ทำไมไม่จุดเทียน
วันหนึ่ง กษัตริย์ผิงกงแห่งรัฐจิ้น ตรัสถามซือขวงนักดนตรีที่มีชื่อเสียงของรัฐว่า
" บัดนี้เราก็มีอายุ 70 ปี คิดอยากจะศึกษา แต่ก็รู้สึกว่าสายไปเสียแล้ว "
ซือข่วงทูลตอบว่า " เหตุไฉนพระองค์จึงไม่ทรงจุดเทียนเล่า ? "
กษัตริย์ผิงกงได้ฟังเช่นนั้นก็ทรงรู้สึกไม่พอพระทัยตรัสว่า " ตัวท่านเป็นขุนนางเหตุใดจึงบังอาจมาล้อเราเล่น ? "
ซือข่วงรีบกราบบังคมทูลว่า " ข้าพระองค์หาบังอาจกระทำการเช่นนั้นได้แต่ข้าพระองค์ได้สดับคำที่กล่าวกันทั่วไปว่า ผู้ใดรักเรียนในวัยเยาว์ ย่อมอิ่มเอิบคึกคักเสมือนดวงอาทิตย์ในยามเช้า ผู้ใดรักเรียนในวัยฉกรรจ์ย่อมเปรียบประดุจแสงแดดในตอนเที่ยงวันซึ่งยังคงร้อนแรงอยู่ ผู้ใดรักเรียนในวัยชรา ย่อมเปรียบประดุจอาศัยแสงเทียนเป็นเครื่องส่องทาง แต่การจุดเทียนส่องทางกับการคลำหาทางในที่มืดนั้นอย่างไหนจะดีกว่ากัน ? "
เมื่อได้ฟังคำอธิบายเช่นนั้น กษัตริย์ผิงกงก็พยักพระพักต์แสดงอาการเห็นด้วย
บันทึกใน " ซ่อหยวน "
มุมมองปรัชญา
การศึกษาเล่าเรียนก็เพื่อใช้ความรู้ที่เรียนมาเป็นประทีปส่องทางมาเป็นเครื่องชี้นำความคิดของคนเรา ในนิทานเรื่องนี้ซื่อข่วงได้ใช้ " พระอาทิตย์ " " พระอาทิตย์ในตอนเที่ยงวัน " และ " การจุดเทียน " มาอธิบายความสำคัญของการศึกษาและระยะขั้นของการศึกษาในชีวิตของคนเราอย่างรูปธรรม
คนเราเมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา กำลังวังชาและความจำย่อมเสื่อมลงเป็นธรรมดา เมื่อเปรียบเทียบกับคนหนุ่มๆ สาวๆ แล้วการศึกษาย่อมมีความยากลำบากมากกว่า แต่ถ้ามีความเชื่อมั่น มีความพยายาม ก็สามารถจะเอาชนะความยากลำบากได้การศึกษาย่อมไม่มีวันหมดสิ้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่คนเราก็จะต้องศึกษาเป็นประจำจึงจะทันโลก ทันเหตุการณ์และเกิดประโยชน์
No comments:
Post a Comment