แนวคิดเกี่ยวกับ นิพพาน
ดังที่ทราบมาแล้วว่า ปัจจุบันกาลของวิญญาณ ในปรัชญาพุทธหมายถึงวิญญาณที่เป็นอดีตและอนาคตรวมกัน เพราะวิญญาณปัจจุบันก็คือผลจากวิญญาณในอดีตซึ่งจะกลายเป็นเหตุปัจจัยต่อการเกิดดับวิญญาณในอนาคต จึงอาจกล่าวได้ว่า วิญญาณในส่วนที่เป็นปัจจุบัน อาจจะแบ่งให้เห็นได้เป็นสามช่วง วิญญาณทั้งสามช่วงไม่ใช่สิ่งเดียวกันไม่แตกต่างกัน กระแสของวิญญาณจะมีช่วงเวลาในการเลื่อนไหลเช่นนี้ตลอดไปจนกว่าจะบรรลุนิพพานวิญญาณจึงจะดับลงและไม่เกิดอีกต่อไป ดังนั้นวิญญาณในทางพุทธศาสนาจึงไม่ใช่สิ่งไร้ค่าที่ถูกควบคุมด้วยราคะ ต่อเมื่อเราสามารถจะดับลงและไม่เกิดอีกต่อไป ดังนั้นวิญญาณในทางพุทธศาสนาจึงไม่ใช่สิ่งไร้ค่าที่ถูกควบคุมด้วยราคะ ต่อเมื่อเราสามารถกำจัดตัณหาราคะออกไปจากวิญญาณได้ ก็ย่อมจะพบทางแห่งการดับทุกข์ นั่นคือบรรลุนิพพานได้ เมื่อความอยากแห่งอาสวกิเลสทั้งหลายถูกกำจัดให้หมดสิ้นลง ดังพุทธพจน์ที่ว่า
" การกำจัดกิเลสตัณหาจนหมดสิ้น ย่อม ถึงซึ่งนิพพาน บุคคลใดที่ได้กำจัดให้หมดสิ้นแห่งตัณหา บุคคลนั้นย่อมได้ชื่อว่าพ้นทุกข์ "
เราทราบแล้วว่า ตัณหาไม่ใช่สิ่งที่เกิดมาพร้อมกับวิญญาณแต่เป็นกระแสเจตสิกชนิดหนึ่งที่เข้ามาทำหน้าที่ควบคุมการรับรู้ของวิญญาณ ตามหลักปฏิจจสมุปบาท ตัณหาเกิดจากการปรุงแต่งของเวทนา เป็นเวทนาที่ประกอบด้วยอารมณ์ ๓ ชนิด คือ สุข ทุกข์ และที่เป็นกลางๆ เวทนาดังกล่าวนี้คือปัจจัยที่ก่อให้เกิดกิเลสอันประกอบ ด้วย โลภ โกรธ หลง กิเลสทั้งสามนี้ เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดตัณหา คือ ความอยากได้ใคร่มี ดังนั้นจึงมีผู้รู้บางท่านให้นิยาม นิพพาน ว่าคือ สภาวะหรือระดับของจิตที่ปราศจาก ความโลภ โกรธ หลง เมื่อวิญญาณสลัดพ้นจากกิเลสทั้งสามที่ถือว่าเป็นมูลแห่งกรรม ( กิริยาจิต ) และไม่อยู่ใต้อำนาจแห่งพลังกรรม เป็นวิญญาณที่ไม่มีการเกิดดับอีกต่อไป ดังพุทธพจน์ที่ว่า
" เมื่อพระอรหันต์สิ้นชีวิตลง รูปหรือร่างกายย่อมมีการแตกดับ นามอันได้แก่ สัญญาหยุด เวทนาดับ สังขารสงบ และวิญญาณย่อมสิ้นสุดลง ดังนี้ "
โดยนัยนี้ แสดงว่าการที่วิญญาณของผู้ที่สำเร็จอรหันต์ไม่มีการเกิดอีกต่อไป ก็เพราะหมดสิ้นปัจจัยในการเกิดใหม่ กล่าวคือ อวิชชาได้ถูกกำจัดออกไป จึงไม่มีการทำกรรม เมื่อสิ้นการทำกรรมวิญญาณจึงดับ รูปและนามจึงหมดสิ้นลง เมื่อวิญญาณอันเป็นตัวก่อให้มีการเกิดหมดสิ้นลง สังสารวัฏหรือวงจรแห่งการเกิดภพชาติจึงสิ้นสุดลงด้วยภาวะนิโรธ พระอรหันต์จึงปราศจากการทำ " กรรม " จะมีก็แต่ " กิริยา " ดังคำกล่าวที่ว่า
" แม้ว่าจิตของพระอรหันต์ที่บรรลุนิพพานพ้นจากการเกิดดับ แต่ย่อมปฏิบัติธรรมอยู่ในความไม่ประมาท ด้วยการเร่งทำในสิ่งที่ควรกระทำ ไม่ให้สิ่งใดคั่งค้างอีกต่อไป "
มีคำถามว่า ถ้าวิญญาณไม่ใช่อาตมัน ไม่เป็นอัตตา ไม่ใช่ผู้คิดที่อยู่เบื้องหลังความคิด เมื่อมีผู้คิดจึงจะมีความคิด ดังนั้นในกรณีนี้ใครคือผู้บรรลุนิพพาน ? พุทธศาสนาตอบว่า " ปัญญาคือผู้เข้าถึงนิพพาน " ในทางพุทธศาสนา นิพพานเกิดขึ้นได้ด้วยการบำเพ็ญสมาธิวิปัสสนา เมื่ออาสวกิเลสทั้งหลายถูกขจัดให้หมดสิ้นไป วิญญาณย่อมเป็นอิสระหลุดพ้นจากอวิชชาที่เคยหลงยึดมั่นอยู่กับกรอบความคิดแห่งโลกิยธรรมทั้งหลาย จิตเกิด " ยถาภูตญาณทัสนะ " มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เมื่อปัญญาเกิด พลังกรรมทั้งหลายที่เกิดจากตัณหาอวิชชาอันเป็นปัจจัยในการก่อภพเกิดชาติย่อมสงบจบสิ้นลง ไม่คิดปรุงแต่งต่อการมีหรือการไม่มีภพ ไม่เกิดทุกข์ ไม่เป็นทุกข์ อันเนื่องมาจากการยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งใดๆ ในโลก ไม่มีความหลงความอยากในภพอีกต่อไป ผู้ใดหลุดพ้นจากสิ่งต่างๆ เหล่านี้ย่อมได้ชื่อว่าบรรลุถึงซึ่งนิพพาน
กรอบความคิดเกี่ยวกับการนิยามความหมายของคำว่า นิพพาน ตามแนวดังกล่าวนี้ เราจะพบได้ทั้งในนิกายเถรวาทอันถือว่าเป็นพุทธศาสนาดั้งเดิม และในปรัชญามาธยมิกแห่งพุทธศาสนานิกายมหยาน ดังที่ท่านนาครชุน กล่าวว่า
" สรรพสิ่งทั้งหลายแห่งโลกิยธรรมคือสิ่งเดียวกับสังสารวัฏโดยเนื้อแท้ของมันคือนิพพาน สังสารวัฏไม่มีความแตกต่างจากนิพพาน และนิพพานย่อมไม่แตกต่างจากสังสารวัฏ ดังนั้นสัจธรรมจึงเป็นอันเดียวกัน จะแตกต่างกันที่ฐานความคิดอันเป็นมุมของแต่ละคน นิพพาน คือ สิ่งที่มองเห็นตามความเป็นจริงด้วยโลกทัศน์ที่ปราศจากความคิดปรุงแต่ง ภาวะทั้งสองแตกต่างกันจากการอธิบายทางญาณวิทยา หาใช่ทางภววิทยาไม่ "
ตามแนวความคิดของท่านนาครชุน ชี้ให้เห็นว่า นิพพานก็คือ ความจริงสูงสุด ( ปรมัตถสัจจะ ) ส่วนโลกิยธรรมทั้งหลายที่เรารับรู้นั้นเป็นเพียงสิ่งสมมติ ( สมมติสัจจะ ) สองอย่างนี้คือทฤษฎีเด่นที่ฝ่ายมัชฌิมนิกาย ( มาธยมิก ) ของท่านนาครชุนนำมาใช้ในการอธิบายความหมายของคำว่า นิพพาน
By แก่นพุทธศาสนา
No comments:
Post a Comment