Saturday, January 30, 2016

เรียกร้องตนเอง


เรียกร้องตนเอง

           คนเราชอบเรียกร้องผู้อื่น เช่นว่าคุณต้องถูกต้อง คุณต้องขยัน คุณต้องอย่างนี้ คุณต้องอย่างนั้น แต่เขาไม่รู้จักเรียกร้องตนเอง

          การเรียกร้องคนอื่นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ คนอื่นไม่ได้มีสิ่งที่เขาต้องการ คนอื่นมีนิสัยส่วนตัวของเขา คนอื่นไม่ใช่เรา

             การเรียกร้องคนอื่น เมื่อถึงที่สุดแล้วก็ไม่ปรากฎผลเป็นรูปธรรม พูดกันตามตรงคือทุกอย่างควรหันกลับมาเรียกร้องตนเองดีกว่า เรียกร้องตนเองเป็นวิธีที่ดีที่สุด

             คุณอยากมีสติปัญญาหลักแหลมคุณก็ต้องเรียนหนังสือ คุณอยากประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานคุณต้องสั่งสมประสบการณ์ สั่งสมคุณธรรม สั่งสมบุญวาสนา ความสำเร็จย่อมมีผลตามมา คุณอยากมีสุขภาพที่ดีคุณก็ต้องออกกำลังกาย ดูแลร่างกาย ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน ซึ่งเรื่องเหล่านี้คนอื่นทำแทนไม่ได้

            คุณอยากมีกัลยาณมิตรคุณก็ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ คุณอยากร่ำรวยคุณก็ต้องทำบุญให้ทาน ไม่ว่าคุณอยากได้อะไร เรียกร้องคนอื่นไม่แน่ว่าจะได้ตามที่ปราถนา แต่ถ้าลงมือทำเองย่อมมีความหวังว่าจะสำเร็จ


             คุณอยากเรียนคอมพิวเตอร์ก็ไปซื้อคอมพิวเตอร์มาฝึกหัด คุณอยากสอบได้ผลคะแนนดีก็ไปซื้อหนังสือติวสอบมากมายมาอ่าน แต่ถ้าคุณไม่ขยันคอมพิวเตอร์ก็ดี หนังสือติวเข้มก็ดี มันไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้คุณได้หรอก ดังนั้นทุกอย่างต้องเรียกร้องตนเองช่วยตัวเองก่อน แล้วจึงจะมีคนช่วย ตัวเองต้องตั้งใจเอาการเอางานจึงจะมีตัวช่วยมากขึ้น คติอาจารย์เซนรูปหนึ่งกล่าวว่า " ไม่วิงวอนพระพุทธ ไม่วิงวอนพระธรรม ไม่วิงวอนพระสงฆ์ " ความหมายคือช่วยตัวเอง ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน

            นับแต่โบราณ นักปราชญ์ที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่โลก พวกเขาเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้ทำตนเป็นแบบอย่าง ด้วยการเรียกร้องตนเองสูงมาก พวกเขาจึงได้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ท่านจะไม่เอาความหวังไปฝากไว้กับคนอื่น ทุกอย่างต้องพึ่งตนเอง ระยะทางหมื่นลี้ ต้องอาศัยเท้าของตนเองก้าวเดินไป คนอื่นเดินแทนเราไม่ได้

             ในนิกายเซนมีโกอานอยู่บทหนึ่งกล่าวว่า มีคนสองคนเดินทางไปปฏิบัติซาเซนด้วยกัน คนหนึ่งเกิดนึกถอดใจ อีกคนหนึ่งจึงพูดให้กำลังใจเขาว่า " ข้าพยายามช่วยเหลือท่าน แต่มีสามสิ่งที่ข้าช่วยท่านไม่ได้ หนึ่งคือการฉันอาหาร สองการขับถ่าย สามการเดิน " ความหมายก็คือ ท่านต้องแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง จึงจะเดินทางไปถึงที่หมายด้วยกันได้

             มีหอยทากน้อยตัวหนึ่งมักจะบ่นว่า เปลือกหอยที่อยู่บนหลังมันนั้นทั้งหนักทั้งเกะกะดูไม่สวยงาม มันอิจฉาเจ้านกน้อยที่บนบนท้องฟ้า มีท้องฟ้าคอยปกป้องมัน มันอิจฉาไส้เดือนที่อยู่ในดิน มีแผ่นดินเป็นที่พึ่ง แต่แม่ของมันบอกกับมันว่า " เจ้าไม่ต้องอาศัยฟ้า ไม่ต้องอาศัยดิน เจ้าต้องอาศัยเปลือกหอยบนตัวเอง แม้ว่าเปลือกหอยบนหลังจะไม่สวยงาม เกะกะเทอะทะ แต่มันคือที่ซึ่งให้ความปลอดภัยแก่เจ้า การรังเกียจตนเอง อยากได้ของผู้อื่น จะประสบความสำเร็จได้อย่างไร? "

             พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ในพระหัตถ์ถือลูกประคำ เพราะท่านสวดมนต์ด้วยตนเองเช่นกัน ดังนั้น ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ต้องพึ่งตนเอง จึงจะประสบความสำเร็จเข้าสักวัน ในคัมภีร์วัชรสูตรกล่าวว่า " ทุกสิ่งที่เป็นรูป ล้วนคือความว่างเปล่า " ถ้าคนใช้รูปมองข้าฯ ใช้สรรพเสียงวิงวอนข้าฯ คือคนที่เดินทางผิด ไม่อาจพบพระตถาคตได้ " การวิงวอนกอดพระพุทธรูปมีแต่ยิ่งห่างไกลพุทธรรม ทำไมเราจึงไม่วิงวอนเรียกร้องพระตัวจริงที่อยู่ในใจเราเองล่ะ?




By เซนส่องทาง

No comments:

Post a Comment