ยามสบายอารมณ์
ถอดรองเท้าย่ำไปบนพื้นหญ้า
นกป่าลืมตัวโฉบมาอย่ใกล้
ทิวทัศน์ประสานใจ
คลุมเสื้อนั่งนิ่งใต้ดอกไม้ร่วง
เมฆขาวอาลัยไม่ยอมเคลื่อนลอย
นิทัศน์อุทาหรณ์
ซูตงพอเปลือยเท้า
มีความสุขชนิดหนึ่งซึ่งแสนจะวิเศษ ท่านอาจจะไม่มีประสบการณ์ด้วยตนเอง จะขอเล่าให้ฟัง
เมื่อเราเกิดความเบิกบานสำราญใจ รู้สึกสนุก ก็จงลองถอดรองเท้าออก แล้วย่ำไปบนพื้นหญ้าเขียวขจีด้วยเท้าเปล่าเปลือยปล่อยให้ฝ่าเท้าอันเปลือยนั้น สัมผัสหญ้าเขียวซึ่งอ่อนละมุนละไม นกน้อยในทุ่งนาไม่กลัวคนที่มีจิตใจการุณย์เช่นนี้ ดูสิ พวกมันพากันบินลงมาจับอยู่บนพื้นดินข้างเท้าเปลือยของท่านแทบทั้งสิ้น
ในตอนนี้เอง จิตใจของท่านกับทิวทัศน์ที่อยู่ล้อมรอบตัว ก็จะกลมกลืนกันเป็นหนึ่งเดียวโดยสิ้นเชิง ซึ่งท่านก็คงจะอดรนทนอยู่ไม่ได้ที่จะคลุมเสื้อบางๆ อยู่บนไหล่เข้าไปนั่งอยู่ในดงไม้ ปล่อยให้กลีบดอกไม้โปรยปรายลงมาตามเนื้อตามตัว เมื่อแหงนหน้าขึ้นไปมองบนฟ้าซึ่งสวยสะอาด มักจะก่อให้เกิดความรู้สึกว่า เมฆขาวกลุ่มน้อยซึ่งสวยสะอาด มักจะก่อให้เกิดความรู้สึกว่า เมฆขาวกลุ่มน้อยซึ่งลอยล่องฟ่องฟูอยู่บนท้องฟ้า มันทอดยาวตัววนเวียนเหนือศรีษะท่านตลอดเวลา ดูคล้ายกับไม่ยากจะจากไปไหนเลย
สิ่งที่เราใคร่จะบอกกล่าวแก่ท่านก็คือ ความสุขที่กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาตินี้เอง !
หวนหยี่นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยราชวงศ์ถัง ก็พอที่จะทำเช่นนี้เมื่อเขาเข้าไปในวัดโบราณภูเขาลึก เขามักจะเปลือยเท้าเหยียบย่ำไปตามก้อนหินในลำธาร ฟังเสียงน้ำไหลรินปานเสียงดนตรี ลมภูเขาโชยเข้าไปในอกเสื้อ โชยเข้าไปในแขนเสื้อ ทำให้เขารู้สึกสดชื่นและปีติยินดี้ป็นอย่างยิ่ง
เมื่อเป็นดังนี้ชีวิตคนเราจะมีอะไรที่เป็นความสุขยิ่งไปกว่านี้ ? เหตุไฉนคนเราจะต้องไปคล้อยตามความเป็นไปในโลกที่ผูกมัดตัวเองไว้อย่างแน่นหนาเล่า ?
ซูตงพอมหากวีของราชวงศ์ซ่ง มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาไปเที่ยวลำธารหนานซีร่วมกับเพื่อนสนิท ๒ - ๓ คน ดื่มสุราไปพลางร้องเพลงไปพลางมีความสุขอย่างเหลือล้น เมื่อดื่มสุราจนรู้สึกมึน พวกเขาถอดเสื้อชั้นนอกออก ถอดรองเท้าออก ปล่อยให้น้ำลำธารซึ่งเย็นซาบทรวงไหลผ่านเท้าทั้งสองของพวกเขาไป
ซูตงพอเมื่อได้ประสบกับสภาพที่แท้จริงด้วยตัวเองแล้ว จึงย้อนไปคิดถึงถ้อยคำที่หานหยี่ได้พูดไว้เมื่อหลายร้อยปีก่อนขึ้นมา เกิดความสำนึกว่าตัวเองได้ปล่อยให้ความสุขผ่านพ้นไปนานแสนนานช่างน่าเสียดายจริงๆ !
ความสุขที่ห้อมล้อมตัวเราอยู่นั้น มีมากมายมหาศาล จงพิจารณาดูว่าเรารู้จักที่จะไปแสวงหามันหรือไม่เท่านั้น !
By หงอิ้งหมิง สมัยราชวงศ์หมิง ( สายธารแห่งปัญญา )
No comments:
Post a Comment