Wednesday, September 11, 2013

กรรมคืออะไร

กรรมคืออะไร

           กรรม หมายถึง การกระทำ การปฏิบัติ การประกอบการ มาจาก คำว่า กัมมะ ในภาษาบาลี และ กรรม ในภาษาสันสกฤต ตามคำสอนทางพุทธศาสนา การกระทำทั้งหมดไม่จำเป็นต้องเป็นกรรมเสมอไป

           " โดยนิยามแล้ว คำว่า กรรม หมายถึงเฉพาะการกระทำทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากแรงกระตุ้นของความตั้งใจหรือเจตนาอันเป็นปัจจัยในการควบคุมวิญญาณ ที่เรียกว่า เจตสิก "

            เช่น การกิน การดื่ม โดยปกติทั่วไปไม่เรียกว่า กรรม แต่การกินดื่มอย่างมีสติสัมปชัญญะถือว่าเป็นกรรมดี การดื่มสุรายาเมาสารเสพติดให้โทษ ทำให้จิตใจมัวหมองตั้งอยู่ในความประมาท เป็นหนทางนำไปสู่การก่ออาชญากรรม ความรุนแรง การดื่มในลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นกรรมชั่ว

           ศาสตราจารย์ คาร์ล ยุง นักจิตวิทยาผู้มีชื่อเสียง ยอมรับหลังจากได้ศึกษาทางด้านศาสนาเปรียบเทียบ โดยกล่าวว่า

           " จากการศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า พุทธศาสนามีความสมบูรณ์ที่สุดในโลก ปรัชญาพุทธ ทฤษฎีว่าด้วยวิวัฒนาการ และกฎแห่งกรรม มีคุณค่าสูงกว่าหลักความเชื่ออื่นๆ เป็นอันมาก "

           กฏแห่งกรรม ตั้งอยู่บนกฏแห่งเหตุปัจจัย เป็นกฏธรรมชาติทางด้านศีลธรรม ที่ยืนยันว่า การกระทำกรรม ย่อมก่อให้เกิดวิบากผลมากน้อยตามอัตราส่วนของเจตนาหรือเจตจำนงในการกระทำนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมที่ก่อให้เกิดความดีงาม ความสุข หรืออกุศลกรรมที่ก่อให้เกิดผลในทางตรงข้ามก็ตาม


           เป็นที่สังเกตว่า ไม่แต่ผู้ที่ห่างจากธรรมะเท่านั้นที่สับสนในการนำคำว่า กรรม ไปใช้ปะปนกับคำว่า วิบาก แม้แต่ผู้มีการศึกษาก็ยังเข้าใจผิดในการเลือกใช้คำระหว่างการกระทำโดยเจตนาที่เรียกว่า กรรม กับคำบาลีที่เรียกว่า วิบาก อันหมายถึงผลของการกระทำโดยเจตนา

           กรรม แบ่งออกเป็นสองอย่าง คือ กุศลกรรม กับ อกุศลกรรม กรรมทั้งสองลักษณะนี้ เกิดจากแรงจูงใจที่ซ่อนอยู่ภายในตัวเจตนาในการที่จะกระทำสิ่งนั้น เมื่อคนเรามีเจตนาในการประกอบกรรมมันจะมีพลังในการกระทำที่ก่อให้เกิดแรงขับในการทำกรรม ที่แสดงออกมาทางไตรทวารได้แก่ กาย วาจา และใจ อันเป็นเจตนาที่เกิดจากการปรุงแต่งทางอารมณ์ที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน





By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment