Saturday, July 19, 2014

ต้นไม้ใหญ่กับห่านขาว


ต้นไม้ใหญ่กับห่านขาว

        ครั้งหนึ่งจวงจื่อเดินทางผ่านเขตเขา เห็นที่ข้างทางมีต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขา มีใบดกลำต้นโตขนาดหลายคนโอบต้นหนึ่ง ที่ใต้ต้นไม้มีคนที่มีอาชีพตัดไม้หลายคนพร้อมกับเครื่องมือ แต่ไม่มีใครลงมือโค่นต้นไม้ต้นนี้ จวงจื่อรู้สึกแปลกใจจึงถามพวกเขา คนตัดไม้ตอบว่า " ต้นไม้นี้เนื้อไม่ดี ไม่สามารถเอาไปใช้ทำอะไรได้ "

         " อ้อ ! จวงจื่ออุทานแล้วหันมาบอกกับศิษย์ของตนว่า " เนื่องจากมันไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรได้ มันจึงเจริญเติบโตถึงขนาดนี้และมีอายุได้นานขนาดนี้ คนเราก็ควรจะเป็นเช่นต้นไม้นี้จึงจะดี "

        เมื่อเดินทางออกจากเขตเขาก็เป็นเวลาพลบค่ำ จวงจื่อจึงเข้าไปยังหมู่บ้าน และพักแรมในบ้านเพื่อนที่ชอบพอกัน เพื่อนผู้นั้นเห็นจวงจื่อเดินทางมาถึงที่ตนอยู่ก็ดีใจมาก รีบสั่งลูกชายให้ไหปจัดเหล้าและจับห่านมาฆ่าเลี้ยงจวงจื่อ

        ลูกชายของเขาหยิบมีดขึ้นแล้วถามว่า " พ่อจะให้ฆ่าห่านตัวที่ร้องได้หรือตัวที่ร้องไม่เป็น ? "

        ชายผู้นั้นตอบว่า " ห่านที่ร้องไม่เป็นจะมีประโยชน์อะไรควรฆ่าเสีย "

        ศิษย์ของจวงจื่อที่นั่งอยู่ในที่นั้นจึงถามจวงจื่อว่า " ต้นไม้ใหญ่บนภูเขาที่มีอายุอยู่ได้นานก็เพราะไม่สามารถใช้ทำอะไรได้ แต่ขณะนี้เจ้าของบ้านเห็นว่าห่านสีขาวไม่สามารถเกิดประโยชน์กลับให้ฆ่าเสีย ทั้งนี้อาจารย์จะอธิบายอย่างไร ? "

        จวงจื่อหัวเราะกล่าวว่า " เราจะต้องทำตนอยู่ระหว่างกลาง คือ ระหว่างความสามรถและไม่สามารถ เพราะระหว่างกลางเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่แน่ว่าอยู่ข้างใด ไม่มีใครสามารถเอาผิดกับเราได้

บันทึกใน " จวงจื่อ "



มุมมองปรัชญา

        คำโบราณว่า " ไม่ขี่ม้า ไม่ขี่ควาย ขี่ลานั่นแหละแสนสบาย " นี่เป็นความคิดของรปรัชญา " ระหว่างความสามารถกับไม่สามารถ "

        คำดังกล่าว ได้เป็นคติยึดถือในชีวิตของคนที่ทำตนลอยไปตามน้ำ เอาแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง ถ้ากล่าวตามตรรกวิธีของจวงจื่อ เมื่อมีความสามารถแล้วย่อมจะพัฒนาไปสู่ความไม่สามารถ ความไม่สามารถก็จะพัฒนาไปเป็นความสามารถ ฉะนั้นไม่ว่า " สามารถ " หรือ " ไม่สามารถ " ล้วนตกอยู่ในอันตรายเขาหวังว่าการพัฒนาของเรื่องต่างๆ ไม่ควรให้เกินเลยไปเพื่อจะได้ไม่ไปสู่ด้านตรงกันข้าม

        ในที่นี้จวงจื่อได้พิจารณาเห็นถึงหลักของวิภาษวิธี แต่ทว่าสิ่งต่างๆ นั้นไม่สามารถดำรงอยู่ในระหว่าง คือระหว่าง " สามารถ " กับ " ไม่สามารถ " ได้ตลอดไป กล่าวในด้านนี้แล้วเจตนาทางอัตวิสัยของจวงจื่อฝืนหลักของวิภาษวิธี



By ปรัชญาชีวิตใน สุภาษิตจีน

No comments:

Post a Comment