Tuesday, September 10, 2013

เมืองไทย " เมืองยิ้ม " ( ตอนที่ ๔๐ )


เมืองไทย " เมืองยิ้ม " ( ตอนที่ ๔๐ )
วันมาฆบูชา

          วันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนาวันหนึ่ง ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ( ประมาณสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ หรือไม่ก็ต้นเดือนมีนาคม ) 

          วันนี้เป็นวันที่มีการประชุมครั้งใหญ่ ( จาตุรงคสันนิบาต ) อันมีความมหัศจรรย์ ๔ ประการในครั้งพุทธกาล กล่าวคือ 

           ๑. ภิกษุจำนวน ๑,๒๕๐ องค์มาจากที่ต่างๆ กันเพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เวฬุวันวิหาร ในกรุงราชคฤห์ เมืองมคธ แต่ละองค์ก็เดินทางมาเอง โดยมิได้มีการนัดหมายกันล่วงหน้าแต่ประการใด

           ๒. พระภิกษุทั้งหมด ล้วนแต่เป็นผู้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุกๆ องค์

           ๓. พระภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งสิ้น

           ๔. ในวันนี้เป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ

          ในเย็นวันนั้น พระพุทธเจ้าทรงถือโอกาสนี้แสดงโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งมีใจความอันป็นหลักของพุทธศาสนา กล่าวคือ ทำแต่ความดี ไม่ทำความชั่วและทำจิตให้บริสุทธิ์


           พิธีทำบุญวันมาฆบูชานี้ ไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีมาในสมัยใด อย่างไรก็ตาม ก็มิได้มีหลักฐานในพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวไว้ว่า " ในอดีต มาฆบูชานี้แต่เดิมไม่เคยทำกัน เพิ่งเกิดในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว " รัชกาลที่ ๔ ทรงเห็นความสำคัญของวันมาฆะนี้ จึงโปรดให้มีพระาชพิธีประกอบการกุศลขึ้นในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ และกระทำสืบไปตลอดกาล ต่อๆ มาพิธีในวันนี้ก็ได้แพร่หลายและประกอบพิธีกันทั่วราชอาณาจักร วันนี้ประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการด้วย เพื่อให้ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพได้ไปวัด เพื่อทำบุญกุศลและประกอบกิจกรรมทางศาสนาในตอนเช้าและเข้าร่วมพิธีเวียนเทียนในตอนค่ำอีกด้วย

           ในขณะเดียวกัน เนื่องในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็จะทรงเสด็จไปประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดพระศรีศาสดาราม และต่อมาก็จะทรงนำเหล่าพสกนิกรประกอบพิธีเวียนเทียนจัดขึ้นในวัดพระแก้วนี้ด้วย

           ความจริงแล้ว พิธีเวียนเทียนนี้จะประกอบในเวลาใดก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกของประชาชนอาจจะเป็นตอนเช้าหรือตอนเย็นก็ได้ อย่างไรก็ตามในกรุงเทพมหานคร โดยปกตินิยมจัดให้มีขึ้นในตอนเย็น เวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. และขบวนเวียนเทียนนี้ก็จะมีพระสงฆ์เป็นผู้นำ

           โดยทั่วไปแล้ว ชาวพุทธส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ความสำคัญของวันนี้ ดังนั้น จำนวนประชากรที่เข้าร่วมในพิธีจึงมีน้อยกว่าวันอื่นๆ เช่น วันวิสาขบูชา หรือ อาสาฬหบูชา แม้กระนั้นวันมาฆบูชาก็ยังมีความสำคัญต่อชาวพุทธทั้งหมดอยู่ดีนั่นเอง





By Essays on Thailand 

No comments:

Post a Comment