Saturday, June 08, 2013

วิญญาณเป็นอิสระหรือไม่

วิญญาณเป็นอิสระหรือไม่

          ก่อนที่เราจะเข้าถึงปัญญาที่ว่า วิญญาณเป็นอิสระหรือไม่ ? หรือปัญหาที่ว่า มนุษย์เรามีจำนงเสรีหรือไม่ ? ขอให้เราทำความเข้าใจกับ " ระดับ " หรือ " ภูมิ " ของวิญญาณ ซึ่งในทางพุทธศาสนามีการแบ่งออกเป็น ๔ ระดับ ดังนี้

          ๑. กามาวจรภูมิ ได้แก่ระดับของจิตหรือวิญญาณที่ติดยึดอยู่ภายใต้ความอยากความใคร่ หรือที่เรียกว่า ตัณหา วิญญาณในภูมินี้ถือว่ายังขาดอิสระเสรีภาพในมุมมองทางพุทธศาสนา เพราะว่าถูกควบคุมติดยึดข้องแวะอยู่กับความอยากหรือตัณหา และตัณหาตัวนี้ที่ทำให้มนุษย์แสดงออกด้วยอำนาจของกิเลสต่างๆ จนทำให้มนุษย์เกิดความทุกข์ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า จิตหรือวิญญาณในระดับนี้เป็นตัวที่ก่อให้เกิดความทุกข์ เป็นจิตที่พบได้ทั้วไปในมนุษย์ที่เป็นปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราท่าน วิญญาณในระดับกามาวจรภูมินี้ประกอบไปด้วยเจตสิกหลายประเภท เช่น นิวรณ์ ๕ ได้แก่ กามฉันทะ ( ความใคร่ในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส ) พยาบาท ( ความคิดร้าย ) ถีนมิทธะ ( ความหดหู่ซ่วงซึม ) อุทธัจจกุกกุจจะ ( ความฟุ้งซ่านร้อนรนใจ ) และ วิจิกิจฉา  ( ความลังเลสงสัย ) ซึ่งนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้สามารถ ขจัดให้บรรเทาเบาบางได้ด้วยสมาธิภาวนาเพื่อยกระดับของวิญญาณขึ้นสู่ภูมิในขั้นที่สูงขึ้นต่อไป

           ๒. รูปาวจรภูมิ ได้แก่วิญญาณที่ยึดติดอยู่ในรูปหรือที่ปรารภรูปธรรมเป็นอารมณ์ เป็นระดับจิตที่เกิดจากการปฏิบัติสมาธิภาวนา จนเจตสิกนำจิตเลื่อนเข้าสู่ฌานในระดับ ๕ ระดับได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกคตาเมื่อเข้าถึงรูปาวจรภูมิ เจตสิกที่จัดว่าเป็นนิวรณ์ทั้งห้าค่อยๆ ดับลง จนเมื่อจิตถูกยกระดับเข้าสู่สภาวะแห่งเอกัคคตาวิญญาณก็จะเกิดความบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสที่สำคัญ หากมีการปฏิบัติภาวนาให้ถูกวิธี จิตหรือวิญญาณก็จะเลื่อนขึ้นสู่ภูมิขั้นสูงต่อไป

           ๓. อรูปาวจรภูมิ เป็นระดับจิตที่สูงสุด แต่ยังจัดอยู่ในระดับโลกิยภูมิ เพราะถือว่ายังปรารภอยู่ในอรูปธรรมเป็นอารมณ์ โดยยังมี เอกัคคตา ที่ถือว่ายังเป็นเจตสิกที่เบาบางที่คอยบังคับจิตให้มุ่งเพ่งไปยังสิ่งที่ไม่ใช่รูปซึ่งมีอยู่ ๔ ระดับ ได้แก่ ๑. อากาสานัญจายตนภูมิ ( ภาวะที่มีอากาศไม่มีที่สิ้นสุด ) ๒. วิญญาณัญจายตนภูมิ ( ภาวะที่มีวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด ) ๓. อากิญจัญญายตนภูมิ ( ภาวะที่ว่างไม่มีอะไรเลย ) และ ๔. เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ( จิตที่เข้าถึงภาวะทีมีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ) จิตที่เข้าสู่อรูปภูมิทั้งสี่นี้ได้เป็นผลที่เกิดจากการปฏิบัติสมาธิภาวนาในระดับสูงต่อขจากชั้นรูปาวจรภูมิผู้เข้าถึงอรูปฌานชั้นที่ ๔ คือเนวสัญญานาสัญญายตนะ จะมีระดับจิตที่สงบบริสุทธิ์ในระดับสูงสุดแห่งโลกิยภูมิที่มีเจตสิกได้แก่กิเลสที่สำคัญทั้งหลายถูกจำกัดให้หมดทั้งสิ้นลง เหลือแต่กิเลสอันละเอียดที่ผูกรัดใจ เรียกว่า สังโยชน์ ๑๐ ประการ ที่ยังค้างอยู่ภายในก้นบึ้งของวิญญาณ หากผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนาจนเข้าสู่ระดับนี้ดำเนินการชำระจิตด้วยการปฏิบัติวิปัสนาภาวนาจนเข้าสู่ระดับนี้ ดำเนินการชำระจิตด้วยการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาต่อไปตามหลักกางทางพุทธศาสนา จิตจะถูกยกระดับขึ้นถึงระดับสูงสุด มองเห็นสิ่งที่เป็นจริงตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น เรียกว่า สัจธรรมหรือ ปรมัตถธรรม โดยกิเลส ตัณหาและสังโยชน์ทั้งหลายเป็นตัวเจตสิก ที่ทำให้วิญญาณไม่หลุดพ้นเป็นอิสระถูกขจัดจนหมดสิ้น


            ๔. โลกุตรภูมิ เป็นระดับที่จิตได้หลุดพ้นจากโลกิยภูมิทั้งสามจึงเรียกว่า โลกุตรจิต กล่าวคือ เป็นจิตที่บริสุทธิ์ไม่เก็บเกี่ยวสะสมสิ่งที่เรียกว่าเจตสิกใดๆ ไว้เป็นอารมณ์เหมือนกับโลกิยจิตในสามระดับแรก ผู้บำเพ็ญเพียรจนจิตบรรลุธรรมชั้นนี้ ทางพุทธศาสนาถือว่าเป็น " อริยบุคคล " โดยแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท ตามชนิดและจำนวนของ " สังโยชน์ " ที่ยังมีค้างคายึดอยู่เป็นอารมณ์ คือ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และอรหันต์  พึงสังเกตว่า มีเพียงพะอรหันต์เท่านั้นที่วิญญาณเป็นอิสระ กล่าวคือสามารถหลุดพ้นจากสังโยชน์ทั้งสิบได้อย่างสมบูรณ์ การขจัดสังโยชน์ทั้งสิบลงได้ถือว่าเป็นการกำจัดเศษแห่งธุลีแห่งกิเลสตัณหาที่ยังค้างเหลือทั้งหมดลงได้สิ้น วิญญาณของพระอริยบุคคลที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์จึงจัดว่าเป็นวิญญาณบริสุทธิ์เป็นอิสระหลุดพ้นจากแรงบันดาลของกิเลสใดๆ ทั้งสิ้น

            ต่อไปนี้ขอให้เรากลับมาวิเคราะห์เกี่ยวกับความเป็นอิสระเรีของวิญญาณในทัศนะที่แตกต่างและคล้ายคลึงกันระหว่างปรัชญาพุทธกับปรัชญาเอกซิสเตนเชียลิสมของนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส ยัง พอล สาร์ต ที่ชาวพุทธน่าจะได้ทำความเข้าใจอยู่หลายประการ

            แม้ว่าพุทธศาสนาถือว่า จิตหรือวิญญาณของปุถุชนโดยธรรมชาติในตัวมันเองแล้วไม่มีความเป็นอิสระ เพราะยังติดข้องอยู่กับกิเลสตัณหา แต่อย่างไรก็ตาม ชาวพุทธที่แท้จริงถูกสอนมิให้ปล่อยวางชีวิตไปตามยถากรรม หากเขาเหล่านั้นเชื่อและยอมรับในหลักความเพียรพยายามย่อมจะเป็นไปได้เสมอต่อการแสวงหาทางเลือกในการพัฒนาระดับจิตวิญญาณของตนเองเพื่อเป็นเครื่องนำทางในการดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นวิริยะอุตสาหะที่จะยกพาระดับของจิตวิญญาณให้สูงขึ้นสู่ความเป็นอิสระอย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง เป็นอิสระที่จะทำให้เกิดความรู้สึกปลอดโปร่งโล่งต่อการปฏิบัติในสถานการณ์ต่างๆ ที่มากระทบ ดังคำสอนในเรื่องกฏแห่งกรรมในบทต่อไปที่จะกล่าวว่า " ความตั้งใจ หรือ เจตนารมณ์ เป็นตัวกำหนดทางเลือกในการกระทำหรืองดเว้นการกระทำ "

            อาจมีผู้สงสัยว่า ทางเลือกในการกระทำหรือไม่กระทำ ในทางพุทธศาสนานั้นมีความเป็นอิสระเสรีหรือไม่ และพุทธศาสนามีความเห็นในเรื่องนี้แตกต่างจากแนวความคิดของสาร์ต อย่างไรบ้าง ก่อนที่จะเข้าถึงคำตอบ ขอให้เราทำความเข้าใจกับคำว่า อิสระเสรี ในปรัชญาเอกซิสเตนเชียลิสมของ ยัง พอล สาร์ต เสียก่อน ตามที่เราทราบมาแล้ว ปรัชญาเอกซิสเตนเชียลิสมของสาร์ต มีความเห็นดังนี้

           " มนุษย์ไม่ได้เกิดมาก่อน แล้วจึงมาหาความเป็นอิสระภายหลัง เพราะว่าความเป็นมนุษย์กับการมีอิสระเป็นสิ่งเดียวกัน "

           " มนุษย์มีอิสระเสรีที่จะตัดสินการกระทำใดๆ ด้วยสิติปัญญาของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฏศีลธรรมหรือจารีตประเพณ๊ โดยส่วนใหญ่แล้ว จิตวิญญาณของมนุษย์นั้นเป็นอิสระ เกิดขึ้นเองโดยปราศจากเหตุปัจจัยไม่มีอำนาจภายนอกใดๆ ที่จะมาคอยควบคุมบังคับบัญชาวิญญาณเกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง วิญญาณที่ดับจึงมิใช่วิญญาณที่กำลังเกิดตามติดมา "

           สำหรับในเรื่องของวิญญาณ สาร์ตมีความห็นดังนี้

           " ระหว่างวิญญาณทั้งสองที่กำลังเกิดดับ ไม่ปรากฏว่ามีความสัมพันธ์ต่อกันด้วยเหตุปัจจัย วิญญาณที่ดับลงไม่ใช่ตัวเหตุที่ทำให้เกิดวิญญาณใหม่ แต่ละวิญญาณจึงไม่มีความเกี่ยวพันกัน ทุกวิญญาณเกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุดั้งเดิม เกิดขึ้นได้ด้วยตัวของมันเอง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า วิญญาณเป็นอิสระ อิสระเพราะไม่ขึ้นอยู่กับกฏแห่งเหตุปัจจัยของโลกแต่อย่างใด "

           " วิญญาณนั้นมีความเป็นอิสระในการเลือกที่จะกระทำ วิญญาณที่ปราศจากตัณหาก็คือวิญญาณที่ปราศจากอิสระภาพเป็นวิญญาณที่ไร้ความหมาย เพราะฉะนั้น หากจะให้มีความหมาย วิญญาณจะต้องมีตัณหาเป็นตัวก่อให้เกิดทางเลือก "

          หากเรามาพิจารณาตามความหมายของสาร์ต คำว่าอิสระเสรี หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นได้เองโดยปราศจากเหตุ หากพิจารณาโดยนัยนี้วิญญาณตามความเชื่อทางพุทธศาสนาจึงไม่ถือว่าเป็นอิสระ เพราะว่าปรัชญาพุทธเชื่อว่า สรรพสิ่งทั้งหลายยกเว้นนิพพาน ล้วนเป็นสังขตธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ด้วยกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งใดๆ ที่เกิดขึ้นเองโดยปราศจากเหตุปัจจัย แม้แต่วิญญาณที่เกิดใหม่ก็เป็นผลมาจากวิญญาณดวงเก่าที่ดับลง ดังนั้นวิญญาณและเจตสิกในทางพุทธศาสนาจึงไม่ถือว่ามีอิสระเสรี

           แต่หากเราพิจารณาคำว่า อิสระ ตามความหมายในปรัชญาเอกซิสต์ฯ ของสาร์ต นั้นหมายความแต่เพียงว่า  เป็นวิญญาณที่มีความเป็นอิสระในการเลือกที่จะกระทำหรือไม่กระทำ โดยไม่มีสิ่งใดมาบังคับหรือเป็นตัวกำหนดในการกระทำหรือไม่กระทำนั้น ไม่ใช่ " อิสระ " ในการเกิดของวิญญาณ หากเป็นดังนี้ วิญญาณในทางพุทธศาสนาก็มีลักษณะคล้ายๆ กับวิญญาณในปรัชญาเอกซิสต์ฯ ของสาร์ต เพราะว่าวิญญาณในทางพุทธศาสนาก็ย่อมถือได้ว่าเป็นอิสระแต่มาขาดความเป็นอิสระเมื่อตกอยู่ภายใต้อำนาจของความอยากหรือตัณหา อันเป็นเหตุปัจจัยที่สำคัญในการกระทำกรรม ซึ่งมีอยู่ในปุถุชนทั่วไป ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า วิญญาณในระดับปุถุชนยังไม่มีความเป็นอิสระ ปรัชญาเถรวาทถือว่า ความเป็นอิสระของวิญญาณจะเป็นปฏิภาคกลับแรงกระตุ้นของตัณหาเสมอ กล่าวคือ หากผู้ใดมีกิเลสตัณหาน้อยลงเท่าใด วิญญาณก็ย่อมจะมีความเป็นอิสระมากขึ้นเท่านั้น ดังคำกล่าวที่ว่า

           " เป็นบ่วงรัดมนุษย์เพราะตัณหา จึงสูญสิ้นอิสระภาพต่อเมื่อสามารถเอาชนะมันได้ย่อมถึงความหลุดพ้น "

           ด้วยเหตุนี้จึงถือว่า พระอริยบุคคลทั้งหลายเป็นผู้เข้าสู่กระแสความหลุดพ้น เพราะพระอริยบุคคลเหล่านั้นได้กำจัดสิ้นแห่งอาสวะทั้งหลายได้แล้วเกือบสมบูรณ์ และโดยสมบูรณ์ในพระอริยะบุคคลที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ซึ่ง " พ้นจากความอยากหิว ตัดรากถอนโคนในกิเลสตัณหา บรรลุสภาวธรรมที่เรียกว่า นิพพาน " ด้วยเหตุนี้ทางพุทธศาสนาจึงถือว่า ความเป็นอิสระ ( ของจิตวิญญาณ ) คือ วิมุตติ อันป็นความหมายเดียวกันกับคำว่า นิพพาน นั้นเอง 

            สรุปว่า ในทางพุทธศาสนา วิญญาณของปุถุชนโดยธรรมชาติที่ติดตัวมา ไม่มีความเป็นอิสระ เพราะวิญญาณดั้งเดิมตกอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมบังคับบัญชาของตัณหา การที่จะทำให้วิญญาณเป็นอิสระได้ก็ด้วยการทำจิตให้บริสุทธิ์ ขจัดกิเลสตัณหาทั้งหลายให้ค่อยๆ หมดสิ้นไปตามหลักปฏิบัติแห่งศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการภาวนาตามหลักพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ซึ่งหากมองในแนวราบเป็นเส้นตรง เราจะเห็นว่า วิญญาณของมนุษย์ที่เป็นปุถุชนประกอบด้วยขั้วสองขั้ว กล่าวคือ มีจุดเริ่มต้นด้วยขั้ววิญญาณที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหาที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิดของมนุษย์ มีปลายขั้วเป็นจิตวิญญาณที่หลุดพ้นเป็นอิสระบริสุทธิ์ ระหว่างกลางเป็นหนทางแห่งมรรคที่มนุษย์แต่ละคนมีอิสระที่จะเลือกหรือไม่เลือก เดินช้าเร็วไปสู่จุดหมายปลายทาง เพื่อยกระดับจิตวิญญาณให้ขึ้นสู่ความเป็นอิสระตาม " ภูมิทั้งสี่ " ที่มนุษย์แต่ละคนสามารถหาทางเลือกให้กับตัวเองได้อย่างเสรีได้ดังกล่าวมาแล้ว





By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment