Saturday, August 03, 2013

สภาวะของนิพพาน

สภาวะของนิพพาน

          การนิยามความหมายของนิพพานว่า คือภาวะนิโรธหรือภาวะที่สิ้นสุดแห่งวัฏสงสาร นั้นเคยมีผู้สงสัยกล่าวหาว่าพระพุทธเจ้าแสดงธรรมเข้าข่ายความเห็นของฝ่ายอุจเฉททิฏฐิ ปัญหานี้ พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงไว้ดังนี้

          " ในกรณีที่มีผู้สงสัยว่าตถาคตแสดงธรรมตามแบบอุจเฉทวาทนั้น อธิบายได้ว่า ด้วยธรรมทั้งหลายที่ตถาคตได้แสดงไว้นั้นก็เพื่อให้สาวกนำไปปฏิบัติตามเป้าหมายแห่งความสูญสิ้นก็จริง แต่เป็นเพียงการสูญสิ้นแห่งความ โลภ โกรธ หลง และจากความชั่วบาปทั้งหลายทั้งปวง "

           ดังนั้น การอธิบายหมายของคำว่านิพพาน จึงมิใช่เป็นการขาดสูญของอัตตา เพราะพุทธศาสนาไม่เชื่อว่ามีอัตตาที่จะขาดสูญ แต่เป็นการสูญสิ้นแห่งอวิชชาที่ก่อให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ( อัตตวาทุปาทาน ) 

           แม้ว่าจะมีการอธิบายความหมายของนิพพานตามแนวความคิดนี้แล้วก็ตาม แต่ต่อมาก็มีผู้รู้ทั้งหลายในทางพุทธศาสนาเลือกสรรหาคำนิยามทางภววิทยาในแบบอื่นมาใช้ในการอธิบายสภาวะของนิพานในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ดังเช่นในนิกายสุตตันตริกะ อ้างว่า นิพพานเป็น อภาวะ เป็นสุญญตา เป็นความว่าง ( อากาสะ ) ปราศจากสรรพสิ่งที่รับรู้ ปราศจากเหตุปัจจัยต่อการเกิดดับ การให้คำนิยามสภาวะนิพพานปรัชญาฝ่ายนี้จึงเป็นดูประหนึ่งเป็นอุจเฉทวาทหรือภาวะที่ขาดสูญ


           ส่วนปรัชญาวิญญาณวาทของฝ่ายมหายานเชื่อว่า นิพพานเป็นภาวะที่มีอยู่จริง เพราะว่าเป็นการบรรลุนิพพานคือภาวะของการหลุดพ้นจากสมมติสัจจะแห่งโลกิยธรรม สิ่งที่เหลือค้างอยู่ภายหลังการบรรลุนิพพานคือ " อาลยวิญญาณ " เป็นวิญญาณอันสมบูรณ์ที่อยู่เหนือโลกิยธรรม ดังนั้นการเสวยนิพพาน คือการค้นพบและเข้าถึงซึ่ง " อาลยวิญญาณ " ปรัชญาวิญญาณวาทชี้ว่า นิพพานก็คือสถานสถิตแห่ง " อาลยวิญญาณ " ที่อาสวะทั้งหลายถูกแทนที่ด้วยการรู้แจ้งแห่งอัตตา คำอธิบายแห่งนิพพานในลักษณะเช่นนี้จึงไม่มีความแตกต่างจากภาวะแห่ง " โมกษะ " ในปรัชญาอุปนิษัทเกี่ยวกับบำเพ็ญเพียรเพื่อความรู้แจ้งในอาตมัน

           สำหรับพุทธศาสนาดั้งเดิมของชาวเถรวาทมีความเชื่อว่านิพพานไม่ใช่สิ่งที่เป็นอภาวะ ไม่ใช่สิ่งที่ขาดสูญ และไม่เชื่อว่ามี " อาลยวิญญาณ " คงเหลืออยู่ในภาวะของนิพพานตามความเชื่อของมหายานฝ่ายวิญญาณวาท ดังปรากฏในคัมภีร์พระอภิธรรมกล่าวว่านิพพานเป็นภาวะแห่งความหลุดพ้นที่มีอยู่เหนือการรับรู้ทางประสาทสัมผัส ในพระคัมภีร์กถาวัตถุมีความเห็นว่า นิพพานมีภาวะเป็นนิจจังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดำรงอยู่ภายนอกซึ่งรู้ได้โดยตัวเอง

           พระพุทธโฆษาจารย์กล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า นิพพานไม่ใช่ อภาวะ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง แต่เพราะเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนจนไม่สามารถรับรู้หรือพิสูจน์ได้โดยปุถุชน คนธรรมดา เว้นแต่อริยบุคคลที่บรรลุอริยจักขุจากการบำเพ็ญ ศีล สมาธิ จนเกิดปัญญามองเห็นสภาวธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงเท่านั้น จึงจะมองเห็นสภาวะของนิพพานได้ว่าเป็น นิจจัง ไม่มีผู้สร้างอยู่เหนือชรามรณะทั้งปวงคัมภีร์วิสุทธิมรรคยกพุทธพจน์ตอนหนึ่งว่า หากอสังขตธรรมเช่น นิพพานไม่มีอยู่จริง ความหลุดพ้นของสิ่งที่เป็นสังขตธรรม เช่น ขันต์ห้า ย่อมเป็นไปไม่ได้

          กล่าวโดยสรุป พุทธศาสนาดั้งเดิมของชาวเถรวาทเชื่อว่าภาวะแห่งนิพพานมีจริง ไม่ขาดสูญ เป็นโลกุตระ เป็นอสังขตธรรมอยู่เหนือโลกที่เรารับรู้ ( สังขตธรรม ) เป็นสิ่งที่พ้นจากการเกิดการดับการอธิบายภววิทยาของนิพพานในแง่ปฏิเสธไม่ได้หมายความว่านิพพานไม่มี แต่เนื่องจากเป็นสภาวะที่ไม่สามารถให้นิยามในทางบวกเหมือนกับปรากฏการณ์ทางโลกที่เราสามารถสัมผัสได้ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า  ปรัชญาอุปนิษัทเองก็ให้นิยาม " โมกษะ " ในทางปฏิเสธเกี่ยวกับการเข้าถึงความจริงแห่งอาตมัน ว่า " เนติ เนติ " อันมีความหมายว่า " ไม่ใช่สิ่งนี้ ไม่ใช่สิ่งนั้น "  เช่นเดียวกัน

           เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่เฉพาะแต่ความจริงแห่งนิพพานเท่านั้นแต่รวมถึงพระอรหันต์ที่สำเร็จมรรคผลด้วยที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบคำถามในลักษณะที่ว่า นิพพานอยู่ทีใหน มีจริงหรือไม่ พระอรหันต์ตายแล้วไปไหน มีจริงหรือไม่ พระอรหันต์ตายแล้วไปไหน วิญญาณของท่านยังอยู่หรือดับสูญ คำถามในลักษณะเช่นนี้พุทธศาสนาถือว่าเป็นอัพยกตปัญหา ที่จะไม่ได้รับคำตอบโดยตรงจากพระพุทธองค์ เพราะทรงถือว่าเป็นคำถามที่ทำให้เกิดการนำไปสู่ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งที่ถามหรือสงสัยเป็นปัญหาทางโลกที่อยู่ภายใต้สมมติสัจจะ ไม่สามารถนำไปสู่คำตอบในสิ่งที่เป็นปรมัตสัจจะที่อยู่เหนือกาลเวลาดังเช่นนิพพานได้ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงนิ่งหรือทรงเลี่ยงไม่ยอมตอบปัญหาในลักษณะเช่นนี้โดยตรง เช่นเดียวกับคำกล่าวของ วิตต์เกนสไตน์ที่ว่า " สิ่งใดที่ยังไม่รู้ ก็ควรปล่อยให้ผ่านเข้าสู่ความเงียบเสีย " ดังนี้ 





By แก่นพุทธศาสนา

No comments:

Post a Comment