บรรพที่ ๑ ขัตติยธรรมและโครงสร้างการปกครอง
บทที่ ๒ โครงสร้างการปกครอง
แก่นไม้ไม่ตรง ลายไม้บิดเบี้ยว
ต้นยุคเจินกวน ถางไท่จงฮ่องเต้เคนตรัสแก่เซียวหวี่ ( ขุนนางผู้ใหญ่สมัยนั้น เคยเป็นพระอาจารย์ของรัชทายาท ต่อมาได้เป็นเสนาบดียุติธรรม ) ว่า
" ข้าฯ ชอบเล่นเกาทัณฑ์ตั้งแต่เด็ก คิดว่าตัวเองรู้ศาสตร์และศิลป์ด้านเกาทัณฑ์หมดแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ ข้าฯ ได้คันเกาทัณฑ์ที่ดีมากว่า ๑๐ คัน จึงเอาไปอวดนายช่าง แต่นายช่างบอกว่า ' คันเกาทัณฑ์ทั้งหมดนี้ ไม่ได้ทำด้วยวัสดุที่ดี ' ข้าฯ ถามถึงเหตุผล นายช่างก็บอกว่า ' แก่นไม้ไม่ตรง ลายไม้บิดเบี้ยว คันเกาทัณฑ์จึงจะแข็งแกร่ง แต่เวลายิง ลูกเกาทัณฑ์จะวิ่งไม่ตรงเป้าทั้งหมดนี้ ไม่ใช่คันเกาทัณฑ์ที่ดี ' ข้าฯ จึงได้รู้ข้อเท็จจริงอย่างถ่องแท้ ข้าฯ รวบรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นด้วยเกาทัณฑ์ ใช้คันเกาทัณฑ์มานับไม่ถ้วน กลับไม่รู้เหตุผลข้อนี้ เวลานี้ ข้าฯ เพิ่งครองแผ่นดินได้ไม่นาน ยังเข้าใจกุศโลบายปกครองไม่เท่าวิชาเกาทัณฑ์ แม้คันเกาทัณฑ์ ข้าฯ ยังดูพลาด แล้วกุศโลบายปกครองเล่า ? "
หลังจากนั้น ถางไท่จงฮ่องเต้จึงมีราชโองการถึงเหล่าเสนาอำมาตย์ให้ขุนนางในเมืองหลวงตั้งแต่ระดับห้าขึ้นไป หมุนเวียนกันเข้าเวรในจวนว่าการเสนาบดี ( จงซู่เสิ่ง ตั้งอยู่ในเขตพระราชวังต้องห้าม คล้ายทำเนียบรัฐบาลในสมัยนี้ ) และทุกครั้งที่พระองค์มีรับสั่งให้ขุนนางเหล่านั้นเข้าเฝ้า จะทรงเชื้อเชิญให้นั่งในที่อันทรงเกียรติ พระองค์ไม่เพียงสนทนาถามไถ่สารทุกข์สุขดิบเป็นการส่วนตัว ยังสอบถามสภาพท้องที่ต่างๆ อย่างละเอียด เพื่อรับทราบความทุกข์ยากเดือดร้อนและความต้องการของราษฎร ตลอดจนผลของการอบรมกล่อมเกลาราษฎรด้วย
คัดค้าน " ความเป็นหนึ่งเดียว "
เจินกวนศก ๑ ( ค.ศ.๖๒๗ ) ถางไท่จงฮ่องเต้ทรงตรัสแก่หวางกุย รองหัวหน้าองคมนตรีว่า " ความคิดต่างๆ ในราชโองการและเอกสารที่ออกจากคณะเสนาบดีนั้น ทรงคณะองคมนตรีมักไม่ค่อยเห็นด้วย บางครั้งความคิดเห็นของทั้งสองฝ่ายต่างก็มีจุดอ่อนข้อด้อย ขณะเดียวกัน ก็มีลักษณะช่วยเสริมข้อดีข้อเด่นแก่กัน เจตนาดั้งเดิมที่ตั้งคณะเสนาบดีและองคมนตรีขึ้นมา ก็เพื่อให้ตรวจสอบซึ่งกันและกัน ป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น
" ความคิดเห็นของเหล่าเสนาอำมาตย์นั้น มักแตกต่างกัน บ้างถูกต้อง บ้างผิดพลาด บ้างเห็นด้วย บ้างคัดค้าน ล้วนคำนึงถึงผลประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง แต่ก็มีบ้างที่ปกปิดความผิดพลาดของตน กลัวคนอื่นวิพากษ์วิจารณ์ พอได้ยินคนอื่นพูดถึงจุดอ่อนข้อบกพร่องของตน ก็จะผูกใจเจ็บแค้นบ้างทำงานแบบเอาตัวรอดไปวันๆ พยายามเลี่ยงความขัดแย้ง ต่างช่วยกันรักษาหน้าให้แก่กันอย่างวเหนียวแน่น ถึงรู้ว่าคำสั่งหรือราชโองการมีส่วนที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ก็ปฏิบัติตามโดยไม่เสนอความคิดเห็น ผลคือ ทำให้เกิดมหันตภัยกับคนนับหมื่นแสน เพียงเพราะไม่ต้องการขัดแย้งหรือหักหน้าใครเป็นการส่วนตัว นี่คือพฤติกรรมสิ้นชาติ ท่านทั้งหลายต้องระวังให้จงหนัก
" สมยราชวงศ์สุย ขุนนางทั้งในและนอกวังต่างประพฤติตัวแบบว่าตามกัน ไม่กล้าเสนอความเห็นต่าง ในที่สุดแผ่นดินปั่นป่วนวุ่นวาย คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยไตร่ตรองเหตุผลข้อนี้อย่างจริงจัง สมัยนั้นทุกคนต่างเชื่อว่าภัยจะไม่กรายถึงศรีษะตน ในทางเปิดเผย เออออขอรับ เมื่อแผ่นดินเกิดกบฎจลาจลบ้านแตกสิ้นชาติแล้ว ถึงจะมีบางคนหลบหนีเอาตัวรอดไปได้อย่างทันท่วงทีไม่ตายระหว่างจราจล แต่ก็ต้องใช้ชีวิตที่เหลืออย่างน่าอนาถ เป็นที่เย้ยหยันไยไพของราษฏรทั้งแผ่นดิน ท่านทั้งหลายควรขจัดความเห็นแก่ตัว ทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองอย่างสุดใจ กล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง งานการทุกอย่างต้องปรึกษาหารือกัน ช่วยชี้ให้เห็นข้อบกพร่องผิดพลาดของกันและกัน อย่าได้เอออคล้อยตาม เห็นตรงกันหมด ทั้งเบื้องบนและเบื้องล่างเป็นอันขาด ! "
เอาใจใส่ราษฎร
เจินกวนศก ๒ ( ค.ศ.๖๒๘ ) ถางไท่จงฮ่องเต้ทรงตรัสถามหวางกุยว่า " การปกครองของจักรพรรดิและขุนนางในยุคใกล้นี้ ส่วนใหญ่แล้ว เอาไปเทียบกับการปกครองของจักรพรรดิและขุนนางในสมัยโบราณไม่ได้ เพราะเหตุใด ? "
หวางกุยกราบทูลว่า " จักรพรรดิในสมัยโบราณบริหารราขการแผ่นดินโดยเทิดทูนหลักการ ' ปกครองโดยไม่ปกครอง ' ใช้ชีวิตอย่างสมถะ คำนึงถึงความต้องการของราษฎร แต่จักรพรรดิยุคใกล้นี้ต่างกัน พระองค์เหล่านั้นทรงทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสนองกิเลสตัณหาส่วนตัว ด้วยการแย่งชิงและทำลายผลประโยชน์ของราษฎร เสนาอำนาตย์ที่ช่วงใช้ก็มิใช่ผู้เชี่ยวชาญแตกฉานในศาสตร์สำหนักหยู มหาเสนาบดีทุกคนในสมัยราชวงศ์ฮั่น ต่างรู้แจ้งแตกฉานในศาสตร์แห่งการปกครองของสำนักใดสำนักหนึ่ง เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นในราชสำนักก็นำหลักในคัมภีร์มาช่วยแก้ไขได้ ทุกคนต่างอยู่ในขนบจารีตอันดีงามราชการงานเมืองไม่ขาดตกบกพร่อง แผ่นดินจึงสงบสุข ส่วนในยุคใกล้นี้ คนทั้งหลายให้ความสำคัญกับความชอบด้านบู๊มากไป และดูหมิ่นหลักธรรมสำนักหยู บ้างก็ให้ความสำคัญกับการปกครองตามหลักนิติธรรมมากไป จึงไม่ค่อยมีใครเห็นคุณค่าของขนบจารีตและการอบรมกล่อมเกลาแบบสำนักหยูค่านิยมที่ใช้ชีวิตอย่างสุจริตและสมถะย่อมถูกทำลายโดยปริยาย "
ถางไท่จงฮ่องเต้ทรงเห็นด้วยอย่างยิ่ง
หลังจากนั้น ขุนนางที่มีความรู้กว้างไกล และรู้แจ้งในศาสตร์แห่งการปกครอง ส่วนใหญ่จึงได้รับการเลือกเลื่อนและช่วงใช้ในหน้าที่ตำแหน่งสำคัญ
อย่าเอาแต่ " ขอรับ "
เจินกวนศก ๓ ( ค.ศ.๖๒๙ ) ถางไท่จงฮ่องเต้ตรัสแก่ข้าราชบริพารว่า
" คณะเสนาบดีและคณองคมนตรี คือ องค์กรสำคัญสำหรับบริหารราชการแผ่นดิน คนดีมีฝีมือที่ทำงานในสององค์กรนี้ ต้องแบกรับภาระหน้าที่อันสำคัญยิ่ง หากพบว่าคำสั่งหรือราชการโองการฉบับใดไม่ถูกต้องเหมาะสมจะต้องยืนหยัดความคิดเห็นที่ถูกต้องของตน อภิปรายโต้แย้งกันอย่างจริงจัง ระยะนี้ ข้าฯ พบว่าท่านทั้งหลายมีแนวโน้มชอบเออออคล้อยตามราชโองการและสีหน้าของข้าฯ เอาแต่ ' ขอรับ ' ปล่อยให้คำสั่งและราชโองการของข้าฯ ผ่านเลยโดยไม่มีใครแสดงความคิดเห็นต่างหรือพิจารณาไตร่ตรองอย่างละเอียดรอบคอบ นี่เป็นเพราะเหตุใด ? หากทำงานแค่ลงนามในหนังสือคำสั่งแล้วแจกจ่ายออกไป ขอถามว่า งานเท่าใด ใครทำไม่ได้ ? ข้าขอถามว่า ข้าฯ ยังต้องสิ้นเปลืองสติปัญญา เลือกคนดีมีฝีมือมาช่วงใช้ในหน้าที่ตำแหน่งและองค์กรอันสำคัญยิ่งนี้ได้อีกหรือ ?
" นับแต่นี้เป็นต้นไป ผู้ใดพบเห็นคำสั่งหรือราชโองการของข้าฯ มีสิ่งใดไม่ถูกต้องเหมาะสม จะต้องยืนหยัดความคิดเห็นของตนเอง อย่าได้ดูถูกตนเอง หรือมีจิตใจขลาดกลัว นั่งนิ่งอมพะนำทั้งที่รู้ว่าคำสั่งหรือราชโองการของข้าฯ มีข้อบกพร่องผิดพลาด ! "
พันเงื่อนหมึ่นปม ต้องรู้จักพลิกแพลง
เจินกวนศก ๔ ( ค.ศ.๖๓๐ ) ถางไท่จงฮ่องเต้ทรงตรัสถามเซียวหวี่ว่า " จักรพรรดิสุยเหวินตี้ ( หยางเจียน ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์สุย ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. ๕๘๑ - ๖๐๔ ) เป็นจักรพรรดิประเภทใด ? "
เซียวหวี่กราบทูลว่า " จักรพรรดิสุยเหวินตี้ทรงเอาชนะพระทัยของตนได้ รักษาขนบจารีต บริหารราชการแผ่นดินด้วยความวิริยะอุตสาหะ ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จออกว่าราชการ พระองค์จะทรงงานหามรุ่งหามค่ำ ขุนนางทุกคนตั้งแต่ระดับห้าขึ้นไปต้องอยู่สนทนาให้คำปรึกษา แม้องครักษ์และมหาดเล็ก ก็ต้องยืนกินข้าวในหน้าที่ พระองค์มิใช่จักรพรรดิที่ทรงปรีชาญาณและมีพระเมตตา แต่ก็นับได้ว่าพระองค์ทรงเป็นจักรพรรดิที่ทุ่มเทเสียสละเพื่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง "
ถางไท่จงฮ่องเต้ทรงตรัสว่า " ท่านรู้แค่ด้านเดียว จักรพรรดิสุยเหวินตี้ทรงหมกมุ่นในเรื่องรายละเอียดหยุมหยิมมากไป โดยไม่เข้าใจเหตุผลเรื่องราวต่างๆ อย่างถ่องแท้ จึงเพลี่ยงพล้ำบ่อย ความละเอียดจับจรด ทำให้พระองค์กลายเป็นคนขี้วิตกระแวง พระองค์ทรงยึดครองแผ่นดินด้วยการข่มเหงรังแกแม่หม้ายกับลูกกำพร้า ( บุตรีของหยางเจียนเป็นมเหสีของจักรพรรดิเซฺวียนตี้แห่งราชวงเป่ยโจว เมื่อจักรพรรดิเซฺวียนตี้สวรรคต จักรพรรดิจิ้งตี้ซึ่งมีพระชนมายุเพียง ๘ พรรษาขึ้นครองราชย์ โดยมีหยางเจียนเป็นผู้สำเร็จราชการแทนแต่งหยางเจียนวางแผนถอดจักรพรรดิจิ้งตี้ออกจากบัลลังก์ ตั้งตนเป็นจักรพรรดิสุยเหวินตี้ ขึ้นครองราชย์แทน และสถาปนาราชวงศ์สุยแทนที่ราชวงศ์เป่ยโจว ) จึงวิตกว่าเหล่าเสนาอำมาตย์จะไม่จงรักภักดีอย่างแท้จริง มักตัดสินพระทัยและแก้ปัญหาต่างๆ โดยลำพัง ไม่กล้าช่วงใช้ขุนนางทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊อย่างไว้วางพระทัย พระองค์แม้จะทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายกับการบริหารบ้านเมืองจนสารรูปดูซูบผอมยิ่ง ก็ไม่อาจแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างสมเหตุมผล เหล่าข้าราชสำนักต่างรู้ตื้นลึกหนาบางดี จึงไม่กล้าทูลถวายความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา พวกขุนนางระดับใต้มหาเสนาบดีลงไป เอาแต่เออออคล้อยตามราชโองการ ไม่กล้าทูลเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างแม้แต่น้อย
ข้าฯ มีทัศนคติแตกต่างจากพระองค์อย่างสิ้นเชิง แผ่นดินออกกว้างใหญ่ไพศาล ประชากรก็หนาแน่น ราชกิจงานเมืองมีพันเงื่อนหมื่นปม ต้องบริหารบ้านและแก้ปัญหาอย่างพลิกแพลงตามสภาพที่เป็นจริง ให้ขุนนางทุกระดับชั้นได้ปรึกษาหารือกัน มหาเสนาบดีค่อยสรุปและวางแผนให้เอกภาพจนเห็นว่าเหมาะสมแล้ว จึงทูลเสนอให้องค์จักรพรรดิทรงมีพระราชโองการถ่ายทอดลงไปเพื่อดำเนินการ ราชกิจงานเมืองร้อยแปดในแต่ละวัน จะให้เป็นหน้าที่ขบคิดตัดสินทุกประการขององค์จักรพรรดิแต่ผู้เดียวนั้นควรหรือ ?
" หากวันหนึ่งตัดสินใจสิบเรื่อง แต่ตัดสินใจผิดพลาดห้าเรื่อง เรื่องที่ตัดสินถูกต้องย่อมดีแน่ แต่เรื่องที่ตัดสินใจผิดพลาดล่ะ จะทำอย่างไร ? จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี ความผิดพลาดยิ่งสะสมก็ยิ่งมาก แล้วจะไม่สิ้นชาติได้อย่างไร !? จึงมิสู้เลือกเลื่อนช่วงใช้คนดีมีฝีมือ แบ่งงานให้รับผิดชอบตามลำดับขั้น ส่วนประมุขอยู่ในตำแหน่งสูงสุด มีหน้าที่ขบคิด วางแผนการใหญ่ที่ลึกซึ้งกว้างไกล และรักษากฏหมายอย่างเคร่งครัด เมื่อเป็นเช่นนี้ ยังจะมีผู้ใดกล้าก่อกรรมทำเข็ญทุจริตคิดมิชอบอีกเล่า ? "
จากนั้น พระองค์ทรงมีราชโองการถึงหน่วยราชการต่างๆ ว่า หากพบว่าคำสั่งหรือราชโองการของราชสำนักที่ถ่ายทอดลงไป มีสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม จะต้องทำฎีกาเสนอเหตุผลทูลถวายขึ้นมา ปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริตห้ามประจบประแจงปฏิบัติตามคำสั่งอย่างหลับหูหลับตา
แผ่นดินเพิ่งสงบ ยิ่งต้องระวัง
เจินกวนศก ๕ ( ค.ศ. ๖๓๑ ) ถางไท่จงฮ่องเต้ทรงตรัสแก่เหล่าเสนาอำมาตย์ว่า
" เหตุผลการปกครองกับการพักฟื้นนั้นเหมือนกัน คนไข้เมื่อรู้สึกว่าอาการดีขึ้น จะต้องระมัดระวัง พักฟื้นให้ดี เพราะหากปล่อยให้โรคกำเริบขึ้นมาอีก ก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต การปกครองประเทศก็เช่นกัน แผ่นดินเพิ่งสงบสันติ ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ หากหลงละเลิง ยโสทะนงตนฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย หมกมุ่นสุรานารี ก็เป็นเหตุนำไปสู่ความปราชัยล่มสลายย่างไม่ต้องสงสัย บัดนี้ ความร่มเย็นหรือวิบัติของบ้านเมือง ล้วนขึ้นกับข้าฯ ถึงข้าฯ จะมีโอกาสพักผ่อนเสพสุขมากมาย แต่ข้าฯ ล้วนขึ้นกับท่านทั้งหลาย ในเมื่อคุณธรรมแห่งเจ้ากับข้าผูกพันเราเป็นหนึ่งเดียว จึงควรร่วมแรงร่วมใจประสานงานกัน หากพบสิ่งใดไม่ถูกต้องเหมาะสม จะต้องเสนอความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ไม่ปิดบังอำพราง ไม่ผูกใจเจ็บแค้น หากจักรพรรดิกับขุนนางหวาดระแวงกัน ไม่อาจพึ่งพาอาศัยกันแล้ว ก็จะเป็นภัยร้ายแรงกับชาติบ้านเมือง "
น้ำลอยเรือได้ ก็จมเรือได้
เจินกวนศก ๖ ( ค.ศ.๖๓๒ ) ถางไท่จงฮ่องเต้ทรงตรัสแก่เหล่าเสนาอำมาตย์ว่า
" ย้อนมองจักรพรรดิในอดีตกาล มีเจริญก็มีเสื่อม เปรียบดังอรุณรุ่งกับพลบค่ำฉะนั้น ทั้งนี้ล้วนเป็นเพราะพระองค์เหล่านั้นถูกปิดบังพระเนตรพระกรรณ ไม่ทราบข้อดีข้อเสียที่เกิดจากนโยบายบริหารราชการแผ่นดินในยุคนั้นๆ คนซื่อตรงภักดีไม่กล้าทูลถวายคำทัดทาน คนถ่อยละโมบกลับมีโอกาสประจบสอพลอจนเพลิน จักรพรรดิมองไม่เห็นข้อบกพร่องและความผิดพลาดของตนจึงค่อยๆ ก้าวสู่ความเสื่อม ข้าฯ ประทับอยู่ในวังลึก ไม่อาจรับรู้เรื่องราวบนแผ่นดินทั้งหมด จึงมอบหมายให้ท่านทั้งหลายช่วยทำความเข้าใจสภาพที่แท้จริง ทำหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณ จงอย่าได้ประมาทเลินเล่อ หลงคิดว่าแผ่นดินสงบสุขไร้เรื่องราว ในคัมภีร์ ซั่งซูมีความตอนหนึ่งว่า ' ที่ควรถนอมรักมิใช่จักรพรรดิ ที่ควรเกลียดชังมิใช่ราษฎร ' ( หมายความว่า ต้องถนอมรักราษฎร ไม่ประจบสอพลอองค์จักรพรรดิ ) จักรพรรดิหากทรงบำเพ็ญขัตติยธรรมราษฎรก็จะอุ้มชูเป็นองค์พระประมุขของชาติ หากทรงไม่บำเพ็ญขัตติยธรรมราษฎรก็จะทอดทิ้ง นี่เป็นเรื่องน่ากลัวยิ่ง ! "
เว่ยเจิงกราบทูลว่า " นับแต่โบราณกาลมา จักรพรรดิจำนวนมากต้องสิ้นชาติวายชนม์ เพราะยามปลอดภัยลืมภยันตราย ยามสงบสุขลืมความวุ่นวาย จึงไม่อาจครองแผ่นดินได้ยืนนาน เวลานี้ ฝ่าบาทใส่พระทัยวิถีแห่งการปกครอง บริหารราชการแผ่นดินด้วยความระมัดระวัง ดุจประทับริมหน้าผาหรือเสด็จพระราชดำเนินบนน้ำเข็งบางแล้วไซร้ แผ่นดินก็จะสงบสุขสถาพรสำนวนโบราณว่า ' จักรพรรดิคือเรือ ราษฎรคือน้ำ น้ำลอยเรือได้ ก็จมเรือได้ ' ฝ่าบาททรงเห็นว่าราษฎรน่ากลัว ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น ! "
ไม่กล้าทัดทานแม้เรื่องเล็ก จะทำงานใหญ่ได้หรือ ?
เจินกวนศก ๖ ( ค.ศ.๖๓๒ ) ถางไท่จงฮ่องเต้ทรงตรัสแก่เหล่าเสนาอำมาตย์ว่า
" คนสมัยโบราณกล่าวว่า ' เห็นคนจะล้ม ไม่ช่วยประคอง เห็นคนล้ม ก็ไม่ช่วยเหลือ หากใช้คนประเภทนี้เป็นผู้ช่วย จะมีประโยชน์อะไร ? ' ราชธรรมที่ผูกพันองค์จักรพรรดิกับเหล่าขุนนางเข้าด้วยกันนั้นนั้น ลึกล้ำหนักแน่น เหล่าขุนนางจะไม่ช่วยองค์จักรพรรดิปกครองบ้านเมืองอย่างซื่อสัตย์จงรักภักดีได้ล่ะหรือ ? ก่อนนี้ ข้าฯ อ่านคัมภีร์ พบเรื่องราวที่ทรราชเจี๋ยแห่งราชวงศ์เซี่ยสั่งประหารกวนหลงผาง ( ขุนนางผู้ใหญ่สมัยทรราชเจี๋ย ถวายคำทัดทานอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่หวั่นเกรงสีพระพักตร์ของกษัตริย์ราชเจี๋ย แต่ท้ายที่สุด ก็ถูกจับขังคุก ประหารชีวิต ) และจักรพรรดิฮั่นจิ่งตี้ ( หลิวฉี่ ครองราชย์ระหว่างก่อน ค.ศ. ๑๔๑ - ๑๕๗ ) สั่งประหารเฉาชฺว่อ ( เสนาบดียุติธรรมสมัยจักรพรรดิฮั่นจิ่งตี้ผู้เสนอให้ตัดทอนดินแดนเหล่าสามนตราช ทำให้สามนตราชเจ็ดแคว้นโกรธแค้นมาก ต่อมา จักรพรรดิฮั่นจิ่งตี้ทรงเชื่อคำยุยงของหยวนอั๋ง สั่งตัดศรีษะเฉาชฺว่อทางประตูเมืองด้านทิศตะวันออกของราชธานีฉางอาน ) แล้ว ก็อดถอนใจวางคัมภีร์ลงมิได้ ขอเพียงท่านทั้งหลายเสนอความคิดเห็นหรือทัดทานอย่างตรงไปตรงมา ด้วยเหตุผลที่เป็นประโยชน์กับการปกครองและการศึกษา ข้าฯ จะไม่ลงโทษพวกท่านส่งเดช เพียงเพราะขัดใจหรือขัดราชโองการของข้าฯ เด็ดขาด
" พักนี้ ข้าฯ ออกว่าราชการ แก้ปัญหาบ้านเมือง ก็มีบ้างที่ออกคำสั่งขัดต่อกฏหมาย ท่านทั้งหลายไม่ทัดทานเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็ก อันที่จริงเรื่องใหญ่ล้วนมาจากเรื่องเล็ก หากปล่อยปละละเลย เรื่องเล็กก็จะสะสมพอกพูนกลายเป็นเรื่องใหญ่ แก้ไขไม่ได้ ในอดีตนั้น แผ่นดินมิได้ปั่นป่วนวุ่นวายเพราะเหตุนี้ดอกหรือ ? จักรพรรดิสุยหยางตี้ทรงทารุณโหดร้าย ไม่บำเพ็ญขัตติยธรรม เมื่อพระองค์ถูกปลงพระชนม์ เหล่าพสกนิกรน้อยนักที่หลั่งน้ำตาให้ ท่านทั้งหลายต้องช่วยข้าฯ คิดดูว่า ราชวงศ์สุยล่มสลายเพราะเหตุใด ข้าฯ เองก็จะเก็บรับบทเรียนที่กวนหลงผางและเฉาชฺว่อถูกประหารเพราะซื่อสัตย์จงรักภักดี จักรพรรดิกับขุนนางข้าราชสำนักหากช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้เช่นนี้ย่อมได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย มิใช่หรือ ? "
สำเร็จภายในสามปี นับว่าสายเกินไป
เจินกวนศก ๗ ( ค.ศ. ๖๓๓ ) ถางไท่จงฮ่องเต้ทรงสนทนากับหัวหน้าบรรณารักษณ์ เว่ยเจิง ถึงปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่โบราณกาลมา
พระองค์ทรงตรัสว่า " ขณะนี้ แผ่นดินเพิ่งผ่านพ้นความวุ่นวายครั้งใหญ่มาได้ไม่นาน ชาติบ้านเมืองคงไม่เขาสู่ภาวะสันติสุขภายในเวลาอันสั้น "
เว่ยเจิงกราบทูลว่า " ผู้น้อยมิได้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น ปกติคนเราหากตกอยู่ในภาวะบ้านเมืองเป็นจราจล ก็จะวิตกเรื่องความตาย เมื่อวิตกเรื่องความตาย ก็หวังว่าแผ่นดินจะมีสันติสุข เมื่อหวังว่าแผ่นดินจะมีสันติสุข ก็จะอบรมกล่อมเกลาได้ง่าย หลังความปั่นป่วนวุ่นวายแล้ว ราษฎรจะรับการอบรมกล่อมเกลาได้ง่าย ดุจเดียวกับคนหิวกระหายจะกินอาหารไม่เลือก ฉะนั้น "
พระองค์ทรงตรัสถามว่า " แม้จักรพรรดิผู้ทรงพระปรีชาญาณปกครองอาณาจักร ยังต้องใช้่เวลานานถึงร้อยปี กว่าจะยุติความรุนแรง ยกเลิกโทษทัณฑ์ประหารได้ เวลานี้ แผ่นดินเพิ่งจะผ่านพ้นความปั่นป่วนวุ่นวายครั้งใหญ่ก็เรียกร้องให้ปกครองแบบสันติสุข ท่านเห็นว่า เราจะทำให้การปกครองแบบสันติสุข ปรากฏเป็นจริง ภาในเวลาอันสั้นได้อย่างไร ? "
เว่ยเจิงกราบทูลว่า " คนทั่วไปย่อมเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ แต่จักรพรรดิที่พระปรีชาญาณ ย่อมอบรมกล่อมเกลาให้เบื้องบนเบื้องล่างสามัคคีกันและราษฎรทั่วแผ่นดินตอบสนองอุ้มชูได้ เพราะฉะนั้น ถึงไม่หวังว่าสันติสุขจะปรากฏเป็นจริงอย่างรวดเร็ว ก็จะปรากฏเป็นจริงในไม่ช้า หากกล่าวว่าทำให้ปรากฏเป็นจริงได้ภายในเวลาหนึ่งปี เชื่อว่าไม่น่าจะทำให้ฝ่าบาทลำบากมากไปแต่ถ้ายืดเวลาออกไป ทำให้ปรากฏเป็นจริงภายในเวลาสามปี ก็อาจจะสายเกินการณ์
ถางไท่จงฮ่องเต้ทรงเห็นด้วยกับความคิดเห็นของเว่ยเจิง
แต่เฟิงเต๋ออี้ ( มหาเสนาบดีฝ่ายขวาในสมัยนั้น ) ไม่เห็นด้วยกับทัศนะของเว่ยเจิง จึงแย้งว่า
" หลังสามยุค ( หมายถึงยุคราชวงศ์เซี่ย ซัง และ โจว ) แล้ว ใจคนเจ้าเล่ห์เหี้ยมเกรียมมากขึ้น เพราะฉะนั้น ราชวงศ์ฉินเน้นการใช้กฏหมายและลงทัณฑ์ ราชวงศ์ฮั่นเน้นการใช้อำนาจบารมี ซึ่งล้วนมีจุดหมายต้องการให้ภาวะสันติสุขปรากฏเป็นจริง แต่ก็ยังทำให้ถาวะสันติสุขปรากฏเป็นจริงไม่ได้ ใช่ว่าพระองค์เหล่านั้นไม่คิดทำให้ภาวะสันติสุขปรากฏเป็นจริงแต่อย่างใด ! หากพระองค์ทรงเชื่อความคิดเห็นของเว่ยเจิง ผู้น้อยเกรงว่าแผ่นดินจะปั่นป่วนวุ่นวายดังเดิม "
เว่ยเจิงจึงกราบทูลว่า " ห้าจักรพรรดิสามกษัตริย์ ( ห้าจัรพรรดิหมายถึง หวงตี้ จวนซุน เกาซิน ถางเหยา และหวี่ซุ่น สามกษัตริย์ หมายถึง กษัตริย์ราชหวี่แห่งราชวงศ์เซี่ย กษัตริย์ราชทังแห่งราชวงศ์ซัง และกษัตริย์ราชอู่แห่งราชวงศ์โจว ) มิได้ปกครองแผ่นดินให้บรรลุภาวะสันติสุขโดยโอนราษฎรให้แก่กัน หากดำเนินการปกครองตามวิถีแห่งจักรพรรดิ ( หมายถึงการปกครองให้แก่กัน หากดำเนินการปกครองตามวิถีแห่งจักรพรรดิ ( หมายถึงการปกครองโดยไม่ปกครอง ) บ้านเมืองก็จะเข้าสู่สภาวะการปกครองตามวิถีแห่งจักรพรรดิหากดำเนินการปกครองตามวิถีแห่งกษัตริยราช ( หมายถึงการปกครองแผ่นดินด้วยเมตตาและคลองธรรม ) บ้านเมืองก็จะเข้าสูภาวการณ์ปกครองแบบกษัตริยราช เหล่านี้ล้วนขึ้นกับเนื้อหาและเป้าหมายที่ให้การอบรมกล่อมเกลาราษฎรในสมัยนั้น ราษฎรจะปรับตัวตามเนื้อหาและเป้าหมายนั้นๆ เอง
" เมื่อตรวจสอบจากบันทึกในโบราณคัมภีร์ ก็จะทราบได้ว่า ก่อนนี้จักรพรรดิหวงตี้ ( บรรพบุรุษร่วมของชนเผ่าต่างๆ ในจงหยวนตามตำนาน ) ทำศึกใหญ่กับซือหยิว ( หัวหน้าชนเผ่าจิ่วหลีทางตะวันออก มีพี่น้องทั้งหมด ๘๑ คนต่อมาจักรพรรดิเหลืองจับเป็นและประหาร ) กว่า ๗๐ ครั้ง พูดได้ว่าสมัยนั้นแผ่นดินปั่นป่วนวุ่นวายอย่างมาก แต่พอจักรพรรดิเหลืองรบชนะชือหยิวแล้วภาวะสันติสุขก็ปรากฏเป็นจริง พวกจิ่วหลีก่อกบฎ จักรพรรดิจวนซุยทรงกรีธาทัพปราบปรามจนราบคาบ แผ่นดินก็มีความสุขดังเดิม ทรราชเจี๋ยแห่งราชวงศ์เซี่ยทรงโหดร้ายทารุณไร้ขัตติยธรรม กษัตริย์ราชทัง ( ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ซัง ) ทรงจับกุมพระองค์เนรเทศไปยังแดนกันดาร ภาวะสันติสุขก็ปรากฏเป็นจริงอีกครั้งทรราชโจ้วแห่งราชวงศ์ซัง ทรงโฉดเขลาไร้ขัตติยธรรม ก็ถูกกษัตริย์ราชอู่แห่งราชวงศ์โจวปราบปราม เมื่อถึงยุคกษัตริย์ราชเฉิง ( ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ได้โจวกงต้านช่วยสำเร็จราชการ สร้างขนบจารีต ระเบียบราชพิธี และวางรากฐานแก่ราชวงศ์โจว ) พระราชโอรสของกษัตริย์ราชอู่แล้ว แผ่นดินก็มีสันติสุข และเจริญรุ่งเรือง หากกล่าวว่าใจคนเจ้าเล่ห์เหี้ยมเกรียมมากขึ้น ไม่สุจริตและสมถะอย่างแต่ก่อน พอถึงทุกวันนี้ คนเราน่าจะกลายเป็นมารร้ายกันหมดแล้ว ยังจะอบรมกล่อมเกลาได้อีกหรือ ? "
เฟิงเต๋ออี๋และขุนนางท่านอื่นๆ ยังเห็นว่าความเชื่อของเว่ยเจิงไม่มีทางปรากฏเป็นจริง ถึงพวกเขาไม่อาจยกเหตุผลขึ้นมาโต้แย้งก็ตาม แต่ถางไท่จงฮ่องเต้กลับทรงปฏิบัติตามความคิดเห็นของเว่ยเจิงอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ย่อท้อ ปรากฏว่า ใช้เวลาไม่กี่ปี ราชอาณาจักรก็สงบร่มเย็น ชาติบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง พวกถูเจวี๋ย ( ชนเผ่าเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนในสมัยโบราณ ) ก็ถูกปราบปรามราบคาบ
ดังนั้น ถางไท่จงฮ่องเต้จึงตรัสแก่เหล่าเสนาอำมาตย์ว่า " ต้นยุคเจินกวน ท่านทั้งหลายล้วนกล่าวว่า แผ่นดินยุคนี้ จะดำเนินการปกครองตามวิถีแห่งจักรพรรดิและวิถีแห่งกษัตริย์ราชไม่ได้ มีเว่ยเจิงท่านเดียวเตือนให้ข้าฯ ดำเนินการปกครองตามวิถีดังกล่าว ข้าฯ เชื่อความคิดเห็นของเว่ยเจิง ใช้เวลาแค่ไม่กี่ปี ก็ทำให้ชาติบ้านเมืองสงบสุขมั่นคง แว่นแคว้นแดนไกลต่างยอมสวามิภักดิ์ พวกถูเจฺวี๋ยซึ่งเป็นศัตรูที่แข็งแกร่งของจีนนับแต่โบราณกาล มาบัดนี้ข่ายของพวกถูเจฺวี๋ยก็กลายเป็นองครักษ์ที่ถือดาบปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันในพระราชวังของข้าฯ ราษฏรชนเผ่าต่างๆ ตามชายแดนล้วนใส่หมวกและเสื้อผ้าแบบชาวไต้ถาง ข้าฯ บรรลุภาวะการปกครองเช่นทุกวันนี้ได้ ล้วนเป็นความดีความชอบของเว่ยเจิง "
พระองค์ทรงหันไปตรัสแก่เว่ยเจิงว่า " หยกมณีแม้เนื้อดีบริสุทธิ์ แต่มันอยู่ในหิน หากไม่ได้ช่างฝีมือดีช่วยเจียระไน ก็ไม่แตกต่างกับก้อนหินธรรมดา แต่ถ้าพบช่างเจียระไนฝีมือยอดเยี่ยม ก็จะกลายเป็นหยกมณีวิเศษตลอดกาล ข้าฯ ถึงมิใช่หยกมณีเนื้อดีสำหรับให้ท่านช่วยเจียระไน แต่ก็รบกวนท่านช่วยเตือนสติและควบคุมให้ข้าฯ มีเมตตาคลองธรรมหมั่นบำเพ็ญขัตติยธรรม ทำให้ข้าฯ สามารถสร้างคุณูปการแก่บ้านเมืองดังที่ประจักษ์แก่สายตาท่านทั้งหลายในทุกวันนี้ ท่านเองก็นับได้ว่าคือช่างเจียระไนหยกฝีมือยอดเยี่ยมที่สุดแห่งยุคแล้ว ! "
จักรพรรดิช่วยอะไรเราบ้าง ?
เจินกวนศก ๘ ( ค.ศ. ๖๓๔ ) ถางไท่จงฮ่องเต้ทรงตรัสแก่เหล่าเสนาอำมาตย์ว่า " สมัยราชวงศ์สุย ราษฎรมีทรัพย์สินแม้แค่น้อยนิด ก็รักษาไว้ไม่ได้ แต่หลังจากข้าฯ ยึดครองแผ่นดินได้แล้ว ข้าฯ ตั้งใจว่าจะให้ราษฎรมีโอกาสอยู่อย่างสงบ จึงงดเก็บส่วยเกณฑ์แรงงานชั่วคราว ช่วยให้พวกเขามีงานทำ กินอิ่มนุ่งอุ่น มีทรัพย์สินเงินทองเหลือเก็บ ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นของขวัญที่ข้าฯ ให้แก่ราษฎร หากข้าฯ เก็บส่วยเกณฑ์แรงบ่อยๆ ตั้งแต่แรก ต่อให้ข้าฯ แจกจ่ายสิ่งของแก่ราษฎรมิได้หยุด พวกเขาก็เหมือนไม่ได้อะไร
เว่ยเจิงกราบทูลว่า " ตั้งแต่สมัยเมธีกษัตริย์เหยาและเมธีกษัตริย์ซุ่นแล้ว ราษฎรก็พูดกันว่า พวกเขา ' ทำนากินข้าว ขุดบ่อดื่มน้ำ ' พวกเขากินข้าวอิ่ม เอามือลูบพุง แล้วถามว่า ' จักรพรรดิช่วยอะไรเราบ้าง ?' บัดนี้ ฝ่าบาททรงปกครองเหล่าพสกนิกรด้วยเมตตาธรรม แผ่พระมหากรุณาธิคุณทั่วแผ่นดิน ส่วนราษฎรก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขโดยไม่รู้ตัว นี่มิใช่ภาวะในอุดมคติสูงส่งดอกหรือ ? "
เว่ยเจิงกราบทูลต่อไปอีกว่า " ครั้งหนึ่ง เจ้าแคว้นจิ้น เหวินกง ( แซ่จี ชื่อ ฉงเอ่อ ครองราชย์ระหว่างก่อน ค.ศ. ๖๓๖ - ๖๒๘ ) เสด็จประภาสป่าล่าสัตว์ที่เมืองตั้ง ( อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอหย่งเฉิง มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน ) ทรงหลงทางในที่ราบลุ่มแห่งหนึ่ง ซึ่งมีห้วยหนองคลองบึงมากมายโดยไม่รู้ตัว "
" ณ ที่นั้นเอง พระองค์พบเฒ่าหาปลาคนหนึ่ง จึงตรัสแก่ท่านว่า ' ข้าฯ เป็นเจ้าแคว้นของท่าน ช่วยบอกทางออกจากห้วยหนองคลองบึงแถบนี้แก่ข้าฯ ด้วย ข้าฯ จะตกรางวัลแก่ท่านอย่างงาม ' เฒ่าหาปลากราบทูลว่า ' ผู้น้อยมีเรื่องขอกราบทูล ' พระองค์ทรงตรัสว่า ' ออกจากห้วยหนองคลองบึงแถบนี้แล้ว ค่อยฟังความคิดเห็นของท่าน ' เมื่อเฒ่าหาปลาช่วยพาพระองค์เสด็จกลับไปที่ทางหลวงแล้ว พระองค์จึงตรัสว่า ' ท่านมีวาจาใดแนะนำ ? ข้าฯ ขอน้อมรับฟัง ' เฒ่าหาปลากราบทูลว่า ' พญาห่านฟ้า ( ห่งกู ) เดิมอาศัยอยู่ในแถบแม่น้ำทะเลกว้าง กลับเบื่อหน่ายชีวิตที่สุขสบาย จึงบินไปท่องเที่ยวในหนองบึงเล็ก เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็มีอันตรายที่จะถูกยิงร่วงจากลูกเกาทัณฑ์หน้าไม้ พญากุมภีล์ ( หยวนถัว ) เดิมอาศัยอยู่ในห้วงมหรรณพผ่านชีวิตที่จำเจ จึงคิดขึ้นมาหาความสนุกบนหาดทราย เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็มีอันตรายที่จะถูกตกจากเบ็ดพราน บัดนี้ฝ่าบาทเสด็จประพาสป่าล่าสัตว์ ณ ที่แห่งนี้ กระทั่งหลงทางเข้ามาในบึงใหญ่ ไฉนพระองค์จึงต้องเสด็จประพาสดินแดนเปลี่ยวร้างห่างไกลเช่นนี้ด้วยเล่า ? ' เจ้าแคว้นจิ้นตรัสว่า ' ข้อคิดท่านดีมาก ! ' จากนั้น ทรงมีรับสั่งให้องครักษ์จดชื่อของเฒ่าหาปลาไว้ เพื่อพระราชทานบำเหน็จรางวัลให้ในภายหลัง
" เฒ่าหาปลาจึงกราบทูลว่า ' ใยพระองค์ต้องจดชื่อของผู้น้อยไว้ด้วยเล่า ? หากเจ้าแคว้นเคารพกฎแห่งฟ้า ตั้งใจบริหาราชการแผ่นดิน เซ่นสรวงศาลบูชาบรรพชน ปกป้องรักษาขอบขัณฑสีมา ดูแลถนอมรักเหล่าพสกนิกร ลดค่าเช่า เก็บส่วยภาษีแต่น้อย และตกบำเหน็จรางวัลแต่พองาม ผู้น้อยก็จะได้รับประโยชน์เอนกอนันต์ในตัว แต่ถ้าพระองค์ไม่เคารพกฎแห่งฟ้า ไม่ตั้งใจบริหารราชการแผ่นดิน ไม่เซ่นสรวงศาลบูชาบรรพชน ไม่เสริมการป้องกันประเทศ ไม่ให้เกียรติแก่สามนตราช ไม่คล้อยตามความต้องการของราษฎร บ้านเมืองก็จะเสื่อมโทรมล่มสลาย ต่อให้พระองค์พระราชทานทรัพย์สินมากมายแก่ผู้น้อย ผู้น้อยก็รักษาไว้ไม่ได้ดอก ' เฒ่าหาปลายืนยันปฏิเสธบำเหน็จรางวัลที่เจ้าแคว้นจิ้นทรงดำริพระราชทานให้ "
ถางไท่จงฮ่องเต้ทรงตรัสว่า " ความคิดเห็นของท่านมีเหตุผลดีมาก "
ปกครองประเทศคล้ายปลูกต้นไม้
เจินกวนศก ๙ ( ค.ศ.๖๓๕ ) ถางไท่จงฮ่องเต้ทรงตรัสแก่เหล่าเสนาอำมาตย์ว่า
" ก่อนนี้ สมัยทีเราเพิ่งยึดเมืองหลวงได้นั้น ข้าฯ พบว่าในวังของจักรพรรดิราชวงศ์สุย ทุกตำหนักมีหญิงงามและหยกมณีมากมาย แม้กระนั้นจักรพรรดิสุยหยางตี้ยังไม่รู้จักพอ พระองค์ทรงเก็บส่วยเกณฑ์แรงงานไม่หยุด ประกอบกับทรงกรธาทัพบำรุงบูรพาพิชิตประจิมต่อเนื่อง พร่าผลาญกำลังทหารมากมาย ราษฎรทุกขยากเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า กระทั่งถึงกาลราชวงศ์สุยล่มสลาย เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่ข้าฯ พบเห็นกับตา เพราะฉะนั้น ข้าฯ จึงใส่ใจราชกิจงานเมืองตลอดเวลา ไม่กล้าเหนื่อยหน่ายเกียจคร้านเพียงหวังว่าข้าฯ สามารถอยู่อย่างสงบสมถะ ปกครองประเทศตามหลักการ ' ปกครองโดยไม่ปกครอง ' ทำให้แผ่นดินมีสันติสุขปราศจากเหตุวุ่นวาย และดังนั้น จึงตัดสินใจไม่เกณฑ์แรงสร้างเวียงวังขนานใหญ่ ประกอบธัญพืชเก็บเกี่ยวได้ผลอุดมติดต่อกันห้าปี ราษฎรประกอบสัมมาอาชีพได้อย่างปกติสุข ข้าฯ เห็นว่า ปกครองประเทศคล้ายปลูกต้นไม้นั่นแหละ ถ้ารากหยั่งลึกมั่นคง กิ่งใบย่อมดกหนาเขียวชอุ่ม หากองค์จักรพรรดิอยู่อย่างสมถะราษฎรย่อมประกอบสัมมาอาชีพได้อย่างปกติสุข "
องค์เหนือหัวรู้จักเคร่งครัด ข้าราชบริพารเกรงกลัวกฏหมาย
เจินกวนศก ๑๖ ( ค.ศ. ๖๔๒ ) ถางไท่จงฮ่องเต้ทรงตรัสแก่เหล่าเสนาอำมาตย์ว่า " บางยุค จักรพรรดิทรงโฉดเขลา ขุนนางกลับช่วยปกครองบ้านเมืองอย่างซื่อสัตย์สุจริต บางยุค จักรพรรดิทรงปกครองบ้านเมืองด้วยขัตติยธรรม แต่ข้าราชบริพารกลับเที่ยวก่อกรรมทำเข็ญ ถ้านำมาเปรียบเทียบกันแล้ว แบบไหนย่ำแย่กว่า ? "
เว่ยเจิงกราบทูลว่า " ถ้าองค์เหนือหัวทรงใส่พระทัยราชกิจงานเมือง ก็จะวินิจฉัยความผิดพลาดของข้าราชบริพารได้อย่างถูกต้อง ถ้าองค์เหนือหัวทรง ' ฆ่าหนึ่งเตือนร้อย ' ใครยังจะกล้าไม่จงรักภักดี ไม่เกรงกลัวบารมีขององค์เหนือหัวอีกเล่า ? แต่ถ้าเหนือหัวทรงโฉดเขลาโหดร้ายทารุณ ไม่รับฟังคำทัดทานของขุนนางที่ซื่อสัตย์ ต่อให้มีไป่หลี่ซี ( ปราชญ์ยุคชุนชิว เดิมเป็นอำมาตย์แคว้นหวี่ ) และอู๋จื่อซฺวี ( อำมาตย์แคว้นอู๋ยุคชุนชิว ) อย่างแคว้นหวีและแคว้นอู๋ก็ไม่อาจช่วยให้ชาติบ้านเมืองรอดพ้นจากวิบัติภัย จึงไม่แปลกเลยที่เจ้าแคว้นหวี่และเจ้าแคว้นอู๋ต้องสิ้นชาติวายชนม์ "
ถางไท่จงฮ่องเต้ทรงตรัสว่า " ถ้าเห็นว่านี่ป็นเรื่องแน่นอน ไฉนจักรพรรดิเหวินเซฺวียนแห่งแคว้นเป่ยฉี ( เกาหยาง ผู้สถาปนาแคว้นเป่ยฉีครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. ๕๕๑ - ๕๕๙ ) ทรงโฉดเขลาโหดร้ายทารุณ แต่หยางจุนเยี่ยน ( หรือหยางอิน มหามนตรีแห่งแคว้นเป่ยฉี ) บริหารราชการแผ่นดินตามวิถีแห่งธรรม ก็ช่วยให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยได้ ท่านจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร ? "
เว่ยเจิงกราบทูลว่า " หยางจุนเยี่ยนช่วยองค์เหนือหัวที่โหดร้ายทารุณแก้ไขข้อผิดพลาด ช่วยเหลือราษฎรให้รอดพ้นจากความเดือดร้อน และทำให้แคว้นเป่ยฉีรอดพ้นจากกบฏจราจลได้ก็จริง แต่สถานการณ์ก็คับขันน่าวิตกสภาพเช่นนี้ จะนำมาเทียบกับภาวะที่องค์เหนือหัวทรงรู้แจ้งเคร่งครัด ข้าราชบริพารเกรงกลัวกฏหมาย แต่กล้าทูลทัดทานอย่างตรงไปตรงมา โดยที่องค์เหนือหัวก็ทรงยินดีรับฟังความคิดเห็น ไม่ได้ดอก "
ยโสโอหังย่อมปราชัย
เจินกวนศก ๑๙ ( ค.ศ.๖๔๕ ) ถางไท่จงฮ่องเต้ทรงตรัสแก่เหล่าเสนาอำมาตย์ว่า
" ข้าฯ พบว่า จักรพรรดิที่ทรงปราชัย เพราะยโสโอหัง นับแต่โบราณกาลมา มีจำนวนไม่น้อยเลย
" ที่ไกลไม่ต้องพูดถึง ยุคใกล้นี้ได้แก่ จักรพรรดิจิ้นอู่ตี้ ผู้พิชิตง่อก๊ก ( สุมาเอี๋ยนพิชิตง่อก๊กได้ในปี ค.ศ.๒๘๐ ) และจักรพรรดิสุยเหวินตี้ ผู้บำราบแคว้นเฉิน ( หยางเจียนพิชิตแคว้นเฉินได้ในปี ค.ศ.๕๘๙ ) เมื่อบรรลุเป้าหมายแล้ว ก็ทรงยโสโอหัง หลงละลืมตน ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เหล่าราชบริพารก็ไม่กล้าถวายคำทัดทาน บ้านเมืองจึงเสื่อมโทรมลง แผ่นดินปั่นป่วนวุ่นวาย
" หลังจากข้าฯ บำราบพวกชนเผ่าถูเจฺวี๋ย และตีเกาลี่ ( ชื่อแคว้นหนึ่งในสมัยโบราณ ซึ่งก็คือเกาจฺวี้ลี่ อยู่ในเขตอำเภอซินปิน มณฑลเหลียวหนิงในปัจจุบัน ต่อมาถูกฮุบกลืนโดยแคว้นเฉาเสี่ยนตระกูลเว่ยซื่อ ) แตกแล้ว ก็ฮุบกลืนดินแดนพวกชนเผ่าเถี่ยเล่อ ( ชื่อชนเผ่าทางภาคเหนือของจีนสมัยโบราณหรือที่เรียกกันว่า เกาเชอ และ เท่อเล่อ ) ตีฝ่าทะเลทราย ตั้งอำเภอและเมืองขึ้นมากมาย ชนเผ่าต่างๆ รอบชายแดนพากันอ่อนน้อมยอมสวามิภักดิ์ บารมีและการอบรมกล่อมเกลาของไต้ถางนับวันแผ่ขยายกว้างไกลออกไป
" ข้ฯ กลัวว่า ข้าฯ จะยโสโอหัง หลงละเลิงลืมตน จึงพยายามควบคุมตนเอง ตั้งใจดูแลราชกิจงานเมืองไม่ย่อหย่อน บ่อยครั้งทำงานจนดึกดื่นกว่าจะได้รับประทานอาหารมื้อเย็น บางคืนก็อดหลับอดนอน เมื่อได้ฟังคำทัดทานที่ฟังด้วยท่าทีเป็นมิตร และถือเป็นอาจารย์ ข้าฯ ทำเช่นนี้โดยหวังว่า ประเทศชาติจะมั่นคงเข้มแข็ง ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป ! "
By เจินกวนเจิ้งเย่า (ยอดกุศโลบายจีน)
No comments:
Post a Comment