Saturday, January 18, 2014
กรรม สังสารวัฏ กับ การเกิดใหม่
กรรม สังสารวัฏ กับ การเกิดใหม่
การที่พุทธศาสนาสอนให้ตระหนักในการดำรงชีวิตตามทางสายกลางด้วยปัจจัย ๔ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคนั้น ก็ด้วยเล็งเห็นว่า สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย โดยเฉพาะ มนุษย์ที่นักวิทยาศาสตร์จัดว่าเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการสูงกว่าสัตว์ทั่วไปนั้น โดยธรรมชาติแล้วมักจะมีพฤติกรรมภายใต้กระบวนการของกลไกทางชีววิทยาอยู่อย่างหนึ่งคือ " ความรักความชอบ " คู่กับ " ความเกลียดความอยากที่จะพ้น " อยู่เสมอ
กระบวนการดังกล่าว ในทางพุทธศาสนาถือว่า เป็นจุดกำเนิดของตัณหา คือ ความอยากได้ใคร่มี เริ่มต้นจากการเสาะหาอาหารเมื่อหิว แสวงหาเครื่องนุ่งห่มที่อยู่อาศัยเพื่อปกป้องร่างกายให้พ้นจากอันตราย ใฝ่หาคู่เมื่อมีความต้องการทางเพศ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่า ชีวิตจะอยู่และสืบทอดแพร่พันธุ์ต่อไป ตัณหาหรือความอยากได้ใคร่มีต่างๆ เหล่านี้หากไม่มีขอบเขตที่จำกัดและเหมาะสม ก็จะทำให้สัญชาตญาณดิบที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน นำมนุษย์ไปสู่ความทะยานอยาก ก่อเกิดวงจรที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า วัฏสงสาร ได้แก่ การเวียนว่ายตายเกิด ( ของจิต ) ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ชาวพุทธโดยทั่วไปส่วนใหญ่จะถูกสอนให้ปลงใจเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิดในลักษณะที่ว่าเป็นการดำเนินต่อกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดในกระบวนการเกิดดับของชีวิตมาตั้งแต่ชาติก่อนติดต่อกันมาถึงชาตินี้และจะมีอยู่ต่อไปถึงชาติหน้า เชื่อว่าชีวิตไม่มีการสูญสลาย แม้จะตายไปแล้วก็ตาม
ที่จริงแล้วในทางพุทธศาสนา สังสารวัฏ หมายถึง กระบวนการเกิดดับของชาติภพ ภายใต้พลังแห่งกรรมที่เกิดจากการกระทำด้วยเจตนาอันเกิดจาก ตัณหา อุปาทาน และอวิชชา ซึ่งเป็นสามัญสำนึกที่ติดยึด อันเป็นคุณสมบัติที่เป็นสากลของสิ่งมีชีวิต สิ่งเหล่านี้คือเหตุปัจจัยที่ทำให้กระแสของการเวียนว่ายตายเกิดเป็นภพเป็นชาติที่แตกต่างกันในหลายระดับตามพลังแห่งกรรม ในบางระดับเป็นการเกิดทุกข์อันเป็นวิบากจากการประกอบอกุศลกรรม วิบากกรรมเหล่านี้จะคละเคล้ากันไประหว่างสุขทุกข์ในภพของความเป็นมนุษย์รวมทั้งสรรพสัตว์ทั้งหลาย การตีความดังกล่าว น่าจะตั้งอยู่บนฐานความเชื่อของปรัชญาอุปนิษัทหรือไม่ เป็นสิ่งที่ได้ทำความเข้าใจกันมาแล้วในบทก่อนว่าด้วยปรัชญาเปรียบเทียบระหว่าง พุทธธรรม ปรัชญาอุปนิษัท และปรัชญาตะวันตก ที่ผู้เขียนได้รวบรวมบางส่วนมาจากหนังสืออันเป็นผลงานอันมีค่าของท่านพระเมธีธรรมาภรณ์ ( ประยูร มีฤกษ์ ) ซึ่งในปัจจุบัน ดำรงสมณศักดิ์เป็น พระเทพโสภณ อธิบดีแห่งมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม มีการอธิบายความหมายของวัฏสงสารไปในอีกแนวหนึ่ง กล่าวคือความหมายถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงภาวะทางจิตวิญญาณ ผู้รู้บางท่านอธิบายความหมายของวัฏสงสารว่า เป็นกระแสแห่งประสบการณ์ที่เกิดขึ้นภายในกรอบแห่งสัญญาหรือการรับรู้ หากยอมรับการตีความในลักษณะนี้ วัฏสงสารก็คือกระบวนการทำงานของจิตจากประสบการณ์ที่ตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้องหรือสัมผัส ทำให้มีการเกิดดับของวิญญาณอยู่ทุกชั่วขณะ ตามระดับของความคิดที่มีกิเลสเป็นตัวปรุงแต่ง การอธิบายวัฏสงสารในลักษณะเช่นนี้ ( ผู้รวบรวมมีความเห็นส่วนตัวว่า ) น่าจะเข้ากันได้กับปรัชญาพุทธที่ว่าด้วยเรื่องอนัตตาตามกฎไตรลักษณ์มากกว่าที่ได้เคยอธิบายไว้ในแบบแรก
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสูงสุดในการประพฤติปฏิบัติของชาวพุทธก็คือ ความต้องการที่จะหลุดพ้นจากวงจรของการเวียนว่ายตายเกิดแห่งวัฏสงสารที่ไม่พึงปะสงค์ อันเนื่องมาจากความไม่เที่ยงแท้แน่นอน โดยมีชรา พยาธิ มรณะ และทุกข์ เป็นอาทิ อย่างไรก็ตามกรอบความคิดเกี่ยวกับสังสารวัฏในลักษณะเช่นนี้ แม้จะเป็นความจริงแท้ แต่ก็เคยมีนักเทววิทยาชาวตะวันตกวิจารณ์ว่า พุทธศาสนามองโลกในแง่ลบ
ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา วงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดถูกกำหนดไว้อย่างแน่นอนโดยพลังแห่งกรรมอันเนื่องมาจากกิเลสโดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก อวิชชา ตัณหา และอุปาทาน การที่จะหลุดพ้นจนบรรลุหรือเข้าสู่กระแสนิพพานได้นั้น ตามหลักการแล้วจะต้องกำจัดสิ่งเหล่านี้ให้ได้เสียก่อน ซึ่งโดยทางปฏิบัติแล้วก็มิใช่เรื่อง่ายสำหรับปุถุชน อย่างไรก็ดี หากเรามองในแง่ศีลธรรม การสอนหลักการเวียนว่ายตายเกิดในลักษณะที่มีชาติก่อน ชาตินี้ ชาติหน้า มีนรก สวรรค์ ก็น่าเป็นผลดีในการที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ตั้งใจประพฤติธรรม รักษาศีลเบื้องต้น สะสมกรรมดีไว้ เผื่อตายไปจะได้ไปเกิดใหม่ในโลกมนุษย์ที่มีแต่ความสุขหรืออยู่บนแดนสวรรค์ชั้นฟ้าในชาติหน้าต่อไป
By แก่นพุทธธรรม
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment