Saturday, March 07, 2015

บรรพที่ ๑ ขัตติยธรรมและโครงสร้างการปกครอง ( บทที่ ๒ โครงสร้างการปกครอง )

บรรพที่ ๑ ขัตติยธรรมและโครงสร้างการปกครอง
บทที่ ๒  โครงสร้างการปกครอง

แก่นไม้ไม่ตรง ลายไม้บิดเบี้ยว


          ต้นยุคเจินกวน ถางไท่จงฮ่องเต้เคนตรัสแก่เซียวหวี่ ( ขุนนางผู้ใหญ่สมัยนั้น เคยเป็นพระอาจารย์ของรัชทายาท ต่อมาได้เป็นเสนาบดียุติธรรม ) ว่า



          " ข้าฯ ชอบเล่นเกาทัณฑ์ตั้งแต่เด็ก คิดว่าตัวเองรู้ศาสตร์และศิลป์ด้านเกาทัณฑ์หมดแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ ข้าฯ ได้คันเกาทัณฑ์ที่ดีมากว่า ๑๐ คัน จึงเอาไปอวดนายช่าง แต่นายช่างบอกว่า ' คันเกาทัณฑ์ทั้งหมดนี้ ไม่ได้ทำด้วยวัสดุที่ดี ' ข้าฯ ถามถึงเหตุผล นายช่างก็บอกว่า ' แก่นไม้ไม่ตรง ลายไม้บิดเบี้ยว คันเกาทัณฑ์จึงจะแข็งแกร่ง แต่เวลายิง ลูกเกาทัณฑ์จะวิ่งไม่ตรงเป้าทั้งหมดนี้ ไม่ใช่คันเกาทัณฑ์ที่ดี ' ข้าฯ จึงได้รู้ข้อเท็จจริงอย่างถ่องแท้ ข้าฯ รวบรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นด้วยเกาทัณฑ์ ใช้คันเกาทัณฑ์มานับไม่ถ้วน กลับไม่รู้เหตุผลข้อนี้ เวลานี้ ข้าฯ เพิ่งครองแผ่นดินได้ไม่นาน ยังเข้าใจกุศโลบายปกครองไม่เท่าวิชาเกาทัณฑ์ แม้คันเกาทัณฑ์ ข้าฯ ยังดูพลาด แล้วกุศโลบายปกครองเล่า ? "



           หลังจากนั้น ถางไท่จงฮ่องเต้จึงมีราชโองการถึงเหล่าเสนาอำมาตย์ให้ขุนนางในเมืองหลวงตั้งแต่ระดับห้าขึ้นไป หมุนเวียนกันเข้าเวรในจวนว่าการเสนาบดี ( จงซู่เสิ่ง ตั้งอยู่ในเขตพระราชวังต้องห้าม คล้ายทำเนียบรัฐบาลในสมัยนี้ ) และทุกครั้งที่พระองค์มีรับสั่งให้ขุนนางเหล่านั้นเข้าเฝ้า จะทรงเชื้อเชิญให้นั่งในที่อันทรงเกียรติ พระองค์ไม่เพียงสนทนาถามไถ่สารทุกข์สุขดิบเป็นการส่วนตัว ยังสอบถามสภาพท้องที่ต่างๆ อย่างละเอียด เพื่อรับทราบความทุกข์ยากเดือดร้อนและความต้องการของราษฎร ตลอดจนผลของการอบรมกล่อมเกลาราษฎรด้วย