Thursday, July 10, 2014

ฟู่ทูนประหารลูก


ฟู่ทูนประหารลูก

        สำนักม่อเป็นสำนักความคิดที่สำคัญมากสำนักหนึ่งในสมัยชุนชิว ในกลุ่มของชาวสำนักม่อมีระเบียบที่เคร่งครัดมาก

         ขณะนั้นฟู่ทูนผู้นำของสำนักม่ออาศัยอยู่ที่รัฐฉินลูกชายของเขาได้กระทำความผิดฐานฆ่าคนตายและถูกทหารจับตัวได้ เมื่อกษัตรย์ฮุ่ยแห่งรัฐฉินทรงทราบเรื่องโดยละเอียดแล้ว จึงตรัสสั่งให้ฟู่ทูนเข้าเฝ้าตรัสว่า

         " เวลานี้ท่านมีอายุมากแล้ว ทั้งยังมีลูกชายหัวแก้วหัวแหวนเพียงคนเดียว ข้าพเจ้าไม่อาจที่จะให้ประหารบุตรของท่านได้และสั่งให้ผู้คุมปล่อยตัวไปแล้ว ครั้งนี้ขอให้ท่านรับฟังความเห็นของข้าพเจ้าสักครัง้เถิด "

        ฟู่ทูนกราบทูลว่า " กฎหมายของสำนักม่อกำหนดไว้ว่า ' ผู้ใดฆ่า คนผู้นั้นต้องถูกลงโทษให้ตายตาม  ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ผู้นั้นต้องลงอาญา ' ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้มีการทำลายชีวิตของคนตามใจชอบ นี่เป็นหลักสำคัญในการปกครองรัฐ ทำความร่มเย็นให้แก่ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ การที่พระองค์ทรงเห็นใจที่ข้าพระองค์มีอายุมากและจะขาดบุตรสืบสกุลนั้น ข้าพระองค์เข้าใจถึงความกรุณา แต่ข้าพระองค์ฟู่ทูนนั้นมีฐานะเป็นหัวหน้าของสำนักม่อไม่อาจที่จะละเมิดกฎหมายของสำนักม่อได้ "

         ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ฟู่ทูนไม่เห็นชอบตามพระราชดำริของกษัตรย์ฮุ่ยและให้ประหารชีวิตลูกชายของตนอย่างสาสมกับความผิด

บันทึกใน " หลี่สื้อชุนชิว "



มุมมองปรัชญา

        " กฎหมายของม่อจื่อ " คือ กฎหมายของชนชั้นเจ้าที่ดินที่กำลังก่อตัวในสมัยนั้น ฟู่ทูนเห็นว่าการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวนั้นเป็นการทำลาย " หลักธรรมของพิภพ " แม้ว่าการขาดคนสืบสกุลของฟู่ทูนจะมีความเห็นว่าเป็นเคราะห์กรรมอย่างมหันต์ของเขา ทั้งกษัตริย์ฮุ่ยก็ทรงยับยั้ง และตัวเขาเองก็มีอภิสิทธิ์ที่จะไม่ให้ประหารชีวิตบุตรชายได้ในฐานะที่เป็นผู้นำของสำนักม่อ แต่เขาก็ยังคงยืนยันให้ประหารชีวิตบุตรชายของตนเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย

         จิตใจที่ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่ลูบหน้าปะจมูก ยอมให้ลงโทษประหารชีวิตลูกของตนเช่นนี้ ได้เป็นเรื่องที่มีความหมายและให้ข้อคิดแก่คนทั้งหลายเป็นอย่างดี




By ปรัชญาชีวิตใน สุภาษิตจีน

No comments:

Post a Comment