Friday, September 06, 2013

คู่มือมนุษย์ ( ๔ )

คู่มือมนุษย์ ( ๔ )
อำนาจของความยึดถือ ( อุปาทาน )

         การที่จะถอนตัวออกจากสิ่งทั้่งหลายที่เป็นอนิจจัง ทกขัง อนัตตา ต้องศึกษาให้รู้ว่ามีต้นเหตุมาจาก " ความอยาก " เมื่อมีความอยากในสิ่งใด ความยึดถือย่อมมีในสิ่งนั้น นั่นคือความอยาก เป็นต้นเหตุของความยึดถือสิ่งที่เรียกว่า " ความยึดถือ " ได้แก่  " อุปาทาน " ซึ่งจำแนกเป็น ๔ ประการ คือ กามุปาทาน การยึดถือในของรักของใคร่ทั่วไป ทิฏฐุปาทาน การยึดทิฏฐิความคิดเห็นของตน สีลัพพตุปาทาน การยึดถือในวัตรปฏิบัติต่างๆ ที่ตนเคยกระทำมาอย่างงมงาย อัตตาวาทุปาทาน การยึดถือด้วยการกล่าวว่าเป็นตัวเป็นตน

         กามุปาทาน ( การยึดมั่นในกาม ) หมายถึง ความรู้สึกติดพันสนุกสนานเพลิดเพลิน เอร็ดอร่อย ในวัตถุหรืออารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความรักใคร่พอใจ จำแนกได้เป็น ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ การยึดมั่นในกามเป็นเหตุให้เกิดความพินาศฉิบหายนานาประการ การอุตสาห์เล่าเรียนเพื่อประกอบอาชีพ การขวนขวายทำกิจการงานทุกอย่าง ก็สืบเนื่องมาจากกามารมณ์ แม้การทำบุญให้ทานเพื่อไปสวรรค์ ก็มีมูลมาจากกามารมณ์ โดยเหตุนี้จึงเห็นได้ว่า ความยุ่งยากปั่นป่วนของโลกมีมูลมาจากกามารมณ์ หรือกามุปาทานทั้งสิ้น

           ถ้าว่าอย่างโลกๆ กามุปาทานกลับมีประโยชน์เพราะทำให้ความรักครอบครัว ให้ขยันขันแข็งในการแสวงหาทรัพย์สมบัติและชื่อเสียง เป็นต้น แต่เมื่อมองในทางธรรมกลายเป็นทางมาแห่งความทุกข์ทรมานอันเร้นลับ ฉะนั้นกามุปาทานจึงเป็นสิ่งที่ต้องควบคุม และละให้ได้ในที่สุด

         ทิฏฐุปาทาน ( การยึดมั่นในทิฏฐิ ) หมายถึงการยึดมั่นในความเห็นของตนจนเกิดการถือรั้น ซึ่งมีโทษร้ายกาจไม่น้อยกว่ากามุปาทาน ถ้ายึดมั่นในความคิดความเห็นเดิมของตน เราจำเป็นจะต้องปรับปรุงทิฏฐิให้ถูกให้ดีให้สูงขึ้นเสมอ คือจากมิจฉาทิฏฐิ ให้กลายเป็น สัมมาทิฏฐิ และยิ่งๆ ขึ้น จนเห็นอริยสัจในที่สุด


          ทิฏฐิที่เป็นเหตุแห่งความถือรั้น มันมีมูลเหตุมาจากการถือขนบธรรมเนียมประเพณี หรือลัทธิศาสนาเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นสิ่งที่มีการสะสมอบรมกันมาเป็นเวลานาน แม้ว่าทิฏฐิต่างๆ เหล่านั้น ยังเกี่ยวกับความไม่รู้เป็นอวิชชา ก็ยังเข้าใจเอาตามกิเลสพื้นฐานว่า สิ่งนี้เที่ยงแท้ถาวรควรยึดถือ เป็นความสุข เป็นตัวตน แทนที่จะเห็นเป็นมายา เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความถือรั้นชนิดนี้เป็นอุปสรรคมิให้ก้าวไปสู่ทางดีทางสูงได้ ไม่อาจทำให้เปลี่ยนไปสู่ความเห็นความเชื่อในลัทธิศาสนา หรือ นิกายอื่นๆ ที่ดีกว่าสูงกว่าได้ โดยเหตุนี้ พุทธศาสนาจึงถือว่า ทิฏฐิเป็นตัวกิเลสที่้ร้ายกาจ เป็นสิ่งที่น่าอันตรายที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องพยายามทำให้หน่ายให้จางและหลุดถอนได้ในที่สุด

          สีลัพพตุปาทาน ( การยึดมั่นในศีลและวัตร ) หมายถึงการยึดถือมั่นในความประพฤติการกระทำที่สืบกันมาอย่างไร้เหตุผล หรือนิยมกันว่าขลังศักดิ์สิทธิ์ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น การถือเครื่องรางของขลัง ลัทธิพิธีหรือเคล็ดลับต่างๆ เชื่อผีสาง เทวดา ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น การถือชนิดนี้ปรากฏว่ายังมีอยู่ทั่วไปในหมู่ชาวไทย และพุทธบริษัททั้งหลายโดยเฉพาะลัทธิที่ถือพระเป็นเจ้า ถือเทวดา ถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยแล้ว จะมีการถือชนิดนั้นมาก สำหรับชาวพุทธไม่น่าจะมีอย่างนั้น ที่มีอยู่ก็เนื่องมาจากการสมาทานศีลหรือประพฤติธรรมะที่ไม่ทราบความมุ่งหมาย ไม่คำนึงถึงเหตุผล สันนิษฐานเอาเสียว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ จึงได้ถือกันตามแบบแผนประเพณีที่สืบมา เมื่อไม่เข้าถึงเหตุผลของสิ่งนั้นๆ เพราะปฏิบัติมาจนชิน การถือมั่นจึงเหนียวแน่น เป็นอุปาทานชนิดที่แก้ได้ยาก อันนี้เรียกว่าอุปาทานในการประพฤติปฏิบัติที่เคยกระทำสืบกันมาอย่างผิดๆ หรืองมงาย

         การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐาน ก็เช่นกัน ถ้าทำไปด้วยความไม่รู้เหตุผลต้นปลาย ไม่รู้ความมุ่งหมายที่แท้จริงแล้ว ก็ต้องเป็นการทำไปด้วยอำนาจของการยึดถือที่ผิดจุดหมาย กลายเป็นความเขลาชนิดหนึ่งอย่างแน่นอน แม้การรักษาศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ หรือศีลอะไรก็ตาม ถ้ารักษาโดยที่ว่าจะเป็นผู้ขลัง ผู้ศักดิ์สิทธิ์ หรือให้มีอำนาจวิเศษอะไรขึ้นมา ก็กลายเป็นกิจวัตรที่มุ่งผิดทาง ทำไปโดยอำนาจของลัพพตุปาทานนี้ทั้งสิ้น ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องระวังให้มากในเรื่องนี้ การปฏิบัติตามหลักธรรมของพุทธศาสนานั้น ต้องเป็นการปฏิบัติถูกไปตั้งแต่ความคิด ความเห็น ความพอใจ ในผลของการทำลายกิเลสไปตั้งแต่ต้น ความประพฤติปฏิบัตินั้นจึงจะไม่เป็นอุปาทานที่นอกลู่นอกทางไร้เหตุผล

           อัตตวาทุปาทาน ( ความยึดมั่นด้วยวาทะว่าตัวตน ) หมายถึง ความยึดถือที่รู้สึกออกมาจากภายในใจว่า " เรา " เป็น " ตัวของเรา " ความยึดถือชนิดนี้เป็นสัญชาตญาณชั้นมูลฐานของความทุกข์ทั้งปวงด้วย ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่สรุปเป็นใจความสั้นๆ ว่า " ร่างกายและจิตใจ ที่มีอุปาทานเข้าไปยึดถือหรือครอบงำอยู่ นั่นแหละเป็นตัวความทุกข์ " เนื่องจากอุปาทานข้อนี้ เป็นทั้งมูลกำเนิดของชีวิต และมูลกำเนิดของความทุกข์ จึงมีคำกล่าวว่า " ชีวิตคือความทุกข์ ความทุกข์คือชีวิต " ความรู้แสดงถึงมูลกำเนิดของชีวิต และความทุกข์นี้ มีเฉพาะในพุทธศาสนาเท่านั้น และเป็นทางให้สามารถกำจัดทุกข์ได้เด็ดขาดด้วย

           เมื่ออัตตวาทุปาทานเป็นมูลฐานของชีวิต เป็นสิ่งที่มีอยู่เอง เป็นอยู่เอง ดังนี้แล้ว เราจึงไม่มีทางป้องกันที่จะไม่ให้มันแสดงอิทธิพลออกมาได้ นอกจากควบคุมไว้ให้มากที่สุดที่จะมากได้เท่านั้น จนกว่าที่จะมีวิชชาเกิดขึ้นจึงจะตัดได้ขาด พระอรหันต์เท่านั้นที่เอาชนะสัญชาตญาณนี้ได้เด็ดขาด ดังนี้จึงเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของชีวิต ฉะนั้น พุทธบริษัทควรศึกษาและเอาชนะอุปาทานข้อนี้ให้มากที่สุด จึงจะเรียกได้ว่ารับประโยชน์เต็มตามที่พุทธศาสนามีให้เรา

          ขอรบเร้าให้สนใจศึกษาเรื่องอุปาทานทั้งสี่ อันเป็นสิ่งที่เป็นอันตราย เป็นพิษร้ายที่เร้นลับอยู่ในลักษณะที่เป็นของหวาน อร่อย สวยงาม และไพเราะ ให้เข้าใจเป็นพิเศษ ให้สมกับข้อที่ว่า " การหลุดพ้นจากอุปาทาน เป็นใจความสำคัญของพุทธศาสนา " จนสามารถนำความรู้นั้นมาควบคุมอุปาทานให้อยู่ในอำนาจได้ ก็กระทำให้สามรถดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่เป็นทุกข์ หรือทุกข์น้อย การปฏิบัติหน้าที่การงานและการมีชีวิตอยู่ ก็จะเป็นไปแต่ลักษณะที่เยือกเย็น มีความสะอาด สว่าง สงบ


การปฏิบัติตามหลักธรรมะของพุทธศาสนานั้น
ต้องเป็นการปฏิบัติถูกไปตั้งแต่ความคิด ความเห็น ความพอใจ
 ในผลของการทำลายกิเลสไปตั้งแต่ต้น








By คู่มือมนุษย์ ( ฉบับย่อ )

No comments:

Post a Comment