด้วยเหตุและผลของการกระทำ กฎแห่งกรรมดำเนินไปอย่างอิสระด้วยตัวมันเอง โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้สมมติฐานความเชื่อของการมีพระเจ้า และทั้งไม่เกี่ยวกับแนวความคิดการรับรางวัลหรือการถูกลงโทษ เป็นกฎที่ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมอย่างสมบูรณ์ ดังพุทธพจน์ที่ว่า " ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว " ยกตัวอย่างเช่นคนที่ตกจากต้นไม้ ขาหัก นั่นมิใช่เป็นผลมาจากกฎแห่งศีลธรรม แต่เป็นผลของกฎธรรมชาติว่าด้วยแรงโน้มถ่วงของโลกที่มีต่อเทหวัตถุหรือต่อมนุษย์ทุกคน มีคำกล่าวเกี่ยวกับเรื่องกรรมที่เคยได้ยินอยู่เสมอ เช่น คนเราเป็นตามกรรม กินอยู่อย่างไรก็เป็นเช่นนั้น หรือ เราเป็นอย่างที่เราคิด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นชัดในกฎแห่งกรรมตามคำสอนในทางพุทธศาสนา






By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment