Friday, May 13, 2016

อย่าตกเป็นทาสความรู้

อย่าตกเป็นทาสความรู้

         คำว่า "อย่าตกเป็นทาสความรู้ !" ปรากฎอยู่ในหนังสือ ฟื้นโฉมหน้าเดิมแท้ของชาวญี่ปุ่น ซึ่งเขียนโดยคุณอิเคมิตสุ ซูเคสึ ผู้ก่อตั้งบริษัทน้ำมันปริโตเลียมอิเคมิตสุ คุณอิเคมิตสุจบวิทยาลัยพาณิชยการโกเบเมื่อปี ค.ศ.๑๙๐๙ วิทยาลัยพาณิชยการโกเบในสมัยนั้น ก็คือต้นกำเนิดมหาวิทยาลัยโกเบในปัจจุบัน

         ท่านกล่าวว่า "วิทยาลัยแห่งนี้เด่นดังมาก นักเรียนที่จบจากที่นี่เกือบทุกคนเข้าทำงานในบริษัทชั้นหนึ่ง แต่ผมเป็นคนแปลก ยอมสมัครเป็นพนักงานตำแหน่งเล็กๆ ในร้านค้าแห่งหนึ่ง มีพนักงานแค่ ๓ คน คาดผ้ากันเปื้อนที่เอวทำงานในร้าน ซึ่งสำหรับยุคนั้นแล้ว เป็นเรืองประหลาดมาก ถ้าไม่ละทิ้งความคิดจบมหาวิทยาลัยชั้นสูง ก็คงทำไม่ได้ และคงไม่มีผมในทุกวันนี้ ผมละทิ้งประกาศณียบัตร และทิ้งการพึ่งพาความรู้ ก้าวสู่เส้นทางชีวิตที่ขรุขระเป็นครั้งแรกตั้งแต่นั้น

         "ผมเห็นว่า ควรใช้ความรู้อย่างยืดหยุ่นพลิกแพลง จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ความรู้โดยตัวมันเองไม่มีอะไร ถ้าต้องการฝึกความสามารถในการใช้ความรู้อย่างยืดหยุ่นพลิกแพลง จะต้องเป็นคนกอปรด้วยพลังแห่งการปฏิบัติ อีกทั้งต้องทำงานเล็กได้ จึงจะสามารถประกอบกิจการใหญ่โตถ้าเข้าบริษัทใหญ่ อยู่ในตำแหน่งค่อนข้างสูงแต่แรก ก็จะไม่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของลูกน้อง ไม่สามารถใช้คนอย่างยืดหยุ่นพลิกแพลง ตัวเองต้องเริ่มทำงานตั้งแต่จุดต่ำสุด จึงจะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของลูกน้อง ผมสมัครเป็นพนักงานเล็กๆ ด้วยความรู้สึกที่ต้องการไต่เต้าไปทีละขั้นๆ แบบนี้แหละ"

         ชาวจีนมีสำนวนบทหนึ่งว่า "เรียนจากต่ำบรรลุสูง" หมายความว่า เรียนรู้จากจุดต่ำสุด จึงจะสามารถบรรลุจุดสูงสุด

         ขณะที่ผมพบสำนวนบทนี้ ผมก็เกิดความรู้สึกว่า เรากำลังผลักดันส่งเสริมพฤติกรรม "เรียนจากสูงบรรลุต่ำ" ในยุคเมจินั้น มีคนจบวิทยาลัยน้อยมาก แตกต่างกับยุคนี้ คนจบวิทยาลัยพาณิชยการโกเบในยุคนั้น แต่ยอมเป็นพนักงานในร้านค้าเล็กๆ ด้วยจิตใจอะไรนั้น จึงเป็นเรืองเข้าใจยากโดยแท้

          คุณอิเคมิตสุเห็นว่า "ทุกวันนี้ ชีวิตค่อนข้างหลากหลาย พึ่งพาความรู้กันมากไป กระทั่งลืมความเป็นมนุษย์"

          หนังสือเล่มนี้พิมพ์วางจำหน่ายตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๗๑ กว่า ๒๐ ปีแล้วจะอ่านอย่างไร ก็ยังรู้สึกได้ถึงความทันสมัย เพราะสังคมของเรานับวันจะจใปลักความรู้มากขึ้น

          คุณอิเคมิตสุชอบ "เจียระไนหินเป็นหยกด้วยความยากลำบาก" มากที่สุด ท่านกล่าวอีกว่า " ต้องพยายามเดินเส้นทางยากลำบากเท่าที่จะเป็นไปได้ "ต้องเป็นคนที่เคยผ่าน...มาแล้ว" ท่านกล่าวว่า "เพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่างนั้น มีหนทางอยู่ ๒ สาย สายหนึงเป็นทางที่เดินสบายอย่างยิ่ง อีกสายหนึ่งเป็นทางที่เดินลำบากอย่างยิ่ง ไม่ว่าเดินทางที่ลำบากหรือทางที่สบาย ล้วนบรรลุเป้าหมายได้ แต่ถ้าถามผมว่าต้องการเดินทางไหน ผมจะเลือกทางที่ลำบาก พูดในแง่ความรู้ทั่วไป นี่เป็นเรื่องโง่มาก อันที่จริง มีแต่เดินทางที่ลำบากเท่านั้น จึงจะสามารถบ่มเพาะพลังแห่งการปฏิบัติขึ้นมา

          "รักชั่วหามเสา" ภาษิตสอนเรามาอย่างนี้ คนยอมหามเสา มีอยู่ไม่มาก สุดท้ายจึงกลายเป็น "เรียนจากสูงบรรลุต่ำ" นี่มิใช่ความจริงที่เสียดสีความคิดของมนุษย์อย่างยิ่งดอกหรือ !?







by อิบูคิ ทาคาชิ, โทขุระ โทราโอะ ( คนฉลาดแสร้งโง่ )

GIVE AND TAKE (การให้และการรับ)

GIVE AND TAKE (การให้และการรับ)

GIVE AND TAKE

Winners try to return any favours they are given,
Hence other people are happy to give to them again,

Losers like to get something for nothing,
They live with a 'take-only' policy,
Other people learn not to give to them again

Liberators when offered something of value,
Immediately offer something of value back,
The cycle of giving and receiving is rewarding for all

การให้และการรับ

ผู้ประสบความสำเร็จนิยมการสนองคุณคน
ผู้คนจึงยินดีที่จะทำดีต่อเขาอีก

ผู้ล้มเหลวมักยึดนโยบาย "เอาลูกเดียว"
ผู้คนค่อยๆ เรียนรู้ที่จะหลีกหนีให้ห่างไกลเขา

ผู้บริสุทธิ์หลุดพ้นเมื่อได้รับคุณค่าใด
ก็จะให้บางคุณค่าที่ตนมีให้ทันที
วงจรการให้และการรับ จึงทำให้จักรแห่งความเจริญหมุน






By ไชย ณ พล

คนกับปลาและห่านป่า

คนกับปลาและห่านป่า

         ในรัฐฉีมีผู้ดีคนหนึ่งแซ่เถียน เขาชอบจัดเลี้ยงแขกจำนวนมากที่คฤหาสน์ของเขาอย่างเอิกเกริกเป็นประจำ

         วันหนึ่ง เขาจัดเลี้ยงใหญ่โตขึ้นที่ห้องโถงอันโอ่อ่าในคฤหาสน์ของเขา แขกที่มาบางคนนำปลาติดมือมากำนัล บางคนก็เอาห่านป่ามาเป็นของขวัญ เจ้าภาพเห็นแล้วพอใจมาก กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า "ฟ้าช่างโปรดปรานพวกเราเหลือเกิน ! พวกท่านลองคิดดูซิ ปลา ห่านป่า เหล่านี้ล้วนเกิดมาเพื่อให้พวกเราได้กินอย่างอร่อยทั้งนั้นมิใช่หรือ ?" พวกแขกที่มาในงานเลี้ยงต่างก็พยักหน้าเห็นด้วย

         ในที่นั้นยังมีเด็กของบ้านแซ่เปาอายุเพียงสิบสองขวบได้ฟังแล้วก็พูดขึ้นว่า "ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับคำพูดของท่าน คนที่เป็นสิ่งหนึ่งในจำนวนนับแสนนับล้านสิ่งของบนโลกนี้ แต่เนื่องจากความใหญ่เล็กและสติปัญญาที่ต่างกันในหมู่สัตว์จึงมีสภาพที่สัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็ก หาใช่ฟ้าดินกำหนดมาให้จำพวกหนึ่งกินอีกจำพวกหนึ่งไม่ มนุษย์รู้จักเลือกสรรสิ่งที่ตนสามารถกินเป็นอาหารได้มากินนั้น เป็นเพราะฟ้าดินสร้างขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์กินกระนั้นหรือ ? ถ้าเช่นนั้นยุงกินเลือดคน เสือและหมาป่ากินเนื้อมนุษย์ ก็เป็นเพราะฟ้าดินสร้างคนขึ้นมาสำหรับให้มันกินใช่ไหม ?"


บันทึกใน "เลี่ยจื่อ"


มุมมองปรัชญา

         คนจำพวกหนึ่งมักจะพูดอยู่เสมอ คล้ายกับว่ามีอำนาจอิทธิฤทธิ์อะไรอยู่อย่างหนึ่งที่สร้างโลกหรือกำหนดทุกทสิ่งทุกอย่างในโลก คล้ายกับว่า สร้างแมวขึ้นมาเพื่อจับหนู สร้างหนูขึ้นมาเพื่อให้แมวกิน ความเป็นไปของคนเราขึ้นอยู่กับพรหมลิขิต เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้คนเรางอมืองอเท้าหมดอาลัยตายอยาก ปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามยถากรรม สุดแท้แต่ใครจะเอาไปปู้ยี่ปู้ยำ

          แท้ที่จริงแล้ว ความเป็นไปของโลกและคนเรา หาได้เกิดจากอำนาจอิทธิฤทธิ์อย่างใดไม่ มันเกิดจากกฎของธรรมชาติและของสังคมมนุษย์ ที่คนเรามองไม่ออกหรือถูกปิดบังโดยเจตนาร้ายซึ่งถ้าคนเราไปทำความเข้าใจกับมัน รู้จักมันให้ถ่องแท้แล้ว ก็จะไม่ตกเป็นข้าทาสหรือเชลยของมัน และจะไม่ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามความต้องการของผู้ซึ่งประสงค์ที่จะมอมเมาคนส่วนใหญ่เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายอันชั่วร้ายบางประการของพวกเขาได้อย่างเด็ดขาด





Thursday, May 12, 2016

เยี่ยมคนป่วย


เยี่ยมคนป่วย

           ในโลกนี้อะไรทุกข์ที่สุด ตอบว่า การเจ็บป่วยทุกข์ที่สุด เวลาเจ็บป่วย แม้ว่าจะอยู่มรคฤหัสน์บ้านหลังใหญ่ก็ไม่มีความสุข เงินทองต่อให้มีมากเพียงใดก็มีวันใช้หมด มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมืองก็ไม่สามารถทดแทนความทุกข์ของเราได้ อาหารเลิศหรูราคาแพงแต่ไม่อยากกินเลยสักนิด ดังคำที่ว่า กลัวอะไรไม่เท่ากลัวโรคภัยเบียดเบียน ช่างพูดไม่ผิดเลยสักนิดเดียว



           ยามที่คนเราเจ็บป่วย ถ้าเป็นคนมีชื่อเสียงหน่อย คนมาเยี่ยมไข้มีไม่ขาดสาย ต้องลำบากตากตรำกับการต้อนรับแขก กลับทำให้ป่วยหนักกว่าเก่า ชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งเวลาเจ็บป่วยบางครั้งลูกเต้าก็ยังหลบเลี่ยง ดังคำที่ว่า " ยามเจ็บไข้ไร้ลูกดูแล " ลูกหลานยังไม่อยากเหลียวแล นับประสาอะไรกับญาติมิตร ความเหงาความหดหู่ยามเจ็บป่วยจึงยากที่จะขับไล่ให้หายไป



           พุทธศาสนาสอนให้คนรู้จักไปเยี่ยมไข้ ในบุญกุศลทั้งแปดนั้น การเยี่ยมไข้เป็นบุญอันดับหนึ่ง โดยทั่วไป ห้องผู้ป่วยเด็กมักมีแม่เข้าออก แต่ในห้องผู้ป่วยคนชรามักจะเงียบเหงาวังเวง พระพุทธองค์ทรงเป็นแบบอย่างในเรื่องนี้ด้วยการเช็ดตัว เอายาใส่แผล ซักสบงจีวรให้พระภิกษุที่อาพาธด้วยพระองค์เอง



          เดี๋ยวนี้แม้ว่าจะมีการไปเยี่ยมไข้ แต่ก็มีวิธีการเยี่ยมที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก เช่น ชวนผู้ป่วยสนทนาเป็นเวลานานๆ จนผู้ป่วยไม่ได้พักผ่อน หรือสอบถามอาการผู้ป่วยละเอียดถี่ยิบ หรือไปเยี่ยมในเวลาที่ไม่เหมาะสม หรือผู้ป่วยที่เพิ่งผ่านการผ่าตัด ด้วยความหวังดีของคนมาเยี่ยม จึงเล่าเรื่องตลกขบขันให้ผู้ป่วยฟัง หวังว่าจะช่วยผ่อนคลายความทุกข์ แต่คนไข้หัวเราะหนัก แผลผ่าตัดฉีกขาดเพราะได้รับการกระทบกระเทือน อาการจึงหนักเข้าไปอีก ผู้เยี่ยมไข้บางคน ท่าทางขึงขังจริงจัง บางคนพูดจาไม่ถูกกาละเทศะ ทำให้กระทบกระเทือนจิตใจผู้ป่วย กลับทำให้เป็นทุกข์ วิตกกังวลกับการเจ็บไข้ของตนเองหนักเข้าไปอีก บางคนชักชวนคนไข้ไม่ให้เชื่อหมอ แต่คนไข้เชื่อสูตรยาลับเฉพาะของตนเอง ตั้งตนเป็นหมอเถื่อน ทำให้รู้สึกกระอักกระอ่วนใจ



          การเยี่ยมไข้ที่ถูกควรมีท่าทีอ่อนโยน ใบหน้ายิ้มแย้ม ไม่เที่ยวให้สูตรยาลับเฉพาะ อย่าตั้งคำถามไล่ต้อนคนไข้ว่ามีคนมาเยี่ยมบ้างหรือไม่ เพราะทุกคนถามคำถามเดียว แต่คนป่วยต้องคอยตอบไม่รู้กี่ครั้ง



          ส่วนวิธีการที่จะช่วยผู้ป่วยได้ผ่อนคลายจากความเหงานั้น เราอาจมอบหนังสือเบาสมองสักเล่มให้อ่านก็อาจช่วยให้ผู้ป่วยคลายเหงาได้ ที่ดีที่สุดคืออย่ามอบของที่ไม่เหมาะสม เช่น มอบของหวานให้ผู้ป่วยเบาหวาน หรือมอบดอกไม้ให้ผู้ป่วยภูมิแพ้ หรือมอบนมสดให้ผู้ป่วยโรคกระเพาะ เป็นต้น เพราะแต่ละโรคแสลงอาหารต่างกัน การจะมอบสิ่งของจึงต้องเลือกอย่างพิถีพิถัน



          มีประธานท่านหนึ่งล้มป่วยเข้าโรงพยาบาล ทุกครั้งที่พนักงานบริษัทไปเยี่ยมไข้ เพราะอยากเอาใจท่าน จึงพยายามรายงานถึงความคืบหน้าของผลประกอบการ ได้ผลกำไรเท่าไรเป็นต้น จนท่านประธานต้องพูดด้วยความเบื่อหน่ายว่า " ตอนนี้ผมไม่สนใจว่ามีออร์เดอร์เท่าไหร่ มีบัญชีเข้าเท่าใด ตอนนี้ผมขออย่างเดียวขอให้ผมฉี่ออก "



           ทางพระท่านสอนว่า " ในบุญกิริยาทั้งแปดนั้น การเยี่ยมไข้เป็นอันดับหนึ่ง " หวังว่าทุกคนจะยินดีในการไปเยี่ยมไข้ ให้ผู้ป่วยได้รับความปีติจากพุทธรรมบ้าง ได้รับการเอาใจใส่จากญาติสนิทมิตรสหาย ให้ร่างกายได้รับการผ่อนคลาย






เซนส่องทาง

Wednesday, May 11, 2016

ยกเลิกลัทธิหักคะแนน ยังคงเป็นที่ ๑ ของโลก

        พูดไปแล้วแปลก คนเราให้ความสำคัญกับตัวเลขมาก ถ้ามีวิธีตีค่าโดยยึดหลักว่า " ๑๐๐ คะแนน " คือ " คะแนนเต็ม " ก็จะเห็นว่า " ต้องได้ ๑๐๐ คะแนน จึงจะดีที่สุด " ผลจึงเกิด " ลัทธิหักคะแนน " ซึ่งเป็นวิธีคิดที่แสนประหลาด กล่าวคือ ถ้าทำไม่ดีจะถูกหักคะแนน

         วิธีหักคะแนนกับวิธีเพิ่มคะแนนตรงข้ามกัน แต่ไม่มีวิธีเพิ่มคะแนนอย่างวิธีให้คะแนนในกีฬายิมนาสติกของโอลิมปิก ก็ใช้วิธีหกคะแนนแบบเต็มรูป ในโลกของกีฬายิมนาสติกนั้น มีวิธีให้คะแนนเพียงอย่างเดียว ไม่มีวิธีอื่น กล่าวคือ ต้องถือความสมบูรณ์ไร้ข้อบกพร่องเป็น ๑๐๐ คะแนน จากนั้นดูว่าเราสามารถทำถึงระดับไหน เห็นได้ชัดว่า การตีค่าและให้คะแนนล้วนแต่เน้นด้านเดียว

          การตัดสินนักกีฬาพราสวรรค์เหล่านั้น อาจจำต้องใช้วิธีหักคะแนนก็ได้ แต่การทำให้วิธีดังกล่าวเป็นความรู้หรือวิธีการทั่วไป หรือนำมาใช้ในลักษณะทั่วไป ก็คือความผิดพลาดสากรรจ์

         ท่ามกลางบรรยากาศดังกล่าว มีนักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งปฏิเสธลัทธิ ๑๐๐ คะแนน หันมาใช้ลัทธิ ๗๐ คะแนน เขาก็คือ โยชิดะ ทาดาโอะ กรรมการผู้จัดการของ YKK ( กลุ่มอุตสาหกรรมโยชิดะ )

         "ส่งคนไปควบคุม ก็จะไม่ผิดพลาด ยิ่งเข้มงวด ยิ่งไม่ล้มเหลว แต่ว่าก่อนทำได้ถึงจุดสูงสุด ศักยภาพอาจลดลงถึงระดับ ๕๑ % ในทางตรงกันข้ามท่าทีการทำงานที่ไม่เข้มงวดมากนัก บางครั้งอาจจะล้มเหลวก็จริง แต่ศักยภาพอาจเพิ่มขึ้นถึงระดับ ๗๐% แล้วแบบใหนดีกว่า ?"

         "ล้มเหลวไม่เป็นไร ที่สำคัญคือ ต้องทำให้สำเร็จในท้ายที่สุด เพราะ YKK หันมาใช้ลัทธิ ๗๐ คะแนน จึงสามารถไต่ขึ้นสู่อันดับหนึ่งของโลก ทำไม YKK เป็นที่หนึ่งของโลกได้ ? เพราะแตกต่างกันที่จุดนี้นี่เอง "

         คุณมัตสุชิตะเคยพูดว่า " ขอเพียงได้ ๖๐ คะแนน ผมก็จะเลื่อนตำแหน่งให้ " ๖๐ คะแนนไม่ต่างจาก ๗๐ คะแนนเท่าไร เป็นเพียงความต่างในแง่ตัวเลข ส่วนวิธีคิดนั้นเหมือนกัน

          นักธุรกิจที่เชี่ยวชาญการช่วงใช้คน ต้องมีใจคอกว้างขวางเสมอ คนทั่วไปล้วนแต่ " ผ่อนปรนตัวเอง เข้มงวดคนอื่น " แต่กรรมการผู้จัดการที่ประสบความสำเร็จหรือผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริงกลับตรงกันข้าม พวกเขาล้วนแต่เข้มงวดตัวเองสูง ผ่อนปรนคนอื่นมาก " หมายความว่า ใช้ "ลัทธิมอบคะแนนแทน "

         ให้คะแนนแบบผ่อนปรนมากเท่าไร คนสอบผ่านจะมากเท่านั้น อาจจะมีบางคนตั้งข้อสงสัยว่า วิธีนี้ใช้ได้ผลจริงหรือ แต่วิธีนี้กลับใช้บ่มเพาะบุคลากรได้ดี ปัจจุบัน มีบริษัทจำนวนมากหันมาใช้วิธีนี้

         พูดไปแล้วประหลาด กรรมการผู้จัดการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ส่วนใหญ่จะไม่เห็นใครในสายตา พวกเขาให้คะแนนพนักงานต่ำมาก จึงมักบ่นว่า " ไม่มีบุคลากร " ผลปรากฎว่า ตัวอย่างขาดแคลนบุคลากรกลับเพิ่มขึ้น

         คนที่ไวต่อข้อบกพร่องของคนอื่น จะให้คะแนนต่ำมาก ส่วนคนที่มองเห็นข้อดีของคนอื่น จะให้คะแนนสูงมาก

         พูดไปแล้วประหลาด คนที่รู้สึกว่าตนเองโง่ ทุกครั้งที่ให้คะแนน จะให้คะแนนคนอื่นสูงโดยที่ตัวเองก็คาดไม่ถึง





by อิบูคิ ทาคาชิ, โทขุระ โทราโอะ ( คนฉลาดแสร้งโง่ )