รังกาเหว่าบนกิ่งไม้
เล่ากันว่า มีนกชนิดหนึ่งประเภทนกกาเหล่าแต่มีปากสีขาว และว่ากันว่าเป็นนกที่ฉลาดมาก คือยังไม่ทันจะย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิมันก็คาดว่า ฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงปีนี้จะต้องมีลมพายุบ่อยๆ เพื่อเตรียมป้องกันไว้ก่อน มันจึงย้ายจากรังที่ทำอยู่บนยอดไม้ลงมาทำรังบนกิ่งไม้ที่อยู่ต่ำๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ ถึงแม้ลมพายุจะไม่สามารถพัดเอารังของมันหล่นลงมา แต่เนื่องจากมันทำรังห่างพื้นดินไม่มาก คนที่เดินผ่านมาก็มักจะยื่นมือมาล้วงเอาลูกนกไป ส่วนพวกเด็กๆ ยิ่งร้ายกว่านั้น จะเอาไม้มากระทุ้งรังให้ใข้ของมันหล่นแล้วเอาไปกิน
ด้วยเหตุนี้มันเป็นนกที่ระวังภัยที่อยู่ไกล แต่ลืมป้องกันความวิบัติที่อยู่ใกล้
บันทึกใน " ไหวหนานจื่อ "
มุมมองปรัชญา
ภัยที่ยังอยู่ไกลกับความวิบัติที่อยู่ใกล้นั้น มีความสัมพันธ์กันแบบวิภาษ จะพิจารณาปัญหาเพียงด้านเดียวหาได้ไม่ การระวังป้องกันภัยที่ยังอยู่ไกลเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าลืมความวิบัติที่อยู่ใกล้เสียแล้วก็จะไม่ถูกต้อง ถ้าจะเปรียบเทียบให้กว้างหน่อย ก็อาจจะเปรียบได้กับคนบางคนที่ชอบพูดถึงสิ่งที่อยู่ไกลแสนไกลในอนาคต ชักแม่น้ำทั้งห้ามาสาธยายเป็นคุ้งเป็นแคว เหตุผลตื้นๆ และปัญหารูปธรรมเฉพาะหน้ากลับไม่สนใจ กระทั่งไม่มีความรู้ ไม่สามารถจะทำอะไรได้ เมื่อเป็นเช่นนี้จะเหมือนนกกาเหว่าปากขาวหรือไม่หนอ ?
By ปรัชญาชีวิตใน สุภาษิตจีน
No comments:
Post a Comment