Thursday, June 06, 2013

เมืองไทย " เมืองยิ้ม " ( ตอนที่ ๓๔ )

เมืองไทย " เมืองยิ้ม " ( ตอนที่ ๓๔ )
ผลไม้ไทย

          ประเทศไทยมีชื่อเสียงว่าเป็น " เมืองยิ้ม " " ดินแดนแห่งผ้ากาสาวพัตร์ " และบางครั้งก็อาจจะมีชื่อเสียงด้านอื่นอีก เป็นต้นว่าดินแดนแห่งผลไม้เมืองร้อน เพราะว่าเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยผลไม้เมืองร้อนและเมืองหนาว ซึ่งแตกต่างกันออกไปตามฤดูกาล

           ถึงแม้ว่าผลไม้บางชนิดอาจจะไม่อยู่ในช่วงฤดูกาล แต่ก็ยังอุตส่าห์มีให้พบได้ในรูปของการเชื่อมหรือดองไว้ ยิ่งไปกว่านั้น ผลไม้บางชนิด เช่น องุ่น ก็ยังสามารถบังคับให้ออกผลไม้ตลอดทั้งปีอีกด้วย แน่นอนที่สุดประเทศไทยจัดว่าเป็นสวรรค์ของผู้ที่ชอบทานผลไม้โดยทั่วไป ผลไม้ไทยจะมีรสหวาน รวมทั้งผลไม้บางชนิด ซึ่งตามธรรมชาติจะมีรสเปรี้ยว แต่ทำให้มีรสหวานได้ เช่น กระท้อนและมะขาม เป็นต้น

           เนื่องจากประเทศไทยมีผลไม้อุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี ก็เลยกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ทำรายได้เข้าประเทศถึง ๘,๕๐๓.๗๔ล้านบาท จากการส่งออกผลไม้สดและผลไม้แปรรูปไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น ฮ่องกง, สิงคโปร์และญี่ปุ่น ซึ่งชาวญี่ปุ่นชอบรับประทานมะม่วงไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง " มะม่วงหนังกลางวัน "



           พูดถึงฤดูกาลแล้ว ผลไม้ไทยอาจแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มที่หนึ่งได้แก่ผลไม้ที่ออกตามฤดูกาล ซึ่งได้แก่มะม่วง ทุเรียน เงาะ ลำไย น้อยหน่า มังคุดและลิ้นจี่ ส่วนกลุ่มที่สองได้แก่ผลไม้ที่ออกตลอดทั้งปี ได้แก่ สับปะรด กล้วย มะละกอและขนุน นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมจึงมีผลไม้สดวางขายตามท้องตลาดทุกวันตลอดปี

           เมื่อไม่นานมานี้ ผลไม้เมืองหนาวหลายชนิด เช่น แอปเปิ้ล ลูกท้อและสตรอเบอรี่ ได้ปลูกขึ้นเป็นผลสำเร็จในแถบเขาทางภาคเหนือของประเทศไทย ที่จริงแล้ว พื้นที่เพาะปลูกผลไม้ที่สำคัญๆ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศไทย แม้กระนั้น ภาคกลางก็ยังผลิตผลไม้มากมายหลายชนิดออกสู่ตลาดแทบทุกฤดูกาลด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ส้มโอ ปลูกกันมากในจังหวัดนครปฐม ในขณะที่จังหวัดราชบุรี มีชื่อเสียงด้านเป็นแหล่งผลิตองุ่น

            เพราะว่าชาวสวนไทยมีความกระตือรือร้นที่จะปลูก และปรับปรุงผลไม้ใหม่ๆ นานาชนิดอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ประเทศไทยไม่เคยขาดผลไม้ ในต่างจังหวัดผลไม้บางอย่าง เช่น กล้วย นิยมปลูกไว้เป็นรั้วรอบบ้าน ถึงแม้จะไม่ดีเท่ารั้วลวดหนาม แต่ก็ให้ความเขียวชอุ่ม และช่วยให้อากาศบริสุทธิ์แก่ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงได้เป็นอย่างดีทีเดียว




By Essays on Thailand

No comments:

Post a Comment